พระครูพินิจสุตคุณ (ทองสุข อินฺทโชโต)

(เปลี่ยนทางจาก พระครูพินิจสุตคุณ)

พระครูพินิจสุตคุณ เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์จากเมืองเพชร[1] มีนามเดิมว่า สุข นามสกุล ดีเลิศ เกิดวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2420 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ ปีฉลู บิดาชื่อนายจู มารดาชื่อนางทิม กำเนิด ณ บ้านทับใต้ ตำบลหินเหล็กไฟ แขวงเมืองเพชรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 6 คน

การศึกษา แก้

เมื่ออายุ 9 ปี ได้เข้าเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด โดยเป็นศิษย์เจ้าอาวาส หลวงพ่อก็เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ และยังได้เรียนหนังสือขอมและบาลี หลวงพ่อยังรักการต่อสู้ รักในวิชาหมัดมวย กระบี่กระบอง กระทั่งภายหลังได้มีลูกศิษย์ในวิชาเหล่านี้หลายคน[2]

ต่อมา เมื่ออายุ 15 ปี ย้ายไปอยู่ที่บ้านเพลง จังหวัดราชบุรี เป็นระยะหลวงพ่อเป็นวัยรุ่น หนุ่มคนอง จึงชอบเที่ยวเตร่คบเพื่อน ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ชอบไปแสดงลิเก ละคร โขนหนัง จนขนาดเป็นครูสอนผู้อื่นได้ ครั้นเมื่อเบื่อการแสดง ลิเก ละคร ฯลฯ ก็เที่ยวเตร่ไปโดยไม่มีจุดหมาย จนไปคบพวกนักเลงอันธพาล จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล และในที่สุดเป็นอาชญากรสำคัญในย่านเพชรบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม ต้องคอยหลบนี้อาญาบ้านเมือง ซุกซ่อนอยู่ในป่าด้วยความลำบากยากแค้น ครั้นหนึ่งหลบหนี้เข้าไปในป่าจนไม่ได้กินอาหารเลย 3 วัน ตอนนี้เองได้สำนึกตัวได้ว่าตนได้ดำเนินชีวิตผิดทางเสียแล้ว ถ้าไม่กลับตัวย่อมจะได้รับความทุกข์ทรมารทั้งกายและใจ จึงตัดสินใจเล็ดลอดเข้าอุปสมบท ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 32 ปี[2]

หลวงพ่อบวช ครั้งนั้น ตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 ณ วัดปราโมทย์ ตำบลโรงหวี อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีหลวงพ่อตาด วัดบางวังทองเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปัชฌาย์ได้จำพรรษาอยุ่ที่วัดปราโมทย์ 4 พรรษา แล้วไปอยู่วัดแก้ว 2 พรรษา จังหวัดราชบุรี และไปอยู่วัดใหม่ 1 พรรษา ต่อจากนั้นก็ออกธุดงค์ไปกับสามเณรจันทร์ (พระครูจันทร์ ธมฺมสโร) เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวัน) หลังจากธุดงค์ไปหลายจังหวัดแล้ว ในที่สุดก็มาถึงตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ ขณะนั้นพอดีวัดโตนดหลวงขาดสมภาร ชาวบ้านไปพบหลวงพ่อก็เกิดเลื่อมใส จึงนิมนต์ไปอยู่วัดโตนดหลวง เพื่อให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2448 หลวงพ่ออายุได้ 38 ปี[2]

หลวงพ่อได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระศาสนาและบ้านเมืองหลายด้าน เช่น บูรณะวัดโตนดหลวงเดิม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น ทั้งมีเมตตาจิตสร้างวัดช้างแทงกระจาด วัดท่าขาม และวัดเขาลูกช้าง ในด้านการศีกษาก็ได้ช่วยสร้างอาคารเรียนให้ 3 ครั้ง ในที่สุดก็ได้สมณศักดิ์เป็นพระครูพินิจสุตคุณ

เรื่องอารมณ์ขัน แก้

คุณประสิทธ์ พ่วงพี ได้พบกับหลวงพ่อที่วัดเพรียง ซึ่งนิมนต์หลวงพ่อปลุกเสกวัตถุมงคลเพื่อหาเงินสร้างโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2498 คุณประสิทธิไปหาหวงพ่อให้กระหม่อม พร้อมด้วยผู้สนใจอีกหลายคน เมื่อหลวงพ่อปลุกเสกเสร็จแล้ว ได้พูดกับผู้ที่ไปชุมนุมอยู่รอบ ๆ ตัวหลวงพ่อว่า “อย่าเชื่อฉันให้มากนักนะ ฉันมันบ้า ๆ อยู่” หลวงพ่อพูดพร้อมกับหัวเราะหึ ๆ ทำให้ทุกคนทั้งขบขันและทั้งยิ่งศัรธาในความถ่อมตนของท่าน

หลวงพ่อเพียบพร้อมทั้งคุณธรรมและความรู้หลายอย่าง เช่นมีความรู้ในทางแพทย์แผนโบราณ และยังมีความขลังทางวิชาไสยาศาสตร์มาก จนมีผู้เลื่อมในนับถืออยู่ทั่วไป มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประเทศนับถือเป็นจำนวนมาก เท่าที่สืบได้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เคยไปลงกระหม่อม พ.อ.พระยาศรีสรุสงคราม ได้ไปให้ลงกระหม่อม และนิมนต์ไปร่วมปลุกเสกแหวนมงคล 9 และพระกริ่งยอดหมุด ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ ร่วมกับอาจารย์คนสำคัญรวม 18 องค์ เมื่อปี พ.ศ. 2495 และทางกองทัพบกได้นิมนต์ไปประพรมพระพุทธมนต์ และปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ให้แก่ทหารในคราวสงครามอินโดจีน ครั้งสุดท้ายได้นิมนต์ไปปลุกเสกพระเครื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ของขลังของหลวงพ่อ แก้

ที่ขึ้นชื่อลือชา มีดังนี้

  1. สักยันต์ที่เหนือราวนม ทำให้คงกระพันชาตรี อาวุธมีด ปืน ฟันแทง ยิงไม่เข้า
  2. ลูกอม ปืนยิงไม่ออก คนทำร้ายไม่ถูก
  3. เหรียญรูปหลวงพ่อ ใช้ทางคงกระพัน รวมทั้งครั่งด้านหลังสำหรับรักษาพวกสัตว์มีพิษ และออกวัดเพรียงกฐินสามัคคี ปี พ.ศ. 2498
  4. แหวน ใช้ป้องกันอสรพิษและสัตว์ร้ายต่าง ๆ
  5. ตะกรุด ตะกรุดของหลวงพ่อมีหลายชนิดด้วยกัน คือชนิดเจ็ดดอก สามกษัตริย์ ใช้ทางคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด ชนิดคลอดง่ายใช้ทางคลอดบุตร ชนิดสาริกา ใช้ทางเมตตามหานิยม

ภาคอภิณญาของหลวงพ่อ ครั้งหนึ่ง ณ วัดท่าขาม มีคนมาขอยาต้มจากหลวงพ่อ บังเอิญยาต้มขนานนั้นต้องลงพระเจ้า 5 พระองค์ในใบมะกาด้วย แต่ใบมะกามาก ท่านจึงให้พระเณร และศิษย์ช่วยกันลง คณะศิษย์และพระเณรก็ช่วยกันลงทีละใบ ท่านรำคาญจึ่งเอ่ยว่า “ลงอย่างนี้เมื่อไรจะหมด เรียงซ้อน ๆ มาข้าลงเอง ลูกศิษย์ก็ช่วยเรียงใบมะกาซ้อน ๆ กันประมาณ 10–20 ใบ ท่านลงใบเดียว แต่ปรากฏว่าใบล่าง ๆ ทุกใบติด นะ โม พท ธา ยะ ทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง]

ลูกศิษย์ที่เคยเรียนวิชาจากท่าน แก้

หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง,หลวงพ่อตัด วัดชายนา, หลวงพ่อหวล ยติธัมโม วัดนิคมวชิราราม, หลวงพ่อพาน วัดโป่งกระสัง, หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดหนองจอก, หลวงพ่อจันทร์ ธัมมสโร วัดมฤคทายวัน, หลวงพ่อนิ่ม มังคโล วัดเขาน้อย, หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลวง, หลวงพ่อย้อน วัดโตนดหลวง, หลวงพ่อทองศุข วัดสะพานสูง, ลป.ฟัก วัดนิคมประชาสรรค์ (ทุกท่านมรณภาพแล้ว)

ที่ยังมีชีวิตอยู่รูปเดียวคือ หลวงพ่อเฮง วัดห้วยทรายใต้ (หลวงพ่อทองศุขบวชให้ปี พ.ศ. 2499)

อ้างอิง แก้