ปลาแรดแดง
ปลาแรดแดง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes |
วงศ์: | Osphronemidae |
วงศ์ย่อย: | Osphroneminae |
สกุล: | Osphronemus |
สปีชีส์: | O. laticlavius |
ชื่อทวินาม | |
Osphronemus laticlavius Roberts, 1992 |
ปลาแรดแดง หรือ ปลาแรดแดงอินโด (อังกฤษ: Giant red tail gourami; ชื่อวิทยาศาสตร์: Osphronemus laticlavius) เป็นปลาแรดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างโดยทั่วไปเหมือนปลาแรดชนิดอื่น ๆ แต่ทว่าปลาแรดแดงจะมีรูปร่างที่ยาวกว่า และพบได้เฉพาะในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้น มีลำตัวสีแดงสด ยิ่งเมื่อปลาโตขึ้นเท่าไหร่ สีดังกล่าวจะยิ่งเข้มตามด้วย จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ปลาแรดแดงจะมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปลาแรดชนิดอื่น ๆ และขนาดเมื่อโตเต็มที่จัดว่าเป็นปลาแรดชนิดที่เล็กที่สุดด้วย กล่าวคือมีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตรเท่านั้น และมีนิสัยดุร้ายก้าวร้าวน้อยที่สุด ตัวผู้และตัวเมียมีจุดสีดำเหนือโคนครีบอกทั้งคู่ แตกต่างกันตรงที่ขนาดของลำตัว
โดยแรกนั้น ปลาแรดแดง ได้ถูกนำมาสู่ประเทศไทยในฐานะปลาสวยงาม ราวปี พ.ศ. 2528-2529 ในชื่อ "ปลาแรดซูเปอร์เรด" (เรียกตามปลาอะโรวาน่าแดงอินโด) ในราคาหลักหมื่นบาท และมีการโฆษณาว่าหากเลี้ยงไว้จะสามารถป้องกันคุณไสยได้ด้วย โดยที่ปลาแรดแดงยังมิได้มีการอนุกรมวิธานแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 ปลาแรดแดงตัวหนึ่งของร้านขายปลาสวยงามร้านหนึ่งในตลาดนัดจตุจักรได้ตายลง กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักมีนวิทยาและนักสำรวจธรรมชาติชาวไทย จึงได้นำตัวอย่างปลาไปให้แก่ ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส์ นักมีนวิทยาชาวอเมริกันที่กำลังศึกษาเรื่องปลาอยู่ยังประเทศไทย นับเป็นตัวอย่างต้นแบบแรก (Holotype) ของปลาแรดแดง จนได้รับการอนุกรมวิธานและตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า 113-114, The Giant Gourami "แรด" ในตำนาน คอลัมน์ Rare Collection โดย RoF, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 29: พฤศจิกายน 2012