ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ
ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ (อังกฤษ: Chief Justice of the United States) เป็นประมุขแห่งศาลสหรัฐทั้งปวง และเป็นประมุขของศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court of the United States) โดยเป็นหนึ่งในตุลาการศาลสูงสุดเก้าคน แปดคนที่เหลือเรียก ตุลาการสมทบในศาลสูงสุดสหรัฐ (Associate Justice of the Supreme Court of the United States)
ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ | |
---|---|
Chief Justice of the United States | |
การเรียกขาน | ใต้เท้า |
ผู้แต่งตั้ง | ประธานาธิบดีเสนอชื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ |
วาระ | ตลอดอายุขัย |
ผู้ประเดิมตำแหน่ง | จอห์น เจย์ (26 กันยายน ค.ศ. 1789) |
สถาปนา | รัฐธรรมนูญสหรัฐ (4 มีนาคม ค.ศ. 1789) |
เว็บไซต์ | Supremecourt.gov |
ประธานศาลสูงสุดเป็นข้าราชการตุลาการชั้นสูงที่สุดในประเทศ กับทั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ธุรการ (chief administrative officer) ของฝ่ายตุลาการ และแต่งตั้งผู้อำนวยสำนักงานธุรการศาลสหรัฐ (director of the Administrative Office of the United States Courts) ประธานศาลสูงสุดยังเป็นโฆษกสำหรับองค์กรตุลาการของประเทศอีกด้วย
ประธานศาลสูงสุดอำนวยกิจการทั้งปวงของศาลสูงสุด นั่งเป็นประธานในการพิจารณาคดีทั้งหมดของศาลสูงสุด โดยเฉพาะในการแถลงการณ์ด้วยวาจา และเมื่อศาลสูงสุดจะทำความเห็นในการวินิจฉัยคดี ถ้าประธานศาลสูงสุดอยู่เสียงข้างมาก ประธานศาลสูงสุดจะสามารถกำหนดให้ตุลาการคนใดทำคำพิพากษากลางขึ้นได้ ประธานศาลสูงสุดยังกำหนดระเบียบวาระสำคัญในการประชุมของศาลสูงสุดด้วย นอกจากนี้ เมื่อวุฒิสภาดำเนินคดีอาญาต่อประธานาธิบดี ซึ่งเคยมีมาแล้วสองคราวในหน้าประวัติศาสตร์ ประธานศาลสูงสุดจะเป็นประธานในการพิจารณาคดี ปัจจุบัน ประธานศาลสูงสุดยังมีหน้าที่ที่ตกผลึกมาทางประเพณีอีก คือ เป็นประธานในพิธีให้สัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี
จอห์น เจย์ (John Jay) เป็นประธานศาลสูงสุดคนแรก และ จอห์น จี. รอเบิตส์ จูเนียร์ (John G. Roberts, Jr.) เป็นประธานศาลสูงสุดคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลำดับที่สิบเจ็ด
ภูมิหลัง
แก้รัฐธรรมนูญสหรัฐมิได้สถาปนาตำแหน่งประธานศาลสูงสุดไว้โดยชัดแจ้ง แต่กล่าวเป็นนัยถึงการมีอยู่ของตำแหน่งนี้ไว้ในบทบัญญัติเพียงมาตราเดียว คือ หมวด 1 มาตรา 3 ข้อ 6 ซึ่งว่า "ในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐนั้น ให้ประธานศาลสูงสุดนั่งเป็นประธาน" และไม่มีกล่าวถึงอีกเลย แม้แต่ความต่างระหว่างประธานศาลสูงสุดกับตุลาการสมทบในศาลสูงสุดก็ไม่มีการเอ่ยถึง
แต่เดิมในภาษาอังกฤษ ชื่อตำแหน่งนี้ใช้ว่า "Chief Justice of the Supreme Court of the United States" (หัวหน้าตุลาการศาลสูงสุดสหรัฐ) ต่อมา มาตรา 1 ใน ลักษณะ 28 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ เปลี่ยนไปใช้ว่า "Chief Justice of the United States" (หัวหน้าตุลาการสหรัฐ) ตามข้อเสนอของ แซลเมิน พี. เชส (Salmon P. Chase) ประธานศาลสูงสุดคนที่หก ผู้ต้องการเน้นย้ำบทบาทฝ่ายตุลาการให้เสมอกับฝ่ายบริหารที่ตำแหน่งประธานาธิบดีใช้ว่า "President of the United States" อย่างไรก็ดี ตำแหน่งตุลาการสมทบในศาลสูงสุดในภาษาอังกฤษยังคงใช้ว่า "Associate Justices of the Supreme Court of the United States" (ตุลาการสมทบในศาลสูงสหรัฐ) มิใช่ "Associate Justices of the United States" (ตุลาการสมทบแห่งสหรัฐ)
เช่นเดียวกับตุลาการทุกคนในศาลของสหรัฐ ประธานศาลสูงสุดได้มาโดยวิธีที่ประธานาธิบดีสหรัฐเสนอชื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญสหรัฐว่า "ตุลาการศาลสูงสุดทุกคน ให้อยู่ในตำแหน่งตราบที่มีสภาวการณ์อันดี" หมายความว่า ตุลาการเหล่านั้นจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือถูกฝ่ายนิติบัญญัติไต่สวนและลงโทษ ส่วนเงินเดือนของประธานศาลสูงสุดนั้น รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะสูงกว่าของตุลาการสมทบในศาลสูงสุดเพียงเล็กน้อย นับแต่ ค.ศ. 2010 สืบมา ประธานศาลสูงสุดได้รับเงินปีละ 223,500 ดอลลาร์สหรัฐ[1]
ในทางประเพณีแล้ว อำนาจแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดเป็นของประธานาธิบดี แต่ก็รัฐธรรมนูญก็มิได้ห้ามใช้กระบวนการเลือกสรรอย่างอื่นนอกจากการที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรอง ดังนั้น จึงมีนักวิชาการบางคนเสนอว่า ควรให้ฝ่ายตุลาการเลือกประธานศาลสูงสุดกันเอง แล้วเสนอชื่อให้ประธานาธิบดีแต่งตั้ง ไม่ต้องให้ผู้ใดรับรองอีก[2]
มีประธานศาลสูงสุดบางคน เช่น วิลเลียม เรห์นควิสต์ (William Rehnquist) เลื่อนมาจากตำแหน่งตุลาการสมทบในศาลสูงสุด ในกรณีเช่นนี้ จำต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ก็จะกลับไปดำรงตำแหน่งตุลาการสมทบดังเดิม ประธานศาลสูงสุดส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึง จอห์น รอเบิตส์ (John Roberts) ได้รับแต่งตั้งมาโดยยังไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ในศาลสูงสุดมาก่อน ขณะที่บางคน เช่น เอิร์ล วาร์เรน (Earl Warren) ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านตุลาการเลย
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีบุคคลสิบแปดคนได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนี้ และได้รับความเห็นชอบ แต่มีเพียงหนึ่งคนที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งจริง คือ วิลเลียม คัชชิง (William Cushing) ซึ่งได้รับเลือกในเดือนมกราคม ค.ศ. 1796 แต่ปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง โอลิเวอร์ เอลส์เวิร์ธ (Oliver Ellsworth) จึงเข้าสู่ตำแหน่งแทน ทว่า วุฒิสภาไม่รับรองเขา และเห็นชอบให้ จอห์น เจย์ (John Jay) กลับมารับตำแหน่งประธานศาลสูงสุดอีกครั้ง และจอห์น เจย์ ก็บอกปัดตำแหน่งอีก โดยให้เหตุผลทางสุขภาพ และระบุว่าตนมองว่าตำแหน่งในศาลสูงสุดนั้นไร้เกียรติ ในที่สุดจอห์น มาร์แชล (John Marshall) จึงได้รับการเสนอชื่อและความเห็นชอบต่อมา
เมื่อประธานศาลสูงสุดอสัญกรรมในตำแหน่ง หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือไม่สมัครใจปฏิบัติหน้าที่ ตุลาการสมทบในศาลสูงสุดคนที่มีอาวุโสมากที่สุดจะปฏิบัติหน้าที่แทนไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ประธานศาลสูงสุดคนใหม่[2]
อำนาจและหน้าที่
แก้นอกจากอำนาจและหน้าที่อย่างตุลาการสมทบในศาลสูงสุดแล้ว ประธานศาลสูงสุดยังมีอำนาจหน้าที่พิเศษบางประการอีก คือ
การดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แก้รัฐธรรมนูญสหรัฐ หมวด 1 มาตรา 3 ว่า ในคดีอาญาต่อประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งดำเนินโดยวุฒิสภานั้น ให้ประธานศาลสูงสุดนั่งเป็นประธาน
ในประวัติศาสตร์ มีการดำเนินคดีอาญาต่อประธานาธิบดีมาแล้วสองครั้ง ประธานศาลสูงสุดที่ได้นั่งเป็นประธาน คือ แซลมอน พี. เชส (Salmon P. Chase) และ วิลเลียม เรห์นควิสต์ (William Rehnquist) โดยเชสออกนั่งบังลังก์ใน ค.ศ. 1868 สำหรับคดีของประธานาธิบดี แอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson) และเรห์นควิสต์ออกนั่งบัลลังก์ใน ค.ศ. 1999 สำหรับคดีของประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton)
ความอาวุโส
แก้ประธานศาลสูงสุดถือว่าเป็นตุลาการที่อาวุโสสูงสุดในประเทศ ไม่ว่าอันที่จริงแล้วจะเคยดำรงตำแหน่งทางตุลาการมามากน้อยเพียงไรก็ตาม เพราะฉะนั้น ในการประชุมปรึกษาคดีทั้งปวง ประธานศาลสูงสุดจึงนั่งเป็นประธาน และโดยที่ปรกติแล้วประธานศาลสูงสุดมีสิทธิแสดงความคิดเห็นก่อนผู้อื่น ประธานศาลสูงสุดจึงมีบทบาทในการกำหนดกรอบการประชุมปรึกษาคดี
ประธานศาลสูงสุดยังกำหนดระเบียบวาระการประชุมของทุกสัปดาห์ ซึ่งมีการพิจารณาคำร้องขอให้มีคำสั่งเรียกสำนวนจากศาลล่างขึ้นมา เพื่อวินิจฉัยว่าจะรับหรือจะยกคดีใด ๆ
แม้ว่ามีความอาวุโสและเกียรติยศที่เพิ่มเข้ามาแล้ว คะแนนเสียงของประธานศาลสูงสุดไม่มีค่ามากกว่าของตุลาการสมทบในศาลสูงสุดคนอื่น ๆ ประธานศาลสูงสุดไม่มีอำนาจกลับคำพิพากษาหรือการตีความของตุลาการสมทบในศาลสูงสุดคนอื่น ๆ กับทั้งไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับตุลาการทั้งหลายเลย อย่างไรก็ดี ในฐานะที่มีอาวุโสสูงสุด ถ้าประธานศาลสูงสุดอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก ประธานศาลสูงสุดจะสามารถกำหนดให้ตุลาการคนใดรับผิดชอบเขียนคำพิพากษากลางของศาล และอาจกำหนดให้ตนรับหน้าที่นั้นเองก็ได้ ในหลาย ๆ กรณี ตุลาการสองคนอาจเขียนคำพิพากษาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้ แม้ว่าอยู่ฝ่ายเสียงข้างมากเหมือนกัน และคำพิพากษากลางนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับศาลล่างในการวินิจฉัยคดีสืบไปในอนาคต
คำสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง
แก้ประธานศาลสูงสุดเป็นประธานในพิธีให้สัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี โดยประธานศาลสูงสุดจะเรียกให้ประธานาธิบดียืนยันสัตย์ปฏิญาณ หน้าที่นี้เป็นประเพณีมากกว่าเป็นข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้ประธานาธิบดีต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าผู้ใดโดยเฉพาะ เพียงระบุว่าให้ประธานาธิบดีสาบานตนเมื่อเข้ารับตำแหน่งเท่านั้น
ถ้าประธานศาลสูงสุดไม่อาจเป็นประธานในพิธีดังกล่าวได้ ตุลาการศาลสูงสุดคนที่มีอาวุโสถัดลงมาจะปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งเคยมีมาแล้วเจ็ดครั้ง คือ[3]
- รอเบิร์ต ลีวิงสตัน (Robert Livingston) ประธานศาลชานเซอรีแห่งรัฐนิวยอร์ก (Court of Chancery of New York) เป็นประธานในพิธีให้สัตย์ปฏิญาณของ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เมื่อเข้ารับตำแหน่งครั้งแรก เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีศาลสูงสุดระดับประเทศ และไม่มีศาลระดับสหรัฐด้วย[3]
- วิลเลียม คัชชิง (William Cushing) ตุลาการสมทบในศาลสูงสุด เป็นประธานในพิธีเข้ารับตำแหน่งครั้งที่สองของประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ใน ค.ศ. 1793.[3]
- เจ้าพนักงานรับรองเอกสารซึ่งเป็นบิดาของประธานาธิบดี คาลวิน คูลิดจ์ (Calvin Coolidge) เป็นประธานในพิธีเข้ารับตำแหน่งของคาลวิน หลังจาก วาร์เรน จี. ฮาร์ดิง ประธานาธิบดี ถึงแก่อสัญกรรม[4] พิธีให้สัตย์ปฏิญาณนี้ได้รับการโต้แย้งเป็นอันมาก เพราะเจ้าพนักงานรับรองเอกสารมิใช่เจ้าพนักงานฝ่ายตุลาการ เมื่อคาลวินกลับถึงกรุงวอชิงตันแล้ว จึงประกอบพิธีอีกครั้ง โดยมี แอดอล์ฟ เอ. เฮอห์ลิง จูเนียร์ (Adolph A. Hoehling, Jr.) ตุลาการศาลแขวงแห่งอำเภอโคลัมเบีย เป็นประธาน[5]
- แซราห์ ที. ฮิวซ์ (Sarah T. Hughes) ตุลาการศาลแขวง เป็นประธานพิธีให้สัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นซัน (Lyndon Johnson) หลังจาก จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ถูกลอบฆ่า[3]
- ครั้งอื่น ๆ คือ พิธีของประธานาธิบดี จอห์น ไทเลอร์ (John Tyler), มิลลาร์ด ฟิลมอร์ (Millard Fillmore), เชสเตอร์ เอ. อาร์เธอร์ (Chester A. Arthur) และ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)
นอกจากนี้ ประธานศาลสูงสูดยังเป็นประธานในพิธีให้สัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งของตุลาการสมทบในศาลสูงสุดที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ด้วย ส่วนประธานศาลสูงสุดเอง โดยปรกติ จะให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้าตุลาการสมทบในศาลสูงสุดที่มีอาวุโสมากที่สุด
อำนาจและหน้าที่อย่างอื่น
แก้ประธานศาลสูงสุดยัง
- เป็นประมุของค์กรตุลาการแห่งสหรัฐ
- เป็นประธานที่ประชุมใหญ่ตุลาการสหรัฐ และประธานกรรมการศาลสหรัฐ โดยที่ประชุมใหญ่ฯ นั้นมีอำนาจหน้าที่วางข้อกำหนดทั้งหลายของศาลสูงสุดโดยได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาสหรัฐ เพื่ออำนวยการปฏิบัติงานของศาลสหรัฐ ข้อกำหนดที่สำคัญ ได้แก่ ข้อกำหนดสหพันธ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแพ่ง (Federal Rules of Civil Procedure) และข้อกำหนดสหพันธ์ว่าด้วยพยานหลักฐาน (Federal Rules of Evidence)
- แต่งตั้งตุลาการไปนั่งพิจารณาคดีในศาลสหรัฐสำหรับเฝ้าระวังราชการลับของต่างประเทศ (United States Foreign Intelligence Surveillance Court) ทำคดีเกี่ยวกับหน่วยงานราชการลับของต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา
- แต่งตั้งองค์คณะตุลาการสำหรับคดีหลายเขตศาล (Judicial Panel on Multidistrict Litigation) ประกอบด้วย ตุลาการเจ็ดคน รับผิดชอบดำเนินกระบวนการก่อนพิจารณา สำหรับคดีหลายเรื่องซึ่งเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนและฟ้องในเขตศาลหลายศาลต่างกัน
- เป็นกรรมการสภาสถาบันสมิธโซเนียนโดยตำแหน่ง และเป็นอธิการบดีสถาบันสมิธโซเนียนตามประเพณี
- ควบคุมการได้มาซึ่งหนังสือในห้องสมุดกฎหมายของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน[6]
ประธานศาลสูงสุด และตุลาการทั้งหลายในองค์กรตุลาการของสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องห้ามดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ซึ่งต่างจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐธรรมนูญห้ามดำรงตำแหน่งใด ๆ เพื่อแสวงหาผลกำไรระหว่างดำรงสมาชิกภาพในสภานั้น ๆ ประธานศาลสูงสุดจอห์น เจย์ เคยเป็นทูตในการเจรจาสนธิสัญญาเจย์ (Jay Treaty) หรือ "สนธิสัญญาแห่งลอนดอน ค.ศ. 1794" (Treaty of London, 1794) และเอิร์ล วาร์เรน เคยเป็นประธานกรรมการสอบสวนการลอบฆ่าประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
แก้มาตรา 3 ใน ลักษณะ 28 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ว่า ถ้าประธานศาลสูงสุดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานศาลสูงสุดหากว่างลง ให้ตุลาการสมทบในศาลสูงสุด ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด และสามารถปฏิบัติการได้ ทำหน้าที่ของประธานศาลสูงสุดไปพลางก่อน
ทำเนียบประธานศาลสูงสุด
แก้ลำดับ | ชื่อ | รูป | ระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง | ความยาวนานที่อยู่ในตำแหน่ง | ประธานาธิบดีผู้เสนอชื่อ |
---|---|---|---|---|---|
1 | จอห์น เจย์ (John Jay) | 26 กันยายน 1789–29 กรกฎาคม 1795 | 5 ปี 276 วัน | จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) | |
2 | จอห์น รูตเลดจ์ (John Rutledge)[ก], [ข] | 1 กรกฎาคม 1795–28 ธันวาคม 1795 | 0 ปี 180 วัน | ||
3 | โอลิเวอร์ เอลส์เวิร์ธ (Oliver Ellsworth) | March 4, 1796–September 30, 1800 | 4 ปี 210 วัน | ||
4 | จอห์น มาร์แชล (John Marshall) | January 31, 1801–July 6, 1835[จ] | 34 ปี 156 วัน | จอห์น แอดัมส์ (John Adams) (พรรคนิยมสหพันธรัฐ) | |
5 | โรเจอร์ บี. แทนีย์ (Roger B. Taney) | March 15, 1836–October 12, 1864[จ] | 28 ปี 211 วัน | แอนดริว แจ็กซัน (Andrew Jackson) (พรรคแดโมแครต) | |
6 | แซลเมิน พี. เชส (Salmon P. Chase) | December 6, 1864–May 7, 1873[จ] | 8 ปี 91 วัน | แอบราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) (พรรครีพับลิกัน) | |
7 | มอร์ริซัน ไวต์ (Morrison Waite) | March 4, 1874–March 23, 1888[จ] | 14 ปี 19 วัน | ยูลีซซีส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant) (พรรครีพับลิกัน) | |
8 | เมลวิล ฟุลเลอร์ (Melville Fuller) | October 8, 1888–July 4, 1910[จ] | 21 ปี 239 วัน | โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) (พรรคเดโมแครต) | |
9 | เอ็ดเวิร์ด ดักลัส ไวต์ (Edward Douglass White)[ค] | December 19, 1910–May 19, 1921[จ] | 10 ปี 158 วัน | วิลเลียม เฮาเวิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft) (พรรครีพับลิกัน) | |
10 | วิลเลียม เฮาเอิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft)[ง] | July 11, 1921–February 3, 1930 | 8 ปี 207 วัน | วาร์เรน จี. ฮาร์ดิง (Warren G. Harding) (พรรครีพับลิกัน) | |
11 | ชาลส์ อีแวนส์ ฮิวส์ (Charles Evans Hughes)[ข] | February 24, 1930–June 30, 1941 | 11 ปี 126 วัน | เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) (พรรครีพับลิกัน) | |
12 | ฮาร์ลาน ฟิสก์ สโตน (Harlan Fiske Stone)[ค] | July 3, 1941–April 22, 1946[จ] | 4 ปี 293 วัน | แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) (พรรคเดโมแครต) | |
13 | เฟร็ด เอ็ม. วินซัน (Fred M. Vinson) | June 24, 1946–September 8, 1953[จ] | 7 ปี 76 วัน | แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) (พรรคเดโมแครต) | |
14 | เอิร์ล วอร์เรน (Earl Warren) | October 5, 1953–June 23, 1969 | 15 ปี 261 วัน | ดไวต์ ดี. ไอเซนเฮาว์ (Dwight D. Eisenhower) (พรรครีพับลิกัน) | |
15 | วอร์เรน อี. เบอร์เกอร์ (Warren E. Burger) | June 23, 1969–September 26, 1986 | 17 ปี 95 วัน | ริชาร์ด นิกซัน (Richard Nixon) (พรรครีพับลิกัน) | |
16 | วิลเลียม เรห์นควิสต์ (William Rehnquist)[ค] | September 26, 1986–September 3, 2005[จ] | 18 ปี 342 วัน | โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) (พรรครีพับลิกัน) | |
17 | จอห์น จี. รอเบิตส์ (John G. Roberts) | September 29, 2005–present | 7025 วัน (นับถึงปัจจุบัน) | จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) (พรรครีพับลิกัน) |
ดูเพิ่ม
แก้เชิงอรรถ
แก้- ↑ "About.com". Usgovinfo.about.com. 2010-01-27. สืบค้นเมื่อ 2010-05-15.
- ↑ 2.0 2.1 Pettys, Todd E. (2006). "Choosing a Chief Justice: Presidential Prerogative or a Job for the Court?". Journal of Law & Politicis. 22: 231.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Library of Congress. "Presidential Inaugurations: Presidential Oaths of Office."
- ↑ "Excerpt from Coolidge's autobiography". Historicvermont.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-31. สืบค้นเมื่อ 2010-05-15.
- ↑ "Prologue: Selected Articles". Archives.gov. สืบค้นเมื่อ 2010-05-15.
- ↑ "Jefferson's Legacy: A Brief History of the Library of Congress". Library of Congress. 2006-03-06. สืบค้นเมื่อ 2008-01-14.
อ่านเพิ่ม
แก้- Abraham, Henry J. (1992). Justices and Presidents: A Political History of Appointments to the Supreme Court (3rd ed.). New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-506557-3.
- Cushman, Clare (2001). The Supreme Court Justices: Illustrated Biographies, 1789–1995 (2nd ed.). (Supreme Court Historical Society, Congressional Quarterly Books). ISBN 1568021267.
- Flanders, Henry. The Lives and Times of the Chief Justices of the United States Supreme Court. Philadelphia: J. B. Lippincott & Co., 1874 at Google Books.
- Frank, John P. (1995). Friedman, Leon; Israel, Fred L. (บ.ก.). The Justices of the United States Supreme Court: Their Lives and Major Opinions. Chelsea House Publishers. ISBN 0791013774.
- Hall, Kermit L., บ.ก. (1992). The Oxford Companion to the Supreme Court of the United States. New York: Oxford University Press. ISBN 0195058356.
- Martin, Fenton S. (1990). The U.S. Supreme Court: A Bibliography. Washington, D.C.: Congressional Quarterly Books. ISBN 0871875543.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthor=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help) - Urofsky, Melvin I. (1994). The Supreme Court Justices: A Biographical Dictionary. New York: Garland Publishing. p. 590. ISBN 0815311761.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ