พระยาตรัง

เจ้าเมืองตรัง

พระยาตรัง หรือ พระยาตรังคภูมาภิบาล เป็นเจ้าเมืองตรัง และเป็นกวีเอกคนหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีผลงานที่โดดเด่นด้านคำประพันธ์ประเภทโคลง มีผลงานเป็นที่ยกย่องแต่อดีตจนปัจจุบัน ทว่าประวัติชีวิตของท่านไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จักมากนัก

พระยาตรังเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของ 'ออกพระศรีราชสงครามราชภักดี (เยาว์) ' มารดาคือ 'หม่อมแจ่ม' ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ประวัติอื่นๆ เท่าที่ทราบ ก็คือ ท่านมีภรรยา 4 คน ชื่อ 'เขียว' (มีบุตรหนึ่งคน ชื่อ พิม) , ชื่อ'คง ' (มีบุตรชื่อ อบ) , ชื่อ 'แดง' (มีบุตรชื่อนายภู่และนายหนู) และชื่อ 'ฉิม' (มีบุตรชื่อเจิม)

ในวัยเยาว์ท่านคงจะบวชและเรียนหนังสือที่วัดท่ามอญ (ปัจจุบัน คือ วัดศรีทวี ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช) ท่านได้เป็นเจ้าเมืองตรังในสมัยใดไม่ปรากฏ แต่ไม่น่าจะช้ากว่าสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2325 พระยาตรังได้เข้ามาถวายตัวรับราชการในกรุงเทพมหานคร โดยได้พักอาศัยอยู่กับพระยาภักดีภูธร (ฮิม) ลุงของท่าน

เมื่อพระยาตรังชราภาพลงมาก จึงกราบถวายบังคมลากลับไปอยู่บ้านที่เมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 3 และอยู่ที่นั่นกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม

ผลงาน แก้

  • เพลงยาวพระยาตรัง เป็นเพลงยาวรำพันถึงความรัก เชื่อว่าแต่งในสมัยหนุ่ม
  • เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ หรือ นิราศไปตรัง แต่งเมื่อครั้งไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง
  • โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย แต่งเมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไปตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ. 2330
  • โคลงนิราศพระยาตรัง หรือ โคลงนิราศถลาง แต่งเมื่อต้นรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2352 คราวพม่ายกทัพมาตีเมืองถลาง และหัวเมืองชายทะเลทางใต้
  • โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อ พ.ศ. 2361
  • โคลงกวีโบราณ เป็นการรวบรวมบทโคลงของกวีสมัยอยุธยา ทั้งกลบท และโคลงกระทู้

นอกจากนี้พระยาตรังยังได้แต่งมหาชาติ กัณฑ์มัทรีไว้เรื่องหนึ่งด้วย แต่ยังไม่พบต้นฉบับ

อ้างอิง แก้

  • พระยาตรัง. วรรณกรรมพระยาตรัง. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2547.