พญาพรหมโวหาร
พญาพรหม พญาพรหมวิไสย หรือ พญาพรหมโวหาร นามเดิม หนานพรหมินทร์ (บางหลักฐานชื่อ พรหมปัญญา) เป็นกวีชาวไทยวนที่มีชื่อเสียง
ประวัติ
แก้วัยเยาว์
แก้พญาพรหมโวหาร มีนามเดิมว่า พรหมินทร์ (หลักฐานบางแหล่งว่า พรหมปัญญา) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2345 ปีจอ หรือปีเต่าเส็ด จุลศักราช 1164 ตามระบบปีล้านนา ที่บ้านสันกลาง ในตรอกตรงข้ามกับวัดดำรงธรรม (วัดไทยใต้) เป็นบุตรของเจ้าแสนเมืองมา ขุนนางผู้ใหญ่ในตระกูลเจ้าเจ็ดตน มีหน้าที่รักษากุญแจคลังหลวงของนครลำปาง มารดาชื่อนางจันทร์เป็ง (จันทร์เพ็ญ) มีน้องชายร่วมมารดาเดียวกันชื่อบุญยงหรือบุญโยง มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่พรหมินทร์ยังเด็กอยู่[1]
เมื่อเยาว์วัยพรหมินทร์ได้เล่าเรียนอักษรธรรมล้านนา ณ สำนักวัดป่าแภ่ง (วัดสิงห์ชัย ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง ในปัจจุบัน) เมื่ออายุได้ 17 ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรในวัดนั้น เมื่ออายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดป่าแภ่ง โดยมีครูบาเจ้าอุปนันโทเถระ เป็นพระอุปัชฌาชย์ (ตามหลักฐานใบลานของวัดสิงห์ชัยระบุว่าชื่อครูบาเจ้าอุปปละเถระ)[2] พระภิกษุพรหมินทร์เป็นพระนักเทศน์ที่มีน้ำเสียงดี สามารถอื่อกาพย์ (การขับพรรณนาคำร้อยกรองที่เป็นบทนำเรื่องที่จะเทศน์ คล้ายกับการแหล่ของภาคกลาง) ได้ไพเราะ และยังสามารถแต่งกาพย์ล้านนาสั้นได้ดี มีความสามารถในการเทศน์มหาชาติตอนกัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรีได้ไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดามูลศรัทธาเป็นยิ่งนัก
นอกจากการความสามารถในด้านการอื่อกาพย์และแต่งกาพย์แล้ว พระภิกษุพรหมินทร์ยังได้ศึกษาในด้านไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์อีกด้วย เมื่อจำพรรษาที่วัดป่าแภ่งได้ ๓ พรรษา ครูบาเจ้าอุปนันโทเถระ (หรือครูบาเจ้าอุปปละเถระตามหลักฐานของวัดสิงห์ชัย) ได้แนะนำและฝากฝังพระภิกษุพรหมินทร์ให้ไปเรียนอักขระบาลีกับพระภิกษุปินตา (พินทา) แห่งสำนักวัดสุกเข้าหมิ้นหรือวัดสบขมิ้น เมืองนครเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง พื้นที่ถูกใช้เป็นโรงเรียนเมตตาศึกษา) ซึ่งเป็นสหายรักของท่าน พระภิกษุพรหมินทร์ได้ไปศึกษา ณ วัดสุกเข้าหมิ้น นครเชียงใหม่ เป็นเวลาประมาณ ๓ ปี และได้มีโอกาสอุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือชาวเมืองแพร่ซึ่งเป็นญาติของหม่อมจันทร์ฟอง ซึ่งเป็นหม่อมห้ามของพระยาอินทวิไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่ ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของพรหมินทร์ที่เมืองแพร่ในภายภาคหน้า[3]
รับราชการที่เมืองลำปาง
แก้พ.ศ. 2371 พระภิกษุพรหมินทร์ได้ลาสิกขาบทเป็นฆราวาส แต่เหล่าญาติโยมคัดค้าน เพราะเสียดายความสามารถในทางธรรม พระภิกษุพรหมินทร์จึงได้แต่ง คร่าวใคร่สิกข์ (คร่าวอยากสึก) เอาไว้ก่อนจะลาสิกขา เมื่อพรหมินทร์อายุได้ 26 ปี ได้กลับมาทำงานที่นครลำปางในตำแหน่ง “กว้าน” ที่ศาลเมืองนครลำปางโดยรับจ้างเขียนคำร้อง ในขณะเดียวกันหนานพรหมินทร์ยังได้รับจ้างแต่ง คร่าวใช้ (บทกวีที่เป็นสื่อแสดงความรักของหนุ่มสาว คล้ายกับเพลงยาวของภาคกลาง) ซึ่งเป็นที่พอใจของผู้ว่าจ้าง มีหลายคู่ที่ได้แต่งงานเพราะคร่าวใช้ของหนานของพรหมินทร์
เมื่อเห็นความสามารถในด้านกวีของหนานพรหมินทร์ เจ้าแสนเมืองมาผู้เป็นบิดาจึงนำตัวหนานพรหมินทร์ไปฝากตัวกับพระญาโลมาวิไสย ซึ่งเป็นสหายรักสหชาติกับเจ้าแสนเมืองมา (เกิดปี เดือน วันเดียวกัน) พระญาโลมาวิไสยซึ่งเป็นอาลักษณ์ประจำราชสำนักนครลำปางและเป็นกวีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายได้รับหนานพรหมินทร์เป็นลูกศิษย์ หนานพรหมินทร์ได้รับการฝึกฝนด้านกวีจนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการแต่งคร่าวและกะโลง (โคลง) ภายหลังจากนั้นเจ้าแสนเมืองมาได้นำตัวหนานพรหมินทร์ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้กับพระยาไชยวงศ์ เจ้าหลวงเมืองลำปาง พระยาไชยวงศ์เห็นว่าหนานพรหมินทร์มีความสามารถด้านกวีจึงส่งตัวไปอยู่แผนกอาลักษณ์ ทำให้หนานพรหมินทร์ได้ทำงานใกล้ชิดกับพระญาโลมาวิไสยผู้เป็นอาจารย์
ในช่วงระหว่างอายุ 26-31 ปี หนานพรหมินทร์ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพระญาโลมาวิไสย และได้รับการไว้วางใจจากพระญาโลมาวิสัยให้ช่วยแต่งเติมและเสริมต่อบทประพันธ์ของพระญาโลมาวิไสยเอง เมื่อครั้งพระญาโลมาวิไสยได้แต่งคร่าวเรื่องหงส์ผาคำ หนานพรหมินทรได้รับมอบหมายให้ช่วยแต่งเติมบางตอน และตรวจทานชำระเนื้อเรื่องด้วย
หนานพรหมินทร์ได้รับราชการเป็นกวีประจำราชสำนักเมืองลำปาง มีหน้าที่เขียนสาส์นโต้ตอบติดต่อราชการกับเมืองต่าง ๆในล้านนา จนถึงสมัยเจ้าวรญาณรังษี เจ้าหลวงลำปาง ขณะยังเป็นพระยาอุปราชอยู่ ประมาณ พ.ศ. 2389-2390 ได้มีชาวเมืองแพร่มากราบทูลเจ้าวรญาณรังษีว่าที่เมืองแพร่มีช้างงามต้องลักษณะเชือกหนึ่ง เจ้าของช้างจะขายเพียง 2000 ธ็อก เจ้าวรญาณรังษีจึงมอบหมายให้หนานพรหมินทร์ไปซื้อช้างพร้อมเงิน 2000 ธ็อก หนานพรหมินทร์เดินทางไปเมืองแพร่พร้อมด้วยนายเปี้ย นายผัด และผู้ติดตามอีก 2 คน โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ เมื่อเดินทางถึงบ้านป่าแมด หนานพรหมินทร์ได้นำเงินไปเล่นการพนันจดหมดสิ้น และได้แต่งคร่าวช้างขึด (ลักษณะช้างชั่ว) ให้ผู้ติดตามนำกลับไปเมืองลำปางถวาย ซึ่งในใจความของคร่าวช้างขึดนั้นหนานพรหมินทร์แก้ตัวว่าได้ซื้อช้างแล้วแต่ช้างนั้นมีลักษณะขึด (อัปมงคล) จึงมอบให้พวกเงี้ยวเมืองนายไปแล้ว ดังความตอนหนึ่งว่า
อันตัวช้างนั้น ไปผ่อมาจริง เนื้อตัวคิง โบราณช้างบ้าน | ||
นัยตาขาว สามหาวขี้หย้าน กลัวไฟฟืน ตื่นล้อ |
ระนาดพาทโพน ถอยหนท้นท้อ กลัวสว่าห้อ พานเด็ง | ||
หมอกวานผ่อเลี้ยง บ่แพ้แหนเกรง หางมันเอง บังซองหย่อนป้าน | ||
— "คร่าวช้างขึด" ของ หนานพรหมินทร์ |
(อย่างไรก็ตาม เอื้อม อุปันโน ได้กล่าวแย้งว่าคร่าวบทนี้น่าจะเป็นคร่าวพรรณนาเรื่องช้างขึดที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้พระราชทานให้เจ้าฟ้าเมืองนายมากกว่า หนานพรหมินทร์ซึ่งขณะนั้นรับราชการอย่ที่ราชสำนักเชียงใหม่เลยแต่งในช่วงนั้น)[4]
เมื่อเจ้าวรญาณรังษีทราบเรื่องก็กริ้วหนานพรหมินทร์อย่างมาก ถึงขั้นประกาศว่า “กันไอ่พรหมปิ๊กมาย่ำเมืองละกอนวันใด หัวปุ๋ดวันนั้น” (หากไอ้พรหมกลับมาเหยียบเมืองละกอนวันไหน หัวขาดวันนั้น) ทำให้หนานพรหมินทร์ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองแพร่
รับราชการที่เมืองแพร่
แก้ขณะที่หนานพรหมินทร์พักอยู่ที่บ้านป่าแมดนั้น หนานพรหมินทร์ได้ไปติดพันสนิทกับหญิงหลายคน เช่น นางบัวเกี๋ยง และนางสรีจม (ศรีชม) ซึ่งเดิมเป็นภรรยาของส่างติงหย่า (บางหลักฐานว่าชื่อส่างจิ่นขี้ยา บางหลักฐานว่าชื่อหม่องด้วง) ส่างติงหย่าเป็นนักพนันตัวยง เมื่อเสียพนันก็ได้ไปยืมเงิน 18 ธ็อก กับพระญาอินทร์บ้านนาแหลม โดยให้นางสรีชมอยู่เป็นตัวประกัน พระญาอินทร์ได้ส่งนางไปช่วยแผนกโรงครัวในคุ้มหลวงเมืองแพร่
หนานพรหมินทร์ได้เข้าฝากตัวกับพระยาอินทวิไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่ ด้วยความมีชื่อเสียงในด้านกวีทำให้พระยาอินทวิไชยรับตัวหนานพรหมินทร์ไว้ในราชสำนักเมืองแพร่ หนานพรหมินทร์ได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านของหม่อมจันทร์ฟอง เพราะเคยมีบุญคุณช่วยเหลือญาติของหม่อมจันทร์ฟองขณะที่เรียนอยู่ที่เชียงใหม่ หม่อมจันทร์ฟองก็ได้เอื้อเฟื้อดูแลหนานพรหมินทร์อย่างดี ด้วยความที่หนานพรหมินทร์กับหม่อมจันทร์ฟองมีความสนิทสนมกันมาก ถึงขั้นเรียกขานหนานพรหมินทร์ว่า “พี่พรหมินทร์” ทำให้พระยาอินทวิไชยเกิดความหึงและระแวงจนจับหนานพรหมินทร์ไปขังคุก กำหนดจะประหารชีวิตในวันเสาร์ เดือน 6 เหนือ ขึ้น 5 ค่ำ แต่พระยาราชวงศ์ (พิมพิสาร) ได้เข้าเฝ้าของดโทษประหารชีวิตหนานพรหมิทร์ เพราะจะได้ให้หนานพรหมินทร์แต่งคร่าวดำหัวเจ้านายในเทศกาลสงกรานต์ พระยาอินทวิไชยจึงงดโทษให้ตามประสงค์
ในช่วงที่หนานพรหมินทร์ติดคุกอยู่เมืองแพร่ นางสรีจมได้เพียรไปเยี่ยมที่คุกเสมอ หนานพรหมินทร์ได้ใช้เวลาที่อยู่ในคุกแต่งร่ายขึ้น เรียกว่า “คำจ่มพญาพรหม” (คำรำพันพญาพรหม) บางครั้งเรียกว่า “โวหารพญาพรหม” ซึ่งมีเนื้อหาตัดพ้อต่อว่าพระยาอินทวิไชย โดยเขียนไว้กับพื้นคุก (บางหลักฐานว่าเขียนไว้กับกระเบื้องดินขอ) ช่วงที่ติดคุกนี้หนานพรหมินทร์มีอายุได้ 59 ปี เมื่อติดคุกได้ระยะหนึ่ง หนานพรหมินทร์เบื่อหน่ายสภาพคุกที่สกปรกโสโครก และต้องทรมารจากการถูกพันธนาการโซ่ตรวน จึงทำการแหกคุกออกมา ทฤษฎีการแหกคุกของพระยาพรหมโวหาร สันนิษฐานไว้หลายแนว ดังนี้
- พระกัสสปเถระ แอบเขียนคาถาเหล็กเมื่อย ใส่กระดาษสอดไว้ในข้าวเหนียวให้หนานพรหมินทร์ใช้สะเดาะโซ่ตรวน
- เจ้าราชวงศ์เห็นแก่ความเป็นคนคุ้นเคยจึงแอบช่วยเหลือ
- น้อยไชยลังกา สหายรัก เป็นลูกน้องเจ้าน้อยยศนายคุก แอบช่วยเหลือ
- บุญยงได้ข่าวพี่ชายจะถูกประหารเลยบุกปล้นคุก
- ผู้สมรู้ร่วมคิดมีมากกว่าหนึ่งคน
หนานพรหมินทร์อยู่เมืองแพร่ได้ 3 เดือน จึงแหกคุกออกไปและพานางสรีจมไปอยู่ด้วย
ชีวิตที่เมืองลับแล
แก้หนานพรหมินทร์และนางสรีชมหนีจากเมืองแพร่ไปอยู่เมืองลับแล (ลับแลง) แขวงเมืองพิชัย (อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์) บริเวณบ้านสันคอกควาย ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของเมืองแพร่ หนานพรหมินทร์เริ่มชีวิตใหม่โดยเป็นพ่อค้า ส่วนนางสรีชมทอผ้าอยู่บ้าน วันหนึ่งหนานพรหมินทร์ไปทวงหนี้ที่บ้านท่าเสา โดยมีเพื่อนร่วมทางคือน้อยกาวิตาและน้อยไชยลังกา ขณะที่หนานพรหมินทร์ไปทวงหนี้ พระญาอินทร์บ้านนาแหลมได้ส่งจดหมายให้นางสรีชมกลับเมืองแพร่โดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อหนานพรหมินทร์กลับมาบ้านก็ไม่พบนางสรีชม ด้วยความผิดหวังเสียใจเศร้าใจและอาลัย หนานพรหมินทร์จึงได้แต่งคร่าวรำพันความรู้สึกของตน เรียกกันว่า “คร่าวสี่บท” หรือ “คร่าวร่ำนางชม” รำพึงรำพันถึงความหลังครั้งยังรักกัน ต่อว่านางสรีชมว่าสงสัยจะมีชู้ และโน้มน้าวให้เมียกลับไปอยู่ด้วยกันที่เมืองลับแล ผลงานการประพันธ์ชิ้นนี้มีความไพเราะกินใจ เป็นคร่าวที่คนล้านนาจดจำกันได้ดีที่สุด ในช่วงที่อยู่เมืองลับแลงนี้หนานพรหมินทร์มีอายุได้ 60 ปี หลังจากหนานพรหมินทร์มาอยู่ลับแลงแล้ว ก็ได้กลับไปที่เมืองลำปางอีกครั้งเนื่องจากเจ้าวรญาณรังษีที่เคยคาดโทษได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว โดยรับราชการกับเจ้าพรหมาภิพงษธาดา เจ้าหลวงลำปางตนที่ 10 ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหนานพรหมินทร์[5] [6]
รับราชการที่เชียงใหม่
แก้ในปี พ.ศ. 2420 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร ได้มีสาส์นขอตัวหนานพรหมินทร์ไปเมืองนครเชียงใหม่หลายครั้ง จนเจ้าพรหมาภิพงษธาดา และเจ้าอุปราช (ไชยแก้ว) ได้อนุญาตให้หนานพรหมินทร์เดินทางไปเมืองเชียงใหม่ เมื่อไปถึงเชียงใหม่ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสรอย่างดี และได้แต่งคร่าวซอพระอภัยมณีขึ้น ตามรับสั่งของเจ้าทิพเกสร หนานพรหมินทร์ได้รับเงินหลายแถบ พร้อมได้รับเจ้าบัวจันทร์เป็นภรรยา ได้รับบ้านอาศัย ที่ดินไร่นา พร้อมข้าทาสบริวารรับใช้ ได้รับพานสำรับหมากเงิน เสื้อผ้าอาภรณ์บริบูรณ์ และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปลำปางอีก[7]
พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงพิเศษ ขึ้นมาแก้ปัญหาชายแดน และจัดระเบียบการปกครองในเขตเมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน และเมืองนครเชียงใหม่ เจ้าราชบุตร (ขัตติยวงศ์) ได้มอบหมายให้หนานพรหมินทร์แต่งคร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เมื่อพ.ศ. 2427 โดยได้รับรางวัล เป็นเงิน 20 แถบ ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของหนานพรหมินทร์[8]
พ.ศ. 2430 หนานพรหมินทร์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านในซอยข้างวัดเชตุพน เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 เหนือ ตรงกับวันพญาวัน (วันเถลิงศก) สิริอายุ 85 ปี
ทายาท
แก้กล่าวกันว่า พญาพรหมโวหารมีภรรยาถึง 42 คน[9] ภรรยาของหนานพรหมินทร์คนสุดท้ายคือเจ้าบัวจันทร์ มีลูกสาวด้วยกันคือ นางอินท์ตุ้มหรือนางขี้หมู นางอินท์ตุ้มแต่งงานกับท้าวสมภาร มีบุตรชื่อนายเจริญ อยู่บ้านฟ้าฮ่าม ริมน้ำปิงฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุ จำพรรษาที่วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ เมื่อมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระญาพรหมโวหารที่สวนสาธารณะเขื่อนยาง ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปางโดยพุทธสมาคมจังหวัดลำปาง พระภิกษุเจริญได้นำอัฐิหนานพรหมินทร์ซึ่งเดิมบรรจุที่กู่ในวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ มาบรรจุไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์พระญาพรหมโวหารด้วย[10]
รายชื่อผลงาน
แก้- คร่าวใคร่สิกข์ (ไม่พบต้นฉบับ)
- คร่าวช้างขึด (ไม่พบต้นฉบับทั้งเรื่อง)
- คร่าวร่ำช้างงายาว (ไม่พบต้นฉบับ)
- คร่าวสี่บท (คร่าวร่ำนางชม)
- คำจ่มพญาพรหม (โวหารพญาพรหม)
- คร่าวปู่สอนหลาน
- คร่าวซอหงส์หิน (ไม่พบต้นฉบับ)
- คร่าวสัพพะคำสอน (ไม่พบต้นฉบับ)
- เจ้าสุวัตรนางบัวคำ
- มหาพนตำรายา (เวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน ฉบับตำรายา)
- คร่าวซอพระอภัยมณีแลสรีสุวัณ แต่งจบความที่อภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษราเท่านั้น
- คร่าวรับเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
ตำแหน่งพญา
แก้หนานพรหมินทร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพญาเมื่อใดไม่มีหลักฐาน อย่างน้อยที่สุดพรหมินทร์น่าจะมียศเป็นพญาพรหมวิไสย ในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาเป็นเจ้าหลวงลำปาง ปรากฏหลักฐานในคร่าวซอพระอภัยมณีว่า
ศักดิ์นานาม ไขตามถี่ชั้น หื้อจริงแน่แจ้ง ใจใน | ||
นามะทัต พรหมวิไสย อยู่ละคอรไชย โภยภัยบ่ต้อง |
เพิ่งกุศล ร่มเงาฉัตรจ้อง ปองงานเมือง เจื่องท้าว | ||
— "คร่าวซอพระอภัยมณีแลสรีสุวัณ" ของ หนานพรหมินทร์ |
พระครูอดุลสีลกิติ์มีความเห็นว่าน่าจะเป็นจริง เพราะอาจารย์ของหนานพรหมินทร์คือพญาโลมาวิไสย เจ้าหลวงลำปางก็คงตั้งพระทัยให้ชื่อศิษย์กับอาจารย์พ้องกัน สำหรับตำแหน่งพญา ว่าได้มาเมื่อใด พระครูอดุลสีลกิติ์มีความเห็นว่าหนานพรหมินทร์น่าจะได้ตำแหน่งนี้เมื่ออายุ 46 ปี โดยเจ้าวรญาณรังษีเป็นผู้แต่งตั้ง[11] ส่วนมงคล ถูกนึกมีความเห็นว่าหนานพรหมินทร์อาจได้เป็นพญาในสมัยพระยาน้อยอินทร์ หรือสมัยที่หนานพรหมินทร์กลับมารับราชการที่เมืองลำปางอีกครั้งในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาก็ได้[12]
ส่วนชื่อตำแหน่งราชทินนาม พระญาพรหมโวหาร นั้น ในหลักฐานร่วมสมัยปรากฏแต่เพียง พญาพรหมวิไสย กับ พญาพรหมปัญญา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสร้อย “โวหาร” นั้น อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากราชทินนามของ พระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่[13] ส่วนมงคล ถูกนึกมีความเห็นว่าอาจจะเป็น สมัญญานาม คำสร้อย หรือฉายาที่คนทั่วไปขนานนามให้หนานพรหมินทร์ เพราะเนื่องจากหนานพรหมินทร์เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน มีสำนวนโวหารเสมอ จึงเรียกว่า พระญาพรหมโวหาร ก็เป็นได้ [14]
อ้างอิง
แก้- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
- ↑ ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
- ↑ ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
- ↑ สงวน โชติสุขรัตน์. คนดีเมืองเหนือ. นนทบุรี: ศรีปัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2552
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
- ↑ ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
- ↑ มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561