ประธานาธิบดีศรีลังกา
ประธานาธิบดีศรีลังกา (สิงหล: ජනාධිපති, ทมิฬ: ஜனாதிபதி, ชนาธิปติ) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นประมุขแห่งรัฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้ารัฐบาลในทางนิตินัย และจอมทัพแห่งประเทศศรีลังกา[4]
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา | |
---|---|
สมาชิกของ | คณะรัฐมตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติ |
จวน | บ้านพักประธานาธิบดี |
ที่ว่าการ | โคลัมโบ |
ผู้แต่งตั้ง | การเลือกตั้งโดยตรง[1] |
วาระ | 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ[2] |
ตราสารจัดตั้ง | รัฐธรรมนูญ |
รอง | นายกรัฐมนตรี |
เงินตอบแทน | 1,170,000 รูปีศรีลังกาต่อปี (ค.ศ. 2016)[3] |
เว็บไซต์ | president Presidential Secretariat |
รัฐธรรมนูญศรีลังกา ค.ศ. 1978 ให้ประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกตั้งมาโดยตรงในการเลือกตั้งทั่วไปเป็นหัวหน้ารัฐบาล และให้ประธานาธิบดีเลือกสรรรัฐมนตรีจากสมาชิกรัฐสภา[1]
สำหรับหน้าที่และอำนาจนั้น รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมทางพิธีการของรัฐสภา สามารถเข้าประชุมรัฐสภาโดยได้รับเอกสิทธิ์กับความคุ้มกันในทางรัฐสภา สามารถเรียกประชุม งดประชุม และยุบรัฐสภา สามารถสั่งให้มีการออกเสียงประชามติ ประกาศสงคราม ประกาศสันติภาพ อภัยโทษ และลดโทษ[4] นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังให้ประธานาธิบดีรักษาและใช้ลัญจกรแผ่นดิน ซึ่งเป็นดวงตราสำหรับการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐ (เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และตุลาการระดับสูง) และการจัดสรรที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นของรัฐ[4]
อนึ่ง รัฐธรรมนูญคุ้มกันประธานาธิบดีจากการถูกดำเนินคดีในขณะดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าเป็นคดีเรื่องส่วนตัวหรือคดีเรื่องหน้าที่ทางการ[4]
เดิมรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ต่อมาการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 18 เมื่อ ค.ศ. 2010 ยกเลิกข้อจำกัดเรื่องวาระ ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 19 เมื่อ ค.ศ. 2015 กลับไปจำกัดที่ 2 วาระดังเดิม[2] ประธานาธิบดีต้องสาบานตนเข้ารับตำแหน่งต่อหน้าประธานศาลสูงสุด[4] ถ้าประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่แทน และจะมีการเลือกสรรรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในคณะรัฐมนตรีขึ้นทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว[4]
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ อนุระ กุมาระ ทิสานายกะ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2024
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Arasaratnam, S (10 กรกฎาคม 2022). "Sri Lanka". Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022.
- ↑ 2.0 2.1 "Strides in the right direction". The Economist. 30 เมษายน 2015. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022.
- ↑ Thomas, Kris (21 พฤศจิกายน 2016). "Of Ministers' Salaries And Parliamentary Perks". Roar.lk. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2017.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "The Presidency". President of Sri Lanka. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2020-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ในภาษาอังกฤษ)