ประวัติศาสตร์ยะไข่

ประวัติศาสตร์ยะไข่ เริ่มจากชาวยะไข่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในบริเวณรัฐยะไข่ปัจจุบันเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนหน้านั้นบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวอินเดียที่มาจากฝั่งตะวันตกของอ่าวเบงกอล ราชวงศ์ที่ปกครองยะไข่ในช่วงแรกเป็นราชวงศ์ของชาวอินเดีย ศาสนาพุทธเข้าสู่ยะไข่ก่อนบริเวณอื่น ๆ ในพม่า บริเวณนี้มักถูกชาวไทใหญ่ พม่าและเบงกอลเข้าปล้นสะดม จนในที่สุด ชาวพม่าได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างถาวร นครโบราณที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจในยะไข่ ได้แก่ เมืองธัญญวดีและเมืองเวสาลี ที่คาดว่าปกครองโดยกษัตริย์จากอินเดียเชื้อสายจันทรวงศ์[1]

อาณาจักรยะไข่

เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 พระเจ้าอโนรธามังช่อแห่งอาณาจักรพุกามยกทัพมาโจมตียะไข่ ทำให้ยะไข่ต้องรบกับพุกาม จนกระทั่งพุกามแพ้มองโกลเมื่อ พ.ศ. 1830 ยะไข่จึงได้เป็นอิสระ แต่ไม่นานหลังจากนั้น ยะไข่เผชิญกับการรุกรานของแคว้นเบงกอลแต่สามารถต้านทานไว้ได้ ต่อมาใน พ.ศ. 1947 พม่าได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในยะไข่อีก พระเจ้านรเมขลาได้ไปขอความช่วยเหลือจากเบงกอล เบงกอลยกทัพมาช่วยยะไข่ขับไล่กองทัพพม่าออกไปได้ใน พ.ศ. 1973 แต่ยะไข่ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของเบงกอล กษัตริย์ยะไข่ต้องมีพระนามแบบอิสลามต่อท้ายแม้จะนับถือศาสนาพุทธก็ตาม จนกระทั่งพระเจ้ามินการีหรืออาลีบัน พระอนุชาของพระเจ้านรเมขลาได้ประกาศเอกราชจากเบงกอล แต่ยังได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากเบงกอลอยู่ กษัตริย์เบงกอลเป็นผู้พระราชทานนามแบบอิสลามให้แก่กษัตริย์ยะไข่จนถึง พ.ศ. 2074 ยะไข่ในรัชสมัยของพระเจ้าปสอผะยูยังสามารถยึดครองจิตตะกอง ได้และปกครองเรื่อยมาจนถึงพ.ศ. 2209[1]

ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ยะไข่พบกับความวุ่นวายทางการเมือง มีความมั่นคงอีกครั้งในสมัยพระเจ้ามี่นบีน ซึ่งเป็นอิสระจากเบงกอลอย่างแท้จริง และต้านทานกองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีแผนจะโจมตียะไข่ใน พ.ศ. 2124 แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อน ยะไข่จึงเป็นฝ่ายเข้าปล้นหงสาวดีและยึดเมืองสิเรียมได้ กษัตริย์ยะไข่แต่งตั้งให้ฟิลิป เดอ บริโตเป็นเจ้าเมืองสิเรียม แต่ภายหลังบริโตแข็งข้อต่อยะไข่ ยะไข่ยกทัพมาปราบไม่สำเร็จ ภายหลังบริโตถูกพม่าจับตัวและสังหารในพ.ศ. 2154 ชาวโปตุเกสที่เหลือได้ยอมอ่อนน้อมต่อยะไข่

ในรัชกาลพระเจ้าสันทสุธรรม เป็นช่วงที่ยะไข่มีความรุ่งเรืองมาก แต่ในรัชกาลของพระองค์เกิดสงครามกับจักรวรรดิโมกุลของอินเดีย ราชวงศ์โมกุลยึดจิตตะกองไปได้ใน พ.ศ. 2209 หลังสงครามครั้งนั้น ยะไข่อ่อนแอลง เกิดความวุ่นวายภายในแคว้น จน พ.ศ. 2253 มหาดันดาโบปราบปรามกลุ่มต่าง ๆ ได้และขึ้นครองราชย์ในนามพระเจ้าสันทวิชัย พระองค์พยายามโจมตีเมืองแปรและเมืองมะลุนของพม่า และพยายามยึดจิตตะกองคืนจากเบงกอลแต่ไม่สำเร็จ หลังจากพระเจ้าสันทวิชัยถูกลอบปลงพระชนม์ใน พ.ศ. 2274 ยะไข่ก็เกิดความวุ่นวายทางการเมืองตลอดมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2327 พม่าเข้ามายึดครองยะไข่ได้สำเร็จ

ในช่วงที่พม่าเข้าปกครองยะไข่ มีการบังคับกดขี่ชาวยะไข่มาก จนไม่เป็นที่พอใจทั้งชาวพุทธยะไข่และชาวมุสลิมโรฮีนจา มีการเกณฑ์ชาวยะไข่เข้าร่วมในกองทัพพม่าที่ไปโจมตีหัวเมืองล้านนาของสยาม เกณฑ์เชลยไปขุดทะเลสาบเมะทีลาและสร้างเจดีย์มินกุน ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก[1] ชาวยะไข่บางส่วนหนีการกดขี่ของพม่าเข้าไปยังเบงกอลและเกิดกบฏของชาวยะไข่ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2337 แต่ก็ไม่สิ้นสุดลง ปัญหากบฏยะไข่ทำให้พม่ากระทบกระทั่งกับอังกฤษที่เข้ามาปกครองเบงกอล กบฏครั้งสำคัญนำโดยซินบยันที่รวบรวมกำลังพลจากเขตฟื้นที่ปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออกใน พ.ศ. 2354 สามารถยึดเมืองเมียวอองหรือมะโรอองได้แต่ต้องเลิกทัพกลับไปเพราะอังกฤษไม่สนับสนุน ซินบยันพำนักในเขตอำนาจของอังกฤษจนสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2358[1] อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2457 พม่าได้ตามจับพนักงานของบริษัทอีสต์อินเดียที่เข้าไปจับช้างในยะไข่ แล้วเข้าไปในเขตพม่าจนบานปลายกลายเป็นสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง ซึ่งพม่าเป็นฝ่ายแพ้ พม่าต้องยกยะไข่ให้อังกฤษ และเมื่ออังกฤษยึดครองพม่าได้ทั้งหมด อังกฤษปกครองยะไข่ในฐานะส่วนหนึ่งของพม่าไม่ใช่รัฐของชนกลุ่มน้อย

การปกครองของอังกฤษทำให้ชาวอินเดียมุสลิมเข้ามาอยู่ในพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะในยะไข่ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ จนเกิดการฆ่าฟันกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวพุทธยะไข่เข้าร่วมกับกลุ่มชาตินิยมพม่าที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น ส่วนชาวมุสลิมโรฮีนจาร่วมมือกับอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนสองกลุ่มนี้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สันนิบาตเสรีภาพประชาชนฯได้จัดให้ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธที่อพยพมาอยู่ทางภาคใต้กลับขึ้นไปอยู่ทางเหนือที่มีมุสลิมอยู่หนาแน่นมากขึ้น จัดให้ชาวยะไข่พุทธมารับตำแหน่งบริหารแทนชาวมุสลิมที่อังกฤษแต่งตั้งไว้ ทำให้ชาวพุทธและมุสลิมปะทะกันอีก โรฮีนจาบางส่วนเรียกร้องให้นำยะไข่เหนือไปรวมกับปากีสถานตะวันออกแต่ปากีสถานไม่เห็นด้วย ในที่สุดยะไข่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่าใน พ.ศ. 2491 ชาวมุสลิมโรฮีนจาได้เรียกร้องต่อมาให้ตั้งเขตบริหารชายแดนมยูขึ้นในยะไข่ ซึ่งรัฐบาลอูนุได้รับหลักการใน พ.ศ. 2504 แต่ในปีต่อมาเกิดรัฐประหารโดยนายพลเน วิน และการตั้งเขตบริหารชายแดนดังกล่าวถูกยกเลิกไป[1] ยะไข่ได้ยกสถานะขึ้นเป็นรัฐในพม่าใน พ.ศ. 2517

มุสลิมในยะไข่ได้จัดตั้งกองกำลังมุญาฮิดีนเพื่อก่อกวนรัฐบาลและชาวพุทธ ส่วนยะไข่พุทธนั้นก็ก่อกบฏขึ้นใน พ.ศ. 2490 นำโดยพระสงฆ์ชื่ออูเซงดาเพื่อแยกยะไข่ออกจากพม่า กบฏนี้ได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าแต่ฝ่ายรัฐบาลปราบปรามได้ เหตุการณ์กบฏในยะไข่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะชาวมุสลิม แต่รัฐบาลพม่าก็เข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ในปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างชาวยะไข่พุทธและโรฮีนจามุสลิมยังมีอยู่ในยะไข่

อ้างอิง แก้

  • วิไลเลขา ถาวรธนสาร. อาระกัน ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 247 - 252
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ดุลยภาค ปรีชารัชช. โรฮิงญา รัฐ ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์และความขัดแย้ง. กรุงเทพฯ: มติชน. 2558