ผู้ใช้:ธัญญาลักษณ์ ศอกกำปัง/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี แก้

กัมพูชา หรือ ก็อมปุเจีย (เขมร: កម្ពុជា, กมฺพุชา) ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา หรือ พระราชอาณาจักรก็อมปุเจีย (เขมร: ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា, พฺระราชาณาจกฺรกมฺพุชา) เป็นประเทศตั้งอยู่ในส่วนใต้ของคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศไทย ทิศเหนือติดกับประเทศไทยและลาว ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับเวียดนาม และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดอ่าวไทย

ด้วยประชากรกว่า 15 ล้านคน กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 66 ของโลก ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งประชากรกัมพูชานับถือมากกว่า 97% ชนกลุ่มน้อยในประเทศมีชาวเวียดนาม ชาวจีน ชาวจาม และชาวเขากว่า 30 เผ่า เมืองหลวงและเมืองใหญ่สุด คือ พนมเปญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของกัมพูชา

ราชอาณาจักรกัมพูชาปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี มาจากการเลือกตั้งโดยราชสภาเพื่อราชบัลลังก์ เป็นประมุขแห่งรัฐ ประมุขรัฐบาล คือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ผู้ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ปกครองกัมพูชามาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี

ใน พ.ศ. 1345 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ปราบดาภิเษกตนเป็นพระมหากษัตริย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิขะแมร์ อำนาจและความมั่งคังมหาศาลของจักรวรรดิขะแมร์ที่มีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อกันมานั้นได้มีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลากว่า 600 ปี กัมพูชาถูกปกครองเป็นเมืองขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 กัมพูชาได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2496 สงครามเวียดนามได้ขยายเข้าสู่กัมพูชา ทำให้เขมรแดงขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งยึดกรุงพนมเปญได้ใน พ.ศ. 2518 กัมพูชาผงาดขึ้นอีกหลายปีให้หลังภายในเขตอิทธิพลสังคมนิยมเป็นสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชากระทั่ง พ.ศ. 2536 หลังจากหลายปีแห่งการโดดดี่ยว ชาติซึ่งเสียหายจากสงครามก็ได้รวมเข้าด้วยกันอีกครั้งภายใต้ระบอบราชาธิปไตยในปีเดียวกันนั้นเอง

ในการบูรณะประเทศหลังสงครามกลางเมืองนานหลายทศวรรษ กัมพูชามีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ ประเทศกัมพูชาได้มีหนึ่งในบันทึกเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.0% เป็นเวลานาน 10 ปี ภาคสิ่งทอ เกษตรกรรม ก่อสร้าง เสื้อผ้าและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งได้นำไปสู่การลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2548 มีการพบแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติใต้น่านน้ำอาณาเขตของกัมพูชา การขุดเจาะเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2556 รายได้จากน้ำมันสามารถมีผลต่อเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างลึกซึ้ง

ประวัติศาสตร์ แก้

ประวัติศาสตร์ยุคแรกของกัมพูชา แก้

ความรู้เกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ของกัมพูชานั้นมีอยู่น้อยมาก แหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชาที่ค้นพบในปัจจุบัน คือ ถ้ำ แลง สแปน (Laang Spean) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าผู้คนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล และแหล่งโบราณคดีสำโรง เซน (Samrong Sen) ซึ่งเชื่อว่าเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 230 ถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล

ชาวกัมพูชาเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่เมื่อราว 2,000 ก่อนคริสตกาล สามารถทำเครื่องมือจากเหล็กได้ตั้งแต่ราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนหน้าที่อิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียจะแผ่นเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ ในราวปีที่ 100 ก่อนคริสตกาล

หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าพื้นที่หลายส่วนของดินแดนประเทศกัมพูชาในปัจจุบันเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อราวสหัสวรรษแรกและสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยจัดเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ ซึ่งผู้คนกลุ่มนี้อาจอพยพมาจากทางพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในก่อนช่วงคริสต์ศตวรรษแรก ผู้คนในแถบได้มีวิวัฒนาการสู่การตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการจัดโครงสร้างของสังคมอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาทักษะวิทยาการต่าง ๆ ได้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อน ๆ เป็นอย่างมาก กลุ่มที่มีพัฒนาการก้าวหน้าที่สุดอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง สามารถเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงปศุสัตว์ได้ นักประวัติศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า ผู้คนกลุ่มนี้ได้ตั้งหลักแหล่งอาศัยก่อนหน้าผู้คนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ไทย และลาว

ผู้คนกลุ่มนี้อาจจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษของมนุษย์กลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาะแก่งต่าง ๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิกในปัจจุบัน ผู้คนเหล่านี้มีความรู้ในงานโลหะ เช่นเหล็กและสำริด โดยเป็นเป็นทักษะที่คิดค้นขึ้นเอง งานวิจัยในปัจจุบันได้ค้นว่า ชาวกัมพูชาในยุคนี้สามารถปรับปรุงสภาพภูมิประเทศมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยปรากฏรูปแบบเป็นพื้นที่รูปวงกลมขนาดใหญ่

อาณาจักรฟูนัน แก้

อาณาจักรฟูนันเป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 – 6 ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนานรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนานยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ ฟูนาน จึงมีรายได้จากการค้าขาย การเดินเรืออีกด้วย

เรื่องราวของรัฐฟูนาน ทราบจากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมาแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบอบกษัตริย์ มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมแท้ ๆ ของตนเอง มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียด้วยกัน และโลกตะวันตก ชนชั้นสูงเป็นพวกมาลาโยโพลีนีเซียน ชาวจีนว่าพวกชนชั้นพื้นเมืองของฟูนันหน้าตาหน้าเกลียด ตัวเล็ก ผมหยิก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซียน ฟูนานมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ

อาณาจักรเจนละ (อาณาจักรอิศานปุระ) แก้

ในระหว่าง พ.ศ. 1170-1250 นั้นอาณาจักรเขมรมีกษัตริย์ครองราชย์คือ พระเจ้าภววรมันที่ 2 พระโอรสของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 โอรสของพระเจ้าภววรมันที่ 2 ยุคนี้ได้สร้างศิลปเขมรแบบไพรกเมง ขึ้นระหว่างพ.ศ. 1180-1250 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 นั้นอาณาจักรเจนฬา (เจนละ) นั้นได้แตกแยกเป็นพวกเจนละบกคืออยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ และพวกเจนละน้ำ อยู่ในดินแดนลาวตอนกลาง พ.ศ. 1250-1350 ยุคนี้ได้มีการสร้างศิลปเขมรแบบกำพงพระขึ้น

อาณาจักรเขมรนั้นล่มสลายมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 หรือพระเจ้าปรเมศวร พ.ศ. 1345-1393 พระองค์ได้รวบรวมพวกเจนละบกและพวกเจนละน้ำเป็นอาณาจักรใหม่โดยรับเอาลัทธไศเลนทร์หรือ เทวราชาเข้ามาทำการสถานปนาอาณาจักรใหม่ขึ้น โดยทำการสร้างราชธานีขึ้นใหม่หลายแห่งและสร้างปราสาทหินหรือเทวาลัยเป็นการใหญ่ ซึ่งมีเหตุการณ์ย้ายราชธานีขึ้นหลายครั้งจนกว่าจะลงตัวที่เมืองหริหราลัยราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรเขมร ต่อมาคือ เมืองยโศธรปุระ และ เมืองนครธมในที่สุด ด้วยเหตุนี้อาณาจักรเขมรสมัยนี้จึงรุ่งเรืองด้วยการสร้างราชธานีขึ้นหลายแห่งและมีปราสาทหินที่เป็นศิลปะเขมรเกิดขึ้นหลายแบบ กล่าวคือ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 นั้นพระองค์ได้ทำการสร้างเมืองอินทรปุระเป็นราชธานี ขึ้นที่บริเวณใกล้เมืองกำแพงจาม สร้างเมืองหริหราลัยหรือร่อลวย เป็นราชธานี สร้างเมืองอมเรนทรปุระ เป็นราชธานี และสร้างเมืองมเหนทรบรรพต หรือ พนมกุเลนเป็นราชธานี ยุคนี้ได้สร้างศิลปเขมรแบบกุเลนขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1370-1420


เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระโอรสได้ครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 หรือ พระเจ้าวิษณุโลก ครองราชย์ พ.ศ. 1393-1420 พระองค์ได้กลับมาใช้เมืองหริหราลัยหรือร่อลอย เป็นราชธานี ต่อมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้าอิศวรโลก ครองราชย์ พ.ศ. 1420-1432 ยุคนี้ได้สร้างศิลปะเขมรแบบพระโคขึ้นในพ.ศ. 1420-1440

ในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้าบรมศิวโลก พระโอรสของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ซึ่งครองราชย์เป็นกษัตริย์เขมรในพ.ศ. 1432-1443 นั้น พระองค์ได้สร้างเมืองยโศธรปุระหรือเมืองพระนครแห่งแรกขึ้นที่เขาพนมบาเค็ง เมื่อ พ.ศ. 1436 ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือทะเลสาบเมืองเสียมราฐ เมืองนี้คนไทยเรียก เสียมราฐ การสร้างปราสาทหินขึ้นบนเขาพนมบาเค็งนั้น เป็นอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่แผ่อิทธิพลเข้ามายังดินแดนแถบนี้ ซึ่งถูกสมมติขึ้นเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อนั้น นับเป็นศิลปะเขมรแบบบาเค็ง

เมืองยโศธรปุระ ราชธานีแห่งนี้มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาคือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 หรือ พระเจ้ารุทรโลก พระโอรสของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1443-1456 และพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 หรือพระเจ้าบรมรุทรโลก พระอนุชาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1456-1468 จึงเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดิน

ในที่สุดพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 หรือพระเจ้าบรมศิวบท ซึ่งเป็นน้องเขยของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อาณาจักรเขมรใน พ.ศ. 1471-1485 พระองค์ได้สร้างราชธานีขึ้นที่เมืองโฉกการยกยาร์หรือเกาะแกร์ และพระเจ้าหรรษวรมันที่ 2หรือพระเจ้าพรหมโลก พระโอรสขององค์ได้ครองราชย์ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 1485-1487 ยุคนี้ได้สร้างศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ พ.ศ. 1465-1490 ต่อมาพระเจ้าราเชนทรวรมัน หรือพระเจ้าศิวโลก พระนัดดาของพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ได้ครองราชย์ใน พ.ศ. 1487-1511 ได้ย้ายราชธานีมาที่เมืองยโศธรปุระ หรือเมืองพระนครแห่งแรก ยุคนี้ได้สร้างศิลปะเขมรแบบแปรรูป พ.ศ. 1490-1510

เมืองยโศธรปุระ ราชธานีเก่าแห่งนี้มีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาหลายพระองค์ ได้แก่

- พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระบรมวีรโลก ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ครองราชย์ พ.ศ. 1511-1544 สมัยนี้สร้างศิลปะเขมรแบบบันทายศรี พ.ศ. 1510-1550 ขึ้น

- พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระนัดดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ครองราชย์ พ.ศ. 1544 สร้างศิลปะเขมรแบบคลังขึ้น พ.ศ. 1510-1560

- พระเจ้าชัยวีรวรมัน ครองราชย์ พ.ศ. 1545 (สวรรคต พ.ศ. 1553)

- พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1545-1593สมัยนี้พระองค์ได้ทำการสถาปนาราชวงศ์ขึ้นใหม่ และน่าจะมีการสร้างเมืองพระนครขึ้นใหม่เป็นแห่งที่สองเป็นยุคที่สร้างศิลปแบบปาบวนขึ้นใช้ใน พ.ศ. 1560-1630 เมืองพระนครแห่งที่สองนี้ ยังไม่มีรายละเอียด จึงสรุปไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด

ในดินแดนพายัพนั้น เดิมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติลาว ครั้นเมื่อเขมรมีอำนาจขยายอาณาจักรมาสู่ดินแดนพายัพ จึงตั้งเมืองละโว้ให้เจ้านครเขมรคอยดูแล และพระนางจามเทวีพระธิดาของเจ้าผู้ครองเมืองละโว้ได้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรละโว้ พระธิดาเจ้าผู้ครองเมืองนี้จึงได้ปกครองพวกลาวทั้งปวงในมณฑลพายัพ เมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) จึงเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรละโว้ ที่ตั้งขึ้นเพื่อใช้ดูแลดินแดนพายัพ ต่อมาได้ตั้งเมืองนครเขลางค์ (เมืองลำปาง) ขึ้นและปกครองร่วมกัน