ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา

ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา (Substantive Democracy) เป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยที่เน้นเรื่องของผลลัพธ์ (outcome) ของกระบวนการและกลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย โดยเกณฑ์หรือมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยเชิงเนื้อหามักประกอบด้วย

  1. การที่รับรองสิทธิพลเมือง (civic substance) รับรองเสรีภาพในการแสดงออก และความเสมอภาคในเชิงกฎหมาย
  2. มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรม เปิดโอกาสให้มีผู้แข่งขันที่หลากหลายให้ประชาชนได้เลือก
  3. เคารพความแตกต่างทางความคิด และทางกายภาพ
  4. เคารพเสียงข้างมาก ขณะเดียวกันก็ปกป้อง คุ้มครองเสียงข้างน้อย
  5. รัฐบาลมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชน
  6. มีช่องทางให้พลเมืองแสดงความต้องการ และสื่อสารไปยังระบบการเมือง
  7. เป็นระบอบการปกครองที่พลเมืองในสังคมมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

อรรถาธิบาย แก้

งานของ คาลดอร์ และ เวจโวดา (Kaldor and Vejvoda, 1999: 3)[1] กล่าวว่าประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งในด้านการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจ และนักทฤษฏีประชาธิปไตยอย่าง เฮลด์ (Held, 1987)[2] เห็นว่าประชาธิปไตยเชิงเนื้อหามีจุดเน้นอยู่ที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในชีวิตประจำวันของประชาชนและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประชาสังคม

คำว่าประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาจึงมีความหมายที่แตกต่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วจะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับคำว่าประชาธิปไตยเชิงกระบวนการ (procedural democracy) โดยประชาธิปไตยเชิงกระบวนการจะเน้นที่ระเบียบ กฎเกณฑ์ และรูปแบบที่สัมผัสได้ของประชาธิปไตย เช่น มีการเลือกตั้ง การลงประชามติ รัฐสภา การปกครองท้องถิ่น เป็นต้น แต่สำหรับประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาจะลึกไปกว่านั้น โดยสนใจว่าการเลือกตั้งสามารถทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงหรือไม่ การปกครองท้องถิ่นประชาชนสามารถเข้าถึงการตัดสินใจหรือไม่ ในกระบวนการร่างกฎหมายประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาจึงมีแง่มุมของ “คุณค่า” ที่ซ้อนอยู่ภายใต้กฎระเบียบและกลไกการทำงานต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตย ในทางปฏิบัติคำว่าประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาจึงใช้สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศที่มีประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ เช่น จีน รัสเซีย หรือประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ที่มีการเลือกตั้งและมีสภานิติบัญญัติ แต่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจในการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย แก้

สำหรับประเทศไทย ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาโดยทั่วไปก็ไม่ต่างไปจากการใช้ในสากลนัก กล่าวคือ เป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่ไม่เพียงให้พลเมืองมีสิทธิในการเลือกตั้ง สามารถตรวจสอบรัฐบาลที่ตนเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ และสามารถได้รับสิทธิเสรีภาพในมิติอื่นๆ แต่ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาจะใช้กล่าวถึงการที่ประชาชนหรือพลเมืองในด้านผู้ทรงสิทธิที่ประกอบไปด้วยสิทธิสองประการคือ หนึ่ง พลเมืองได้รับการกำหนดสิทธิที่พึงได้อ้าง และรับรองความสามารถของการใช้เสรีภาพในการดำเนินชีวิตทางการเมือง และ สอง พลเมืองได้รับการประกันสิทธิ (entitlement) ที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชนในฐานะพลเมือง

ในทางปฏิบัติ สังคมไทยจะใช้เรื่องของประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับทำการทุจริต คอร์รัปชั่น และใช้อำนาจในทางมิชอบ โดยไม่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน เช่น คำวิจารณ์ของ ธีรยุทธ บุญมี ที่ว่า จาก 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาถึงปัจจุบัน ประชาธิปไตย โดยรูปแบบคือประชาธิปไตยที่เป็นเฉพาะการเลือกตั้ง (procedural democracy) ได้มาถึงทางตัน ต้องมีการพัฒนาไปอีกขั้น คือประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาหรือประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร (substantive democracy) แก่นสารในความหมายของธีรยุทธ บุญมี คือการเพิ่มความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม ความอยู่ดีมีสุขและสิทธิอำนาจของประชาชน และประชาธิปไตยที่มีแก่นสาร นั่นก็คือประชาธิปไตยที่ทำให้ได้มาซึ่งผู้ปกครองที่เป็นคนดี มีศีลธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต และมีคุณธรรม[3][4]

อ้างอิง แก้

  1. Kaldor, M and Vejvoda, I. (1999). “Democratization in Central and East European Countries: An Overview”. In M. Kaldor and I. Vejvoda (eds.). Democratization in Central and Eastern Europe. London: Pinter.
  2. Held, David (1987). Models of Democracy. Cambridge: Polity Press.
  3. ธีรยุทธ บุญมี (2555). “ต้องพัฒนารัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทยเน้นยุทธศาสตร์การสร้างและขยายสถาบันและวัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน”. เข้าถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ใน http://2519me.com/Me-myself/Today_Me/Me_standponts/2549me/2549_9September/9Sep_files/9September2.htm เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  4. โรตม์ คล้ามไพบูลย์ (2549). "ประชาธิปไตย=ความเป็นไทย+ตุลาการภิวัตน์+อำมาตยาภิวัฒน์". เข้าถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ใน http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=215 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.