วงปี่พาทย์มอญ

(เปลี่ยนทางจาก ปี่พาทย์มอญ)

วงปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีที่มาพร้อมกับชาวมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญได้แก่ ปี่มอญ ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และฆ้องราว

รูปแบบของวง แก้

วงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาดเช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งของไทย ดังนี้

  • วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยระนาดเอก ปี่มอญ ฆ้องมอญวงใหญ่ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะคือฉิ่งและฉาบ โหม่ง
  • วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกันกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เพียงแต่วงนี้ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็กเข้ามา
  • วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกันกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่ได้เพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กเข้ามา

วงปี่พาทย์มอญมีการจัดรูปแบบวงที่แตกต่างจากวงปีพาทย์ของไทยตรงที่ตั้งฆ้องมอญไว้ด้านหน้าสุด ซึ่งการจัดรูปแบบวงนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าใครกำหนดและทำเพื่ออะไร บ้างก็ว่าเพื่อความสวยงามเมื่อมองจากด้านหน้า บ้างก็ว่าเป็นการให้เกียรติวัฒนธรรมมอญ บ้างก็ว่าเป็นเพราะฆ้องมอญทำหน้าขึ้นวรรคเพลงเช่นเดียวกับระนาดเอก

วิวัฒนาการในปัจจุบัน แก้

ในปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญเจริญเติบโตอย่างมาก โดยการขยายวงให้ใหญ่ขึ้นเป็นวงปี่พาทย์มอญวงพิเศษ บางอาจจะมีฆ้องมอญถึง 10 โค้งหรือมากกว่านั้น ทำให้วงปี่พาทย์มอญนอกจากจะใช้เป็นเครื่องประโคมศพแล้ว ยังแสดงถึงเกียรติยศของผู้ตายอีกด้วย

นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยการเพิ่มฆ้องมอญให้มากขึ้นแล้ว ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเครื่องดนตรีเพื่อให้เหมาะสมกับวง คือเปลี่ยนลักษณะของรางระนาดเอกและระนาดทุ้มให้เหมือนกับฆ้องมอญ เพียงแต่ย่อส่วนให้ต่ำลง[1]

โอกาสที่ใช้บรรเลง แก้

วงปี่พาทย์มอญแท้จริงแล้วใช้บรรเลงได้ในงานมงคล แต่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้บรรเลงในงานศพ สืบเนื่องมาจากมีการนำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระบรมศพสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่า พระราชมารดาของพระองค์นั้นทรงมีเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดให้นำวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลง ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เป็นความเชื่อและยึดถือมาโดยตลอดว่า วงปี่พาทย์มอญเล่นเฉพาะงานศพเท่านั้น[2]

งานศพสมัยก่อนนั้นจะใช้เพลงประโคมที่เรียกว่า"ประจำวัด"โดยจะประโคมหลังการสวดพระอภิธรรมเสร็จสิ้น เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์นางหงส์ นอกจากนี้ก็ยังมีเพลงเวียนเมรุ หาบกล้วย จุดเทียน ในยุคหลังๆได้มีครูดนตรีไทยที่มีเชื้อสายมอญแต่งเพลงมอญให้วงปี่พาทย์มอญเช่นประจำบ้าน ย่ำเที่ยง ย่ำค่ำ ฯลฯ

ในยุคปัจจุบันก็มีเพลงมอญเกิดขึ้นอย่างมากมาย ส่วนใหญ่ก็จะนำเพลงที่คนส่วนใหญ่รู้จักนำมาแต่งเป็นสำเนียงมอญ ทำให้เพลงมอญในปัจจุบันมีความแตกต่างจากเพลงมอญโบราณเป็นอย่างมาก[3]

อ้างอิง แก้

  1. พิธีไหว้ครูดนตรีไทย>ปี่พาทย์มอญ
  2. "ลานดนตรีไทย>>ปี่พาทย์มอญ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-18. สืบค้นเมื่อ 2010-09-15.
  3. วงปี่พาทย์(ปี่พาทย์มอญ)@เว็บไซต์ดนตรีไทย ปฎากรณ์ดอตคอม