กลบท คือการประดิษฐ์คิดแต่งคำประพันธ์ให้มีลักษณะแปลกไปจากเดิม โดยที่ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้นยังอยู่ครบถ้วน คำประพันธ์ที่แต่งเป็นกลได้มีทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย[1]

กลบทเป็นเครื่องแสดงสติปัญญาของกวีในการที่จะคิดค้นพลิกแพลงกวีนิพนธ์แบบฉบับให้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษขึ้น โดยการเพิ่มลักษณะบังคับต่าง ๆ และเป็นเครื่องลับสมองลองปัญญาในหมู่กวีด้วยกัน ในการที่จะพยายามถอดรูปกลแบบที่ซ่อนไว้ให้สำเร็จ ผลพลอยได้คือความไพเราะของกวีนิพนธ์ แต่ก็มีกลบทจำนวนไม่น้อยที่ไพเราะสู้คำประพันธ์ธรรมดาไม่ได้ เนื่องจากลักษณะบังคับที่เพิ่มมาอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อความไพเราะ ตัวอย่าง เช่นกลบทบังคับใช้คำตายทุกคำ เป็นต้น[2]

การจำแนกแบบของกลบท

แก้

กลบทแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเพิ่มลักษณะบังคับ และแบบซ่อนรูปคำประพันธ์

แบบเพิ่มลักษณะบังคับ

แก้

กลแบบนี้ถึงแม้จะมีการเพิ่มลักษณะบังคับ แต่รูปคำประพันธ์ยังคงเหมือนเดิม เรียกว่า กลอักษร ตัวอย่างเช่น

บังคับใช้พยัญชนะเสียงเดียวกันตลอดบาทและซ้ำคำสองคำแรกของทุกบาท

สรวลสรวลสู่โศกเศร้า แสนศัลย์
ตอกตอกแต่ตันตัน ติดต้อง
ยั่วยั่วย่อยยับยรร- ยงยาก
ครบครบเข็ญคามคล้อง คลุกเคล้าขื่นขม
เลือดเนื้อเพื่อไทย

บังคับพยัญชนะ 2 เสียงสลับกันตลอดบท

สำเริงสำราญสานรัก สมานสมัคร
สุมิตรสุมนสมัย
รุมเคียวเรี่ยวแรงใคร เกี่ยวรำกำไร
ได้พูดได้พ้อโดยเพลง
เพื่อนแก้วคำกาพย์

บังคับซ้ำคำต้นวรรคและท้ายวรรคทุกวรรค

ริ้วรวงพวงข้าวริ้ว เห็นพริ้วพริ้วริ้วทองเห็น
เย็นลมลมเช้าเย็น เรียวรวงเล่นระเนนเรียว
ข้าวปรังสั่งทุกข้าว เคียวจะน้าวด้วยชาวเคียว
เกลียวรักถักรัดเกลียว ลงแขกเกี่ยวเร่งเคียวลง
เพื่อนแก้วคำกาพย์

แบบซ่อนรูปคำประพันธ์

แก้

ผู้แต่งจะจัดวางคำประพันธ์เป็นรูปต่างจากเดิม ผู้อ่านจะต้องทราบฉันทลักษณ์คำประพันธ์ชนิดนั้น จึงจะถอดคำอ่านได้ถูกต้อง กลชนิดนี้เรียก กลแบบ อาจมีทั้งการซ่อนรูปคำประพันธ์และการเพิ่มลักษณะบังคับด้วย เช่น

ซ่อนรูปคำประพันธ์

 

ถอด

เสียงนกเรียมคิดว้า หวั่นมิตร แม่เฮย
หวาดว่าเสียงสายจิตร แจ่มแจ้ว
โอ้อกนกนิ่งคิด ใจหวั่น ถวิลแม่
ฟังหวาดแว่วเสียงแก้ว จิตรร้องแจ้วเสียง
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

ซ่อนรูปคำประพันธ์ และเพิ่มลักษณะบังคับ

 

ถอด

พักตร์ผ่องผ่องพักตร์เพี้ยง จันทร
คมเนตรเนตรคมศร บาดซ้ำ
งามแง่แง่งามงอน มารยาท
งามศักดิ์ศักดิ์งามล้ำ เลิศล้ำศักดิ์งาม
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

โคลงบทนี้นอกจากจะซ่อนรูปคำประพันธ์แล้วยังเพิ่มลักษณะบังคับให้ซ้ำคำต้นบาทและท้ายบาท ทุกบาทด้วย

ความเป็นมาของกลบท

แก้

มีหลักฐานเชื่อได้ว่ากวีไทยได้แบบอย่างการแต่งกลบทมาจากอินเดีย ในคัมภีร์สุโพธาลังการ อันเป็นตำราอังการศาสตร์ฉบับบาลี ที่รวมรวมขึ้นโดยพระสังฆรักขิต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 และตำราอลังการศาสตร์ฉบับสันสกฤตของวาคภัฏที่รวบรวมขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ล้วนปรากฏกลวิธีการประพันธ์ที่มีลักษณะเหมือนกับกลบทของไทยอยู่[3]

ตำรากลบท

แก้

วรรณกรรมที่ถือกันว่าเป็นตำรากลบทของไทยมี 3 เล่ม คือ

จินดามณี ของ พระโหราธิบดี

แก้

เป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก แต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื้อหาประกอบด้วย การใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ และกลบท ซึ่งปรากฏกลบทอยู่ 60 ชนิด มีทั้งกลอักษรและกลแบบ

ศิริวิบุลกิตติ์ ของ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง)

แก้

เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื้อเรื่องนำมาจากศิริวิบุลกิตติ์ชาดก แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอน โดยใช้กลบทชนิดต่าง ๆ สลับกันตลอดเรื่อง รวมกลบททั้งสิ้น 85 ชนิด เป็นกลอักษรทั้งหมด มีทั้งที่ซ้ำและต่างจากกลบทในจินดามณี

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ

แก้

พ.ศ. 2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ โดยตรวจแก้จากของเดิมบ้าง ประชุมผู้รู้ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี และวิชาอื่น ๆ และโปรดฯ ให้จารึกแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ ต่อมามีการรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ตำรากลบทอยู่ในหมวดวรรณคดี มีทั้งหมด 97 ชนิด มีทั้งกลอักษร และกลแบบ กลอักษรส่วนใหญ่ซ้ำกับกลบทในศิริวิบุลกิตติ์

เปรียบเทียบกลบทในตำรากลบท

แก้

กลบทจากตำรากลบททั้ง 3 เล่ม เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกลบทที่มีเฉพาะในเล่มใดเล่มหนึ่ง พบว่ากลบทที่มีเฉพาะในจินดามณี มีจำนวน 18 ชนิด กลบทที่มีเฉพาะในศิริวิบุลกิตติ์ มีจำนวน 30 ชนิด กลบทที่มีเฉพาะในประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีจำนวน 10 ชนิด

นอกจากนี้ยังปรากฏกลบทที่มีลักษณะบังคับเหมือนกันแต่ชื่อต่างกัน เช่น หมายกงรถ, สกัดแคร่, ทวารตรึงประดับ, จักรวาล, ครอบจักรวาล และทวารตรีประดับ เป็นต้น และที่ชื่อเหมือนกันแต่ลักษณะบังคับต่างกัน เช่น สารถีชักรถมี 2 แบบ, นกกางปีกมี 2 แบบ, ช้างประสานงามี 2 แบบ เป็นต้น

กลบทในกวีนิพนธ์ไทย

แก้

การใช้กลบทในกวีนิพนธ์

แก้

กวีไทยใช้กลบทกับคำประพันธ์ทุกชนิด โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของกลบทที่นำมาใช้ คำประพันธ์ที่ไม่มีข้อจำกัดในการเลือกใช้กลบท คือ โคลง กาพย์และกลอน ส่วนร่ายนั้นค่อนข้างมีข้อจำกัดและมีจำนวนคำน้อย ส่วนฉันท์บังคับครุและลหุตายตัวทำให้ยุ่งยากในการเพิ่มลักษณะบังคับ จึงมีกลบทไม่มากส่วนใหญ่มีลักษณะซ้ำคำ เช่น ธงนำริ้ว, บัวบานกลีบขยาย, กวางเดินดง เป็นต้น

บางครั้งกวีอาจจำเป็นต้องมีการดัดแปลงฉันทลักษณ์เพื่อให้เหมาะกับกลบทเช่น การเพิ่มคำ เป็นต้น หรือบางครั้งอาจมีการใช้กลบทหลาย ๆ แบบผสมกันก็ได้

การปรากฏของกลบทในกวีนิพนธ์

แก้

กวีนิพนธ์ที่ใช้กลบทตลอดเรื่อง มี 4 เรื่อง ได้แก่ โคลงอักษรสามหมู่ ของพระศรีมโหสถ (ใช้กลบทชนิดเดียวตลอดเรื่อง), ศิริวิบุลกิตติ์ ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง), โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส, และกลบทสุภาษิต ของหลวงธรรมาภิมณฑ์

กวีนิพนธ์ที่มีกลบทแทรกอยู่ มีปรากฏอยู่ค่อนข้างมากทุกสมัย ตลอดจนปัจจุบัน ซึ่งกวีนิยมแต่งแทรกไว้มากกว่าจะใช้กลบทตลอดเรื่อง นิยมใช้กลอักษรมากกว่ากลแบบ และนิยมใช้กลบทประเภทบังคับเสียงมากกว่ากลบทบังคับอักขรวิธีและฉันทลักษณ์

พัฒนาการของกลบทในกวีนิพนธ์

แก้

กวีมีอิสระในการนำกวีนิพนธ์ไปใช้ในงานของตน รวมทั้งพลิกแพลงใช้กลบทตามความชอบใจของตน จึงมักมีกลใหม่ที่ไม่มีอยู่ในตำรากลบท เช่น กลบทต่อบทต่อคำ ในเพื่อนแก้วคำกาพย์ ที่มีลักษณะคล้ายวัวพันหลัก แต่ซ้ำเฉพาะคำสุดท้ายของบท กับคำแรกของบทต่อไป เป็นต้น

บางครั้งมีการพลิกแพลงกลบทเดิมให้แปลกออกไป มีการพลิกแพลงกลกระทู้เป็นกระทู้ทุกวรรค กระทู้ทุกบาท กระทู้ทุกบท ฯลฯ รวมทั้งมีการนำกลบทหลาย ๆ ชนิดมาต่างร่วมกัน

ส่วนเนื้อความที่กวีนิยมแทรกกลบทได้แก่ บทไหว้ครู บทพรรณนาต่างๆ เช่น ความงาม ความรัก ธรรมชาติ การจัดขบวนทัพ การสู้รบ ตลอดจนการจบเรื่องเพื่อบอกชื่อผู้แต่ง และวัตถุประสงค์ในการแต่ง


อ้างอิง

แก้
  1. อุทัย สินธุสาร. สารานุกรมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2516.
  2. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.
  3. โกชัย สาริกบุตร. การวิเคราะห์กลบทในกวีนิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2518.