พระธัมมปาละ เป็นพระเถระองค์สำคัญของพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีช่วงชีวิตอยู่ะระหว่างปี พ.ศ. 1071 - 1103 [1] เกิดที่เมืองกาญจีปุรัม จึงคาดว่าท่านอาจเป็นชาวทมิฬ ท่านเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ในฐานะคันถรจนาจารย์ผู้รจนาอรรถกถาชื่อปรมัตถทีปนี ซึ่งอธิบายความในขุททกนิกาย หมวดย่อยอุทาน-อิติวุตตกะ, วิมานวัตถุ-เปตวัตถุ, เถรคาถา-เถรีคาถา และจริยาปิฎก นอกจากนี้ ยังมีผลงานอธิบายเนตติปกรณ์ อีกด้วย

พระธัมมปาละนั้น บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเคยเป็นเจ้าอธิการอารามนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ [2] อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมากกว่าฝ่ายเถรวาท นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่า ระหว่างที่ท่านเดินทางมายังลังกาทวีป เพื่อศึกษาและรจนาอรรถกถานั้น ท่านเคยจำพรรษาที่ราชวิหาร ณ กรุงอนุราธปุระ [3] ซึ่งราชวิหารในที่นี้คือวัดมหาวิหาร อันเป็นศูนย์กลางของคณะสงฆ์หลักแห่งลังกาทวีปในยุคนั้น

ในคัมภีร์คันถวงศ์ และจากบันทึกของพระถังซำจั๋ง หรือพระเสวียนจั้งบันทึกว่า พระธัมมปาละมาจำพรรษาที่วัดพทรดิตถวิหาร ซึ่งวัดพทรดิตถวิหาร (พะ-ทะ-ระ-ติด-ถะ) หรือพทระ ติตถะ วิหาร หรือ ปทระติตถวิหาร เป็นพระอารามในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริวเณเมืองนาคปัฏฏัน หรือนาคปัตตินัม รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ คัมภีร์คันธวงศ์ หรือจุลลคันธวงศ์ คัมภีร์ภาษาบาลี ของพระนันทะปัญญา พระเถระชาวพม่า สมัยศตวรรษที่ 17 ได้เอ่ยถึงพระอารามแห่งนี้ว่า เป็นที่พำนักของพระธรรมปาละ หรืออาจาริยะ ธรรมปาละ พระคันถรจนาจารย์ ยุคต้นพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ในด้านผลงานเกี่ยวกับพุทธศาสนา คัมภีร์คันถวงศ์ ระบุว่า พระธัมมปาละเป็นผู้รจนาคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง 14 คัมภีร์ ผลงานสำคัญนอกเหนือจากปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกายแล้ว ยังมีคัมภีร์เนตติปกรณ์อรรกถา ซึ่งเป็นงานเขียนอธิบายคัมภีร์เนตติปกรณ์ ซึ่ง แต่งในสมัยพุทธกาล โดยพระมหากัจจายนะ โดยในนิคมคาถาของเนตติปกรณ์อรรกถา ท่านผู้รจนาระบุว่า ได้แต่งคัมภีร์นี้ขึ้นที่วัดธัมมาโศก มหาราชวิหาร ที่เมืองนาคปัตตินัม อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนชี้ว่า วัดแห่งนี้อาจมิได้อยู่ที่เมืองนาคปัตตินัม ในอินเดียใต้ แต่ท่านผู้รจนาหมายถึงวัดดัมบุลละ ในศรีลังกา ซึ่งท่านเคยพำนัก โดยแต่ไรมาผู้คนมักเรียกวัดแห่งนี้ว่ามหาราชวิหาร [4]

ทั้งนี้ พระธัมมปาละ ยังเป็นชื่อของพระเถระฝ่ายเถรวาทอีก 2 ท่าน ซึ่งมีช่วงอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 2 เป็นผู้รจนาคัมภีร์อรรถกถา และฏีกาอธิบายทีฆนิกาย, มัชฌิมนิกาย และสังยุตตนิกาย แต่นักวิชาการไม่ยอมรับว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขณะที่พระเถระที่มีชื่อว่า พระธัมมปาละอีกท่านหนึ่ง เป็นผู้รจนาคัมภีร์สัจจสังเขป

อ้างอิง แก้

  1. Hermann Kulke (Editor) หน้า 105
  2. Hermann Kulke (Editor) หน้า 105
  3. Hermann Kulke (Editor) หน้า 105
  4. Hermann Kulke (Editor) หน้า 105

บรรณานุกรม แก้

  • Hermann Kulke (Editor), K. Kesavapany (Editor), Vijay Sakhuja (Editor). (2009). Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflections on the Chola Naval Expeditions to Southeast Asia. Singapore ; Institute of Southeast Asian Studies.
  • Edmund Hardy in Zeitschrift der deutschen morgenlandischen Gesellschaft (1898), pp. 97 foll.
  • Netti-ppakaranam: The guide, according to Kaccana Thera (ed. E. Hardy, London, Pali Text Society, 1902, ASIN B0000CLJ95), especially the Introduction, passim
  • Theri Gatha Commentary, Peta Vatthu Commentary, and Vimna Vutthu Commentary, all three published by the Pali Text Society.
  • K.R. Norman, Pali Literature, Otto Harrassowitz, Wiesbaden, 1983
  • Oskar von Hinuber, Handbook of Pali Literature, Walter de Gruyter, Berlin, 1996