ผักเขียด

(เปลี่ยนทางจาก ผักตบไทย)
ผักเขียด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Commelinales
วงศ์: Pontederiaceae
สกุล: Monochoria
สปีชีส์: M.  vaginalis
ชื่อทวินาม
Monochoria vaginalis
(Burm.f.) C.Presl ex Kunth
ต้นขาเขียด

ผักเขียด หรือ ขาเขียด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Monochoria vaginalis) เป็นพืชชนิดหนึ่ง พบทั่วไปในบริเวณที่มีน้ำขัง หนอง คลอง บึง ชื่อเรียกอื่น ๆ ได้แก่ ขากบขาเขียด ผักเป็ด ผักเผ็ด ผักริ้น ผักหิน ผักฮิ้น ผักฮิ้นน้ำ ผักขี้เขียด กันจ้อง ผักลิ่น ผักลิ้น ริ้น ผักอีฮิน ผักอีฮินใหญ่ในภาษาอีสาน และขี้ใต้ในภาษาใต้[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แก้

ผักเขียดเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายผักตบชวาแต่ขนาดเล็กกว่า ลำต้นตั้งตรง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีไหลสั้น ๆ และรากฝอยสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก ใบลักษณะเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจคล้ายผักตบชวาแต่เล็กกว่า เส้นของใบโค้งขนานไปตามความยาวของใบ ใบกว้าง 2–45 มิลลิเมตร ยาว 9–85 มิลลิเมตร ออกสลับกันที่โคน สีเขียวอ่อน ก้านใบยาวและอวบน้ำ โคนก้านใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มใบที่อ่อนกว่า ด้านในของก้านใบมีเยื่อบางสีขาว ออกดอกเป็นช่อ กลีบสีม่วง ทางก้านใบ มีดอกย่อย 6–15 ดอก ผลมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้รากและเมล็ด

ประโยชน์

แก้

ทางเกษตร

แก้

เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก

ทางอาหาร

แก้

ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอก จะออกในช่วงหน้าฝนใช้รับประทานเป็นผัก นิยมรับประทานทั้งต้น มักเก็บช่วง 2–3 อาทิตย์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้นจะแก่ รับประทานไม่อร่อย วิธีรับประทานเป็นอาหาร จะรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือกับแกงรสจัดของภาคใต้ หรืออาหารรสจัดประเภท ลาบ ยำ ก้อย ส้มตำได้ นอกจากนี้ยังนำไปแกงส้ม แกงกับปลา หรือเนื้อหมู

ทางยา

แก้

ใบของผักเขียด นำมาคั้นน้ำรับประทาน แก้ไอ ขับปัสสาวะ ตำพอกฝี หรือรับประทานใบสดจะมีสรรพคุณ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ

แก้

ผักเขียดมีรสจืด เย็น เหมาะรับประทานเพื่อลดความร้อนในร่างกาย

ผักเขียด 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 13 กิโลแคลอรี[2]ประกอบด้วย

เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง ไนอาซิน วิตามินซี
0.8 กรัม 13 มิลลิกรัม 6 มิลลิกรัม 6 มิลลิกรัม 3000 IU 0.04 มิลลิกรัม 0.10 มิลลิกรัม 0.1 มิลลิกรัม 18 มิลลิกรัม

การแพร่ระบาดทางระบบนิเวศ

แก้

ระบาดในนาข้าวประเภทนาดำและนาหว่านน้ำตม

การป้องกันกำจัด

แก้

เนื่องจากผักเขียดชอบสภาพน้ำขัง การล่อให้งอกจึงต้องให้มีน้ำขังเล็กน้อยและปล่อยให้งอก 1–2 สัปดาห์ แล้วจึงไถกลบทำลาย[3]

อ้างอิง

แก้
  1. วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 30 03 59
  2. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่[1] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. องค์ความรู้เรื่องข้าวสำนักวิจัยและพัฒนา กรมการข้าว เก็บถาวร 2016-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้