บัณฑิต กันตะบุตร
ศาสตราจารย์บัณฑิต กันตะบุตร (23 ตุลาคม พ.ศ. 2458 - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2543) ผู้ซึ่งนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรก และเป็นผู้ริเริ่มการสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย เป็นบุตรของ อำมาตย์เอก พระยาราชวรัยการ และ คุณหญิง บุญรอด ได้เกิดที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2458 หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ ท่านเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศฟิลิปปินส์ จนสำเร็จปริญญาตรี (B.S.) จาก Far Eastern University และ ปริญญาโท (M.S.) จาก The University of Philippines หลังจากนั้นท่านบินข้ามทวีป ไปศึกษาต่อ ณ.ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ได้รับปริญญา MBA เน้นหนักวิชาคณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์
ระหว่างที่ศาสตราจารย์ บัณฑิต กันตะบุตร ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พร้อม ๆ กับเป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านมองเห็นศักยภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถปฏิวัติการศึกษา และการพัฒนาประเทศไทย ท่านจึงได้หาเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ และทรัพยากรอื่น ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อจัดหา และติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สองระบบแรกของประเทศไทย คือ เครื่อง IBM 1620 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือ่ง IBM 1401 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ในปี พ.ศ. 2506
สำหรับการสอนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ศาสตราจารย์บัณฑิต กันตะบุตร ได้จัดหลักสูตรสอนการเขียน Machine Language, Symbolic Language, FORTRAN และ COBOL เป็นแห่งแรกของประเทศ ที่ภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้เครื่อง IBM 1620 ให้นิสิตใช้เรียน และใช้วิ่งโปรแกรมได้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ยังมีสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มาขอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ทั้งเพื่อการเรียนการสอน และเพื่อการทำวิจัยมากกมาย กล่าวได้ว่า จากวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัยนี้ เป็นจุดเริ่มต้น ของการผลิตบุคลากรชั้นนำด้านไอที ให้กับประเทศ ซึ่งมีผลจนถึงทุกวันนี้ หลักสูตรคอมพิวเตอร์ที่ภาควิชาสถิตินี้ ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภาคนอก เข้ารับการอบรมด้วย จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญอย่างหนึ่ง ของการพัฒนาไอที และเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลาต่อมา ส่วนเครื่อง IBM 1401 ที่ สสช. ก็ใช้ปฏิบัติงานด้านประมวลข้อมูลจำนวนมาก ๆ เช่นงานสำมโนประชากรเป็นต้น ศาสตราจารย์ บัณฑิต กันตะบุตร ยังเป็นผู้บุกเบิกด้านธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิต โดยที่ท่านและภรรยา (อาจารย์ประภา กันตะบุตร) เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตรุ่นบุกเบิกของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ บัณฑิต กันตะบุตร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และรางวัลมากมาย จากการรับใช้ชาติบ้านเมือง ล่าสุดท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสามสถาบันภายในประเทศ และได้รับ Professional Achievement Citation จากสมาคมศิษย์เก่าแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ศาสตราจารย์ บัณฑิตกันตะบุตร ไดัรับยกย่องให้เป็น บิดาของวิชาสถิติ และเป็นผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2510 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[1]
- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[2]
- พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๓, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘