นาคปรก เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ และมีพญานาคแผ่พังพานขึ้นจากไหล่ไปปรกพระเศียรของพระพุทธรูป นาคปรกมี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิบนขนดพญานาค แบบหนึ่งประทับนั่งสมาธิภายในวงขนดพญานาค คือพญานาคขนดตัวล้อมพระวรกายไว้ถึงพระอังสา เพื่อป้องกันลมฝนตามตำนาน

ลักษณะพระพุทธรูปนาคปรก (แบบที่ 1)
ลักษณะพระพุทธรูปนาคปรก (แบบที่ 2)

ประวัติ แก้

หลังจากที่พระพุทธโคตมได้ทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้แปรที่ประทับเพื่อเสวยวิมุตติสุขยังสถานที่ต่างๆ ในอาณาบริเวณที่ไม่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์นักโดยประทับแต่ละที่สัปดาห์ละ 7 วัน และในสัปดาห์ที่ 6 ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิกน้ำ) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย พญานาคได้ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้ เข้าไปขนด 7 รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้า เพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออก แล้วจำแลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์ ลำดับนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเปล่งอุทานว่า

ความสงัดคือความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้วได้รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความสำรวมไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลาย และ ความเป็นผู้ปราศจากกำหนัดหรือสามารถก้าวล่วงพ้นซึ่งกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขอันประเสริฐในโลก ความขาดจากอัสมิมานะหรือการถือตัวตนหากกระทำให้ (การถือตัว) หมดสิ้นไปได้นั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง

— พระพุทธโคตม

ความสำคัญ แก้

ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น ๗ วัน แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้อันมีชื่อว่า มุจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ วันนั้นเกิดฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคผู้เป็นราชาแห่งนาค ได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย ครั้งฝนหายแล้ว พญานาคจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ในที่เฉพาะพระพักตร์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า "สุโข วิเวโก ตุฏฺฐัสสะ สุตะธัมมัสสะ ปัสสะโต อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก ปาณะภูเตสู สัญญะโม สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกฺกะโม อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ฯ" ความว่า "ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลกความนำออกเสียซึ่งอัสมินมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง"

พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขภายในวงขนดของพญานาคที่ขนดแวดล้อมพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมา เรียกว่า ปางนาคปรก เรื่องพระพุทธรูปปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระองค์อย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพราหมณ์ ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕ ชิ้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม จะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย

ความเชื่อและคตินิยม แก้

  • เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์
  • พระคาถาบูชา สวด 10 จบ (องคุลิมาลปริตร) ดังนี้ "ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิ ชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ"
  • มีบางความเชื่อ เชื่อว่าที่มาของพระพุทธรูปปางนี้ เป็นการผสมผสานความเชื่อของสองศาสนา คือ ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู โดยมีที่มาจากพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ขณะที่บรรทมประทับบนอาสน์พญานาคที่เกษียรสมุทร[1]

อ้างอิง แก้

  1. หน้า 14 ประชาชื่น-ไอที, พระประจำผู้ที่ไม่รู้วันเกิด โดย บางกอกเฮี้ยน. "โลกสองวัย". มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14248: วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษมบุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล