ปัญหา
ปัญหา หมายถึงประเด็นที่เป็นอุปสรรค ความยากลำบาก ความต้านทาน หรือความท้าทาย หรือเป็นสถานการณ์ใด ๆ ที่ต้องมีการแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาจะรับรู้ได้จากผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาหรือผลงานที่นำไปสู่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ประเด็นปัญหาแสดงถึงทางออกที่ต้องการ ควบคู่กับความบกพร่อง ข้อสงสัย หรือความไม่สอดคล้องที่ปรากฏขึ้น ซึ่งขัดขวางมิให้ผลลัพธ์ประสบผลสำเร็จ
ประเภทของปัญหา
แก้ปัญหาอาจจัดแบ่งประเภทได้ด้วยหลายปัจจัย อาทิ
ประเภทของปัญหาแบ่งตามลักษณะทั่วไป-เฉพาะกิจ โดยพีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) แบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ [1]
- ปัญหาทั่วไปโดยแท้จริง - เกิดขึ้นได้บ่อยและทั่วไปในหลายโอกาส ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจสร้างแบบจำลองเพื่อรับมือกับปัญหา ปัญหาจึงสามารถแก้ได้โดยง่าย
- ปัญหาทั่วไป แต่เฉพาะกิจในสถานการณ์เอกเทศ - เมื่อแบบจำลองสำหรับรับมือกับปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาเป็นเรื่อง ๆ ไป ปัญหาลักษณะนี้อาจเกิดซ้ำได้อีกแต่รายละเอียดจะไม่เหมือนกัน
- ปัญหาเฉพาะกิจโดยแท้จริง - รายละเอียดของปัญหาแตกต่างจากปัญหาอื่นโดยสิ้นเชิง เกิดขึ้นได้น้อยและต้องการการวิเคราะห์อย่างสูง เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขอาจจะไม่เกิดปัญหาแบบเดิมอีก
- ปัญหาทั่วไปที่คิดไว้ล่วงหน้าเป็นปัญหาใหม่ - เป็นการเตรียมรับมือปัญหาทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้ปัญหานั้นจะยังไม่เกิด
ประเภทของปัญหาแบ่งตามรากฐานกำเนิด โดยแดเนียล เทยากู (Daniel Theyagu) แบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ [2]
- ปัญหาที่มาจากคำถาม - เกิดขึ้นเมื่อมีคำถามที่ต้องการคำตอบ และบางครั้งมันก็อาจจะยากที่จะให้คำตอบ เพราะอาจต้องรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาตอบคำถามหรือตัดสินใจ
- ปัญหาที่มาจากสถานการณ์ - เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันประสบสภาวะลำบาก ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องเลือกสิ่งหนึ่งและจำใจต้องละทิ้งอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ถูกละทิ้งก็อาจจะเป็นปัญหาใหม่
- ปัญหาที่มาจากการโน้มน้าว - การโน้มน้าวจูงใจจากเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกค้า หรือคนในครอบครัว อาจก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากหากเห็นใจและทำตามการโน้มน้าว อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือหากไม่ทำตามก็จะถูกตำหนิหรือถูกตราหน้าจากเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ดังกล่าว
- ปัญหาที่มาจากการแก้ปัญหา - เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหา หากไม่แก้ปัญหาจะไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ควรมีการวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาเดิมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ประเภทของปัญหาแบ่งตามความคงอยู่ โดยจูแรน (Juran) แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ [3]
- ปัญหาครั้งคราว - เกิดขึ้นไม่บ่อย ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้
- ปัญหาเรื้อรัง - เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สามารถคาดการณ์ได้ อาจแก้ไขให้หมดไปไม่ได้แต่สามารถลดความรุนแรงให้น้อยลงได้
ประเภทของปัญหาแบ่งตามความซับซ้อน โดยเอเมอรี (F.E. Emery) และทริสต์ (E.L. Trist) แบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ [4]
- ปัญหาไม่ซับซ้อนและแก้ได้ด้วยตัวเอง - เป็นปัญหาที่ง่ายต่อการจัดการและกำจัดให้หมดสิ้นไป ด้วยพละกำลังที่ตัวเองมีอยู่
- ปัญหาไม่ซับซ้อนและต้องรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา - เป็นปัญหาที่ยากมากขึ้น ไม่สามารถแก้ได้ด้วยพละกำลังของตัวเอง จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มกับหน่วยอื่นเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
- ปัญหาซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามวิสัย - เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากหรือในระหว่างการแก้ปัญหาอื่น ซึ่งผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา อาจต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา
- ปัญหาซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวร้าว - เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงสูง
อ้างอิง
แก้- ↑ 4 Types of Problems, Sources of Insight.
- ↑ 4 Types of Problem Classification and How to Solve Them, Ezine Articles.
- ↑ ประเภทปัญหา, บล็อกสป็อต.
- ↑ Types of Problems and Organizational Strategy, International Associations 23, 1971, June, pp. 332-334.