ผู้ใช้:Kelos omos1/การรวมรัฐออสเตรเลีย

ศาลาว่าการนครซิดนีย์ถูกส่องสว่างด้วยแสงไฟและมีการจุดพลุเฉลิมฉลองการสถาปนาเครือรัฐออสเตรเลีย ค.ศ. 1901 ป้ายเขียนว่า "ประชาชนหนึ่งเดียว พรหมลิขิตหนึ่งเดียว"

การรวมรัฐออสเตรเลียคือกระบวนการที่เกิดจากการที่อาณานิคมปกครองตนเอง 6 อาณานิคมของจักรวรรดิบริเตนได้แก่ ควีนส์แลนด์ นิวเซาท์เวลส์ วิคทอเรีย แทสเมเนีย เซาท์ออสเตรเลีย และเวสเทิร์นออสเตรเลีย ตกลงที่จะรวมตัวกันและสถาปนาเครือรัฐออสเตรเลีย และเริ่มใช้ระบบสหพันธรัฐในออสเตรเลีย

ในตอนต้น อาณานิคมฟิจิและอาณานิคมนิวซีแลนด์อยู่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วย แต่ต่อมาทั้งสองอาณานิคมตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมสหพันธรัฐ[1] หลังจากการรวมรัฐ ทั้งหกอาณานิคมที่รวมตัวกันก่อตั้งเครือรัฐออสเตรเลียในฐานะรัฐยังคงใช้ระบบบการปกครองแบบเดิม และคงไว้ซึ่งระบบสภาคู่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นอาณานิคม แต่ทุกรัฐก็ตกลงที่จะมีรัฐบาลกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องที่มีผลทั้งประเทศ เมื่อรัฐธรรมนูญออสเตรเลียมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1901 อาณานิคมจึงกลายเป็นรัฐในเครือรัฐออสเตรเลียพร้อมกัน

ความพยายามที่จะรวมรัฐในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 19 ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากนัก โดยมีการจัดการประชุมหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1890 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญให้กับเครือรัฐ เซอร์เฮนรี พาร์คส์ มุขมนตรีแห่งอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ เป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการนี้ เซอร์เอ็ดมุนด์ บาร์ตัน ผู้ทุ่มเทให้กับการรวมรัฐเป็นอันดับสองรองจากพาร์คส ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ของออสเตรเลีย ในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1901 ผลการเลือกตั้งทำให้บาร์ตันได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ยังขาดเสียงข้างมาก

ช่วงเวลานี้เป็นต้นกำเนิดให้กับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นที่แพร่หลายในออสเตรเลียในเวลานั้น เรียกว่าสถาปัตยกรรมเฟเดอเรชัน

แนวคิดเรื่องการรวมรัฐ

แก้
 
ลอร์ด ลามิงตัน ผู้ว่าการรัฐควีนส์แลนด์ กำลังอ่านคำประกาศของราชินีเรื่องสหพันธรัฐใน บริสเบน

เสียงเรียกร้องให้มีการรวมรัฐในช่วงต้น

แก้

ตั้งแต่ ค.ศ. 1842 ก็มีบทความนิรนามในนิตยสารเซาท์ออสเตรเลียที่เรียกร้องให้มีการรวมอาณานิคมในภูมิภาคออสเตรเลเซียเป็นดินแดนที่มีผู้สำเร็จราชการเป็นประมุข ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1846 เลขาธิการอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ เซอร์เอ็ดเวิร์ด ดีส์ ธอมสัน เสนอแนะให้มีการรวมรัฐในสภาที่ปรึกษานิติบัญญัตินิวเซาท์เวลส์ ผู้ว่าการนิวเซาท์เวลส์ เซอร์ชารล์ส ฟิตซ์รอย จึงเขียนจดหมายไปยังกระทรวงอาณานิคมแห่งสหราชอาณาจักร โดยเสนอแนะให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้มีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายของอาณานิคมทั้งหมด ใน ค.ศ. 1847 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคม เอิร์ลเกรย์ ร่างแผนให้มีการจัดตั้ง "สมัชชาสามัญ" ของอาณานิคมทั้งหลาย แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง[2] ต่อมาในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1857 ดีส์ ธอมสัน ยื่นมติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญแห่งสภานิวเซาท์เวลส์ให้มีการรวมรัฐออสเตรเลีย คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสมัชชา แต่ในระหว่างนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาลเกิดขึ้น มตินี้จึงถูกพับไป

สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ

แก้

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1880 เริ่มมีการขับเคลื่อนให้รวมอาณานิคมเป็นรัฐอย่างจริงจัง ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีความรู้สึกรักชาติมากขึ้นในหมู่ชาวออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลียโดยกำเนิด แนวคิดเรื่อง "ความเป็นออสเตรเลีย" เริ่มปรากฎและได้รับการเฉลิมฉลองในเพลงและบทกวี การพัฒนาในด้านการคมนาคมและการติดต่อสื่อสารทำให้ความรู้สึกนี้หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่นการก่อตั้งระบบโทรเลขระหว่างอาณานิคมใน ค.ศ. 1872 นอกจากนี้อาณานิคมออสเตรเลียยังได้รับอิทธิพลจากสหพันธรัฐอื่นๆ ที่กำเนิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

เซอร์เฮนรี พาร์คส์ เลขาธิการอาณานิคมนิวเซาท์เวลส์ เป็นคนแรกที่เสนอให้มีการตั้งสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐใน ค.ศ. 1867 หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมบริเตน ดยุคแห่งบัคกิงแฮม ปฏิเสธความคิดนี้ พาร์คส์ก็เสนอประเด็นนี้อีกครั้งใน ค.ศ. 1880 คราวนี้ในฐานะมุขมนตรีแห่งนิวเซาท์เวลส์ ในการประชุมครั้งหนึ่ง ตัวแทนจากวิคตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ และเซาท์ออสเตรเลีย มีการพิจารณาในหลายประเด็นได้แก่ การรวมรัฐ การติดต่อสื่อสาร การอพยพเข้าเมืองของชาวจีน โรคในพืชไวน์ และการตั้งภาษีศุลกากรในอัตราเท่ากัน การรวมรัฐมีศักยภาพที่จะทำให้การค้า และการพาณิชย์ข้ามรัฐ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการคุ้มครองทางการค้า และทำให้มีมาตรฐานในการชั่งตวงวัด และการคมนาคม ทั่วทั้งทวีปออสเตรเลีย

การผลักดันครั้งสุดท้ายให้เกิดสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐเกิดขึ้น ณ การประชุมระหว่างอาณานิคมในนครซิดนีย์ ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ค.ศ. 1883 เนื่องมาจากการที่รัฐบาลบริเตนปฏิเสธการผนวกเกาะนิวกินีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐควีนส์แลนด์โดยฝ่ายเดียว และความประสงค์ของรัฐบาลบริเตนที่จะให้ออสเตรเลเซียรวมรัฐกัน การประชุมถูกจัดขึ้นเพื่อถกเถียงในเรื่องยุทธศาสตร์ในการตอบโต้กิจกรรมของชาวเยอรมันและชาวฝรั่งเศสในเกาะนิวกินี และหมู่เกาะเฮบริดีส เซอร์ซามูเอล กริฟฟิธ มุขมนตรีควีนส์แลนด์ ร่างพระราชบัญญัติให้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในที่สุดองค์ประชุมก็สามารถยื่นคำร้องต่อรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีชื่อว่า พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐออสเตรเลเซีย ค.ศ. 1885[3]

สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐออสเตรเลเซียจึงถูกตั้งขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของชาวอาณานิคมในกิจการความสัมพันธ์กับหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ต่าง ๆ นิวเซาท์เวลส์และนิวซีแลนด์ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ในขณะที่อาณานิคมปกครองตนเองอื่น ๆ ได้แก่ควีนส์แลนด์ แทสเมเนีย และวิคตอเรีย รวมไปถึงอาณานิคมในพระองค์ เวสเทิร์นออสเตรเลีย และฟิจิ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียเข้ามาเป็นสมาชิกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1888 ถึง 1890 โดยสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐมีอำนาจในการออกกฎหมายในบางเรื่อง เช่นการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การออกกฎควบคุมการประมง และอื่น ๆ แต่สภาไม่มีสำนักเลขาธิการถาวร ทั้งยังไม่มีอำนาจในการบริหาร หรือหารายได้เข้าคลังเอง นอกจากนี้การที่อาณานิคมที่มีอำนาจมากอย่างนิวเซาท์เวลส์ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ทำให้ความเป็นตัวแทนด้อยคุณค่าลง

 
การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1888 แสดงถึง ความรู้สึกต่อต้านจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีการรวมรัฐ

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นการร่วมมือระหว่างอาณานิคมที่สำคัญเป็นครั้งแรก เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิยมสหพันธรัฐจากทั่วประเทศมาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดกัน วิธีการที่สภาถูกจัดตั้งขึ้นสนับสนุนให้รัฐสภาจักรวรรดิมีบทบาทอันต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาของโครงสร้างทางรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย ในแง่ของพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐออสเตรเลีย ผู้ร่างกฎหมายชาวออสเตรเลียได้สถาปนาอำนาจจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" ของพวกเขา ซึ่งในเวลาต่อมาจะถูกลอกลงไปในรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย โดยเฉพาะมาตรา 51

การคัดค้านในช่วงแรก

แก้

อาณานิคมต่าง ๆ ยกเว้นวิคตอเรีย ล้วนระแวดระวังต่อแนวคิดรวมรัฐ บรรดานักการเมือง โดยเฉพาะจากอาณานิคมเล็ก ๆ ไม่นิยมความคิดในการมอบอำนาจให้กับรัฐบาลแห่งชาติ พวกเขาเกรงว่ารัฐบาลนั้นจะต้องถูกครอบงำโดยอาณานิคมที่มีประชากรมากกว่าอย่างนิวเซาท์เวลส์และวิคตอเรียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่อาณานิคมควีนส์แลนด์กังวลว่าการนำมาซึ่งนิติบัญญัติที่อิงนโยบายไวต์ออสเตรเลียจะห้ามการนำเข้ากรรมกรจากหมู่เกาะแปซิฟิก (คานาคา) จะเป็นภัยต่ออุตสาหกรรมไร่อ้อยในอาณานิคม

สิ่งต่าง ๆ ข้างต้นไม่ใช่ข้อกังขาเดียวที่ผู้ต่อต้านการรวมรัฐมี อาณานิคมเล็ก ๆ ยังกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกภาษีศุลกากรที่จะทำให้รายได้ส่วนใหญ่ของอาณานิคมหายไป และทำให้การค้าไปขึ้นอยู่กับรัฐที่ใหญ่กว่า นิวเซาท์เวลส์ที่มีมุมมองที่ค่อนไปทางการค้าเสรีมาแต่เดิม ต้องการให้นโยบายภาษีศุลกากรของสหพันธรัฐไม่เป็นแบบลัทธิคุ้มครอง มุขมนตรีแห่งอาณานิคมวิคตอเรีย เจมส์ เซอร์วิส ระบุว่าสหภาพทางการเงินเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรวมรัฐ

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ จะกระจายภาษีศุลกากรส่วนเกินจากรัฐบาลกลางไปยังรัฐอย่างไร มีความเป็นไปได้ว่าอาณานิคมที่ใหญ่กว่าจะต้องสนับสนุนเศรษฐกิจที่ต้องดิ้นรนมากกว่าในแทสมาเนีย เซาท์ออสเตรเลีย และเวสเทิร์นออสเตรเลีย

แม้จะไม่มีข้อกังขาข้างต้น แต่ก็ยังมีการโต้เถียงกันอยู่ว่าสหพันธรัฐจะใช้รูปแบบใดในการปกครอง อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหพันธรัฐอื่นก็ไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจนัก อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองมา

อ้างอิง

แก้
  1. "Fiji and Australian Federation. – (From the Herald's own Correspondent.) Melbourne, Monday". The Maitland Mercury and Hunter River General Advertiser. 25 October 1883. สืบค้นเมื่อ 5 May 2016.
  2. Tony Stephens, "Proud town's key role in our destiny", Sydney Morning Herald, 26 December 2000, p. 10
  3. note 2, at 18–21.