ผีถ้วยแก้ว (อังกฤษ: Ouija board, Spirit board, Talking board) เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเชื่อว่าเป็นเพราะผีหรือวิญญาณทำนายเรื่องราวในอนาคตได้ ในประเทศแถบตะวันตก ผีถ้วยแก้ว จะเรียกว่า "วีจาบอร์ด" (Ouija board) หรือ "กระดานวิญญาณ" (Spirit board) หรือ "กระดานพูดได้" (Talking board) โดยเป็นของเล่นสำเร็จรูปที่ผลิตและวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1890 และมีการจดสิทธิบัตรไว้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1891 ในรูปแบบของเกมกระดาน ใช้เล่นเพื่อความเพลิดเพลิน โดยชาติแรกที่เชื่อว่า ใช้การละเล่นแบบนี้เพื่อติดต่อสื่อสารกับผี น่าจะเป็นชาวจีน โดยมีการค้นคว้าจากนักประวัติศาสตร์พบว่ามีการเล่นมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง ราว ค.ศ. 1100 เรียกว่า "ฝูจี" (จีน: 扶乩, 扶箕; พินอิน: fújī) โดยเป็นกิจกรรมที่มีการทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดมีตำราหรือคู่มือบันทึกไว้เลยทีเดียว ก่อนจะมาถูกห้ามในยุคราชวงศ์ชิงก่อนการปฏิวัติซินไฮ่ไม่นาน

การเล่นผีถ้วยแก้ว

นอกจากนี้แล้วยังมีการละเล่นคล้ายคลึงกันนี้ในอินเดียโบราณ, กรีกโบราณ, โรมัน และยุโรปยุคกลางอีกด้วย

โดยคำว่า "วีจา" (Ouija) ที่ใช้ในความหมายภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า "oui" ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า "ใช่" และ "ja" ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า "ใช่" อีกเช่นเดียวกัน

รูปแบบของผีถ้วยแก้วจะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นกระดานที่มีตัวอักษรต่าง ๆ วรรณยุกต์ รวมถึงตัวเลข และมีตำแหน่งที่ใช้สำหรับพัก ก่อนจะอัญเชิญผีเข้ามาสิง โดยผีถ้วยแก้วของไทย จะใช้ถ้วยหรือแก้วที่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นแก้วหรือถ้วยทรงใด ขนาดสูงแค่ไหน หรือมีสภาพแบบใด แต่มีข้อห้ามที่เหมือน ๆ กัน คือ ถ้วยนั้นต้องคว่ำ และระหว่างที่เล่นห้ามยกนิ้วออกเพราะจะถือว่าไม่เคารพวิญญาณหรือจะถูกวิญญาณเข้าสิงเป็นต้น บ้างก็เชื่อว่า จำนวนผู้เล่นมีได้สูงสุดสี่คน เป็นต้น ที่คล้ายคลึงกันระหว่างผีถ้วยแก้วของไทยและตะวันตก คือ ก่อนจะเลิกเล่น วิญญาณนั้นจะเคลื่อนไปยังตัวอักษรที่แสดงว่าคำทักทาย เช่น "สวัสดี" หรือ "ลาก่อน" ด้วย นอกจากนี้แล้วในส่วนของไทยยังมีการเล่นที่คล้ายคลึงกัน หากแต่ใช้เหรียญแทนถ้วย เรียกว่า "ผีเหรียญ" โดยเชื่อว่าใช้เหรียญใดก็ได้แต่ห้ามใช้เหรียญบาท ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์พระมหากษัตริย์

ในทางวิทยาศาสตร์มักจะอธิบายว่า เหตุที่ถ้วยหรือแก้วเคลื่อนที่ได้เองนั้นเป็นผลมาจากสภาพจิตใจของผู้เล่น คือ จิตใต้สำนึก ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นผู้เล่นนั่นเองที่เป็นผู้เคลื่อนถ้วยหรือแก้วเอง[1]

อ้างอิง

แก้
  1. ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์อยากชวนเธอไปอำผี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 232 หน้า. หน้า 65-79. ISBN 978-974-02-1572-1

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้