พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย (ดัด บุนนาค)

มหาอำมาตย์ตรี พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย (ดัด บุนนาค) (21 กุมภาพันธ์ 2419 – 7 มีนาคม 2470)[1] เป็นขุนนางชาวไทย อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลชุมพร, อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลพิษณุโลก, อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลราชบุรี, อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลอยุธยา และอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ

พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย
เกิด21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419
เสียชีวิต7 มีนาคม พ.ศ. 2470 (51 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตหัวใจพิการและอัมพาต
คู่สมรส
  • คุณหญิงทรัพย์
  • คุณหญิงแจ่ม
  • อนุภรรยาไม่ทราบชื่อ
บุตร13 คน
บิดามารดา
  • พระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) (บิดา)
  • คุณหญิงสวน (มารดา)

ประวัติ แก้

พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2419 เป็นบุตรชายของ พระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) ที่เกิดกับ คุณหญิงสวน (สกุลเดิม ศิริวิสูตร)[2] มีพี่ชายร่วมมารดา 1 คนคือ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีน้องชายร่วมมารดาอีก 3 คนคือ พระยาอรสุมพลาภิบาล (เด่น บุนนาค), พระยาเสถียรฐาปนกิจ (ดวง บุนนาค) และพระนิตินัยประธาน (พงศ์ บุนนาค) ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงทรัพย์ กับ คุณหญิงแจ่ม (น้องสาวคุณหญิงทรัพย์ ทั้งสองท่านสกุลเดิม จุลดุลย์) มีบุตรชายคือศาสตราจารย์เดือน บุนนาค อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เกิดกับคุณหญิงทรัพย์

พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2470 ด้วยโรคหัวใจพิการและอัมพาต สิริอายุได้ 51 ปี ปัจจุบันเรือนของท่านได้รับการบูรณะจนกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์โดยได้ตั้งชื่อว่า เรือนประเสนะชิต และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตชื่อ Villa Musee Khao Yai[3]

รับราชการ แก้

พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย เริ่มต้นรับราชการเป็นมหาดเล็กเวรเดชและเป็นเสมียนกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ เมื่อปี 2439 ต่อมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2441 ท่านได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาอุปสมบท โดยได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2441[4] เป็นเวลา 1 พรรษาต่อมาได้เข้าสอบเป็นเนติบัณฑิตจนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตชั้น 2 ในปี 2445 ได้เป็นผู้พิพากษาศาลโปริสภาที่ 2 จากนั้นในวันที่ 18 มกราคม 2446 ได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น หลวงนฤนัยสรนารถ ถือศักดินา 600[5]

จากนั้นในปี 2451 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลชุมพร โดยได้เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2451[6] ในปี 2453 ได้ย้ายไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลพิษณุโลก ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม 2454 ได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์เอก หลวงนฤนัยสรนารถ[7] ในศกเดียวกันได้ย้ายไปเป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลราชบุรี ในวันที่ 5 มกราคม 2455 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็น พระราชศาสตรนาถสภาบดี ถือศักดินา 800[8]

ต่อมาในเดือนมกราคม 2459 ท่านได้ย้ายไปเป็น อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลกรุงเก่า แทน พระนาถศาสตรราชสภาบดี ที่ย้ายไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลพายัพ[9] จากนั้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2460 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย ธรรมานุศัยวรสภาบดี ถือศักดินา 1000[10] ในวันที่ 2 กันยายน 2465 โปรดเกล้าฯ ให้ท่านมาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ[11] เป็นตำแหน่งสุดท้ายในราชการ ต่อมาในวันที่ 29 ตุลาคม 2467 ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย ธรรมานุศัยวรสภาบดี[12]

ยศ แก้

ยศเสือป่า แก้

  • 14 มิถุนายน 2457 – นายหมู่ตรี[13]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ข่าวตาย
  2. พระยาประเสนะชิตศรีพิไลย (ดัด บุนนาค)
  3. เนรมิตเรื่องราวจากอดีต สู่แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต Villa Musee Khao Yai
  4. ข้าราชการกราบถวายบังคมลาบวช
  5. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  6. ข้าราชการกราบถวายบังคมลา
  7. พระราชทานยศ กระทรวงยุติธรรม (หน้า 922)
  8. พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ (หน้า 2419)
  9. แจ้งความกระทรวงยุติธรรม
  10. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า 2737)
  11. แจ้งความกระทรวงยุติธรรม
  12. พระราชทานยศ (หน้า 2484)
  13. ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๘๐๕, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๓
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๑๑, ๒๕ มกราคม ๒๔๖๒
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๑๒, ๑๖ มกราคม ๒๔๕๘
  17. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๐๙, ๒๙ มกราคม ๒๔๖๔
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๖๕, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
  19. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๘, ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๕๙