ปางรำพึง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ปางรำพึง เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
ประวัติ
แก้ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีความละเอียดและลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่เหล่าปุถุชนคนธรรมดาผู้มากไปด้วยกิเลสยากจะเข้าใจได้เมื่อได้ฟังธรรม แล้วจะมีใครสักคนที่จะเข้าใจธรรมของพระพุทธองค์ไม่ หากสอนไปแล้วเกิดไม่เข้าใจก็เปล่าประโยชน์ พระทัยหนึ่งจึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย ด้วยพระพุทธดำริของพระพุทธเจ้าได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในพรหมโลก ท้าวสหัมบดีพรหมจึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งวาจาอันดังถึงสามครั้งว่า "โลกจะฉิบหายในครั้งนี้" ท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมเทพบริษัทก็ได้ลงจากพรหมโลกมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลก โดยอธิบายว่า ในโลกนี้ยังมีสัตว์ในโลกทั้งหลายนี้ ที่มีกิเลสเบาบางพอที่จะฟังธรรมของพระองค์ได้นั้นยังมีอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดชาวโลกในครั้งนี้เทอญ พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำทูลอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม และทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี มากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี มีอุปมาเหมือน ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม ดอกบุณฑริกในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ
บัว 3 เหล่า ดังนี้
- บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้
- บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ
- บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว
หลังจากพระพุทธองค์ทรงได้พิจารณาเห็นความแตกต่างของระดับสติปัญญาของบุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนด้วย
บุคคลสี่จำพวก คือ
- อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
- วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาดี เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
- เนยยะ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
- ปทปรมะ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย บางพวก มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน ครั้นแล้วได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า ดังนี้ เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เพราะเรา มีความสำคัญในความลำบาก จึงไม่แสดงธรรม ที่เราคล่องแคล่ว ประณีต ในหมู่มนุษย์ ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสเพื่อจะแสดงธรรม แล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นแล
ลักษณะพระพุทธรูป
แก้-
พระพุทธรูปปางรำพึง ที่เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบรมราชชนก
-
พระพุทธรูปปางรำพึง ที่เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระพันปีหลวงฯ
ความเชื่อและคตินิยม
แก้- เป็นพระประจำวันเกิดของคนเกิดวันศุกร์
- พระคาถาบูชา สวด 21 จบ
- อัปปะสันเนหิ นาถัสสะ สาสะเน สาธุ สัมมะเต อะมะนุสเสหิ จัณเฑหิ สะทา กิพพิสะการิภี
- ปะริสานัญจะ ตัสสันนะ มะหิงสายะ จะ คุตติยา ยันเทเสสิ มะหาวีโร ปะริตตัน ตัมภะณามะเหฯ
อ้างอิง
แก้- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี : ศิลปาบรรณาคาร โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
- เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
- สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
- ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล