บีตเอ็มอัป
บีตเอ็มอัป (อังกฤษ: beat 'em up) เรียกอีกอย่างว่า บรอเลอร์ (อังกฤษ: brawler) และในบางตลาดคือ บีตเอ็มออล (อังกฤษ: beat 'em all)[1] เป็นประเภทของวิดีโอเกมที่มีการต่อสู้แบบประชิดตัวระหว่างคู่ต่อสู้จำนวนมาก บีตเอ็มอัปแบบเดิม ๆ จะอุบัติในด่านเลื่อนแบบสองมิติ (2D) ในขณะที่เกมสมัยใหม่จำนวนหนึ่งมีสภาพแวดล้อมสามมิติ (3D) แบบเปิดมากขึ้นพร้อมจำนวนศัตรูที่มากกว่า ส่วนรูปแบบการเล่นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามหลักการของประเภทอาร์เคด เช่น ง่ายต่อการเรียนรู้ แต่ยากที่จะเชี่ยวชาญ และระบบการต่อสู้มีแนวโน้มที่จะพัฒนามากกว่าเกมแอ็กชันเลื่อนด้านข้าง โดยรูปการเล่นแบบร่วมมือกันสองผู้เล่น และตัวละครผู้เล่นของผู้เล่นหลายคนเป็นจุดเด่นของประเภทนี้ เกมเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฉากในเมือง และมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้กับอาชญากรรม ตลอดจนการแก้แค้น แม้ว่าบางเกมอาจใช้ธีมประวัติศาสตร์, นิยายวิทยาศาสตร์ หรือแฟนตาซี
บีตเอ็มอัปเกมแรกคือกังฟูมาสเตอร์ใน ค.ศ. 1984[2][3] ซึ่งอิงจากภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ฮ่องกง ส่วนเน็คเคตสึ โคฮะ คุนิโอะ-คุง ใน ค.ศ. 1986 ได้แนะนำรูปแบบการเคลื่อนย้ายแนวระนาบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาเกมต่อมา ในขณะเดียวกันก็ทำให้พื้นฉากเมืองร่วมสมัยเป็นที่นิยม ขณะที่เรนอิเกดซึ่งเป็นเวอร์ชันแปลภาษาตะวันตกได้มุ่งเสนอธีมการแก้แค้นโลกมิจฉาชีพเพิ่มเติม จากนั้น เกมประเภทดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างสูงระหว่างการเปิดตัวดับเบิลดรากอนใน ค.ศ. 1987 ซึ่งกำหนดโหมดร่วมมือกันสำหรับผู้เล่นสองคน และรูปแบบการเคลื่อนย้ายแนวระนาบแบบต่อเนื่องซึ่งเป็นหัวใจของบีตเอ็มอัปแบบคลาสสิก และสตรีทไฟเตอร์ II ซึ่งดึงดูดนักเล่นเกมให้เข้ามาหาเกมต่อสู้แบบตัวต่อตัว ส่วนเกม เช่น สตรีตส์ออฟเรจ, ไฟนอลไฟต์, โกลเดนแอกซ์ และทีนเอจมิวแตนต์นินจาเทอร์เทิลส์เป็นเกมคลาสสิกอื่น ๆ ที่ปรากฏตัวออกมาจากช่วงเวลานี้ ครั้นช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เกมประเภทดังกล่าวได้สูญเสียความนิยมไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีโพลีกอน 3 มิติ
ส่วนในคริสต์ทศวรรษ 2000 ประเภทย่อยของสับและเฉือน 3 มิติได้เกิดขึ้น (หรือที่รู้จักในชื่อ "เกมแอ็กชันตัวละคร") โดยปรับหลักเกณฑ์บีตเอ็มอัปเพื่อใช้สภาพแวดล้อม 3 มิติขนาดใหญ่ พร้อมแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมอย่างเดวิลเมย์คราย, ไดนาสตีวอริเออส์, ก๊อดออฟวอร์ รวมถึงบาโยเน็ตตา และตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 2010 บีตเอ็มอัป 2 มิติแบบดั้งเดิมได้ฟื้นตัวขึ้นมา โดยมีเกมที่ได้รับความนิยมอย่างดันเจียนไฟเตอร์ออนไลน์, ดรากอนสคราวน์, สตรีตส์ออฟเรจ 4 และทีนเอจมิวแตนต์นินจาเทอร์เทิลส์: ชเรดเดอส์รีเวนจ์
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Perron, Yolande (2012). Office québécois de la langue française (บ.ก.). "Vocabulaire du jeu vidéo" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2015-08-31.
- ↑ Hawken, Kieren (16 February 2017). The A-Z of Atari 2600 Games: Volume 1. Andrews UK Limited. ISBN 9781785386428. สืบค้นเมื่อ 2 March 2018 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "First side-scrolling beat-em-up". Guinness World Records. สืบค้นเมื่อ 2 March 2018.