บริษัทร่วมทุน (ญี่ปุ่น)
บริษัทร่วมทุน (ญี่ปุ่น: 株式会社; โรมาจิ: kabushiki gaisha; อังกฤษ: stock company) เป็นบริษัท (会社; company) รูปแบบหนึ่งตามกฎหมายญี่ปุ่น
ศัพท์
แก้คำ "คาบูชิกิไกชะ" (kabushiki gaisha) นี้ บริษัทหลายแห่งของญี่ปุ่นมักแปลว่า "บริษัทจำกัด" (limited company) ส่วนบริษัทอื่น ๆ มักแปลเพียง "บริษัท" (corporation หรือ incorporated) แต่คำนี้มีความหมายตรงตัวว่า "บริษัทร่วมทุน" (stock company หรือ joint stock company) รัฐบาลญี่ปุ่นเองเดิมอนุมัติให้แปลอย่างเป็นทางการว่า "บริษัทธุรกิจ" (business corporation) แต่ปัจจุบันเปลี่ยนให้แปลว่า "บริษัทร่วมทุน" (stock company)[1][2]
ในภาษาญี่ปุ่น คำดังกล่าวเป็นได้ทั้งปัจจัย (suffix) เช่น "โตโยตะจิโดชะคาบูชิกิไกชะ" (トヨタ自動車株式会社; "Toyota Motor Corporation") และอุปสรรค (prefix) เช่น "คาบูชิกิไกชะเด็นสือ" (株式会社電通; "Dentsu Inc.")
ความเป็นมา
แก้เดิมประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นได้วางระเบียบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเอาไว้ บริษัทร่วมทุนแห่งแรก คือ ธนาคารประจำชาติแห่งแรกของญี่ปุ่น (First National Bank of Japan) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1873 ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกายึดครองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติผู้เข้ายึดครองได้สังคายนาประมวลกฎหมายแพ่งโดยอาศัยรัฐบัญญัติบริษัทธุรกิจอิลลินอยส์ ค.ศ. 1933 (Illinois Business Corporation Act of 1933) เป็นแม่แบบ บริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นจึงมีร่องรอยบริษัทแบบอเมริกันหลายประการ[3] แต่ก็แตกต่างกันบ้าง เช่น บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นไม่สามารซื้อหุ้นของตนกลับคืนมาได้ ไม่สามารถขายหุ้นราคาน้อยกว่าห้าหมื่นเยนต่อหนึ่งหุ้นได้ และไม่สามารถดำเนินกิจการโดยอาศัยทุนส่วนเกิน (paid-in capital) ซึ่งต่ำกว่าสิบล้านเย็นได้ (ข้อกำหนดเหล่านี้ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกแล้วก็มี)[4]
ครั้นวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 รัฐสภาญี่ปุ่นตราพระราชบัญญัติบริษัท (会社法; Companies Act) ฉบับใหม่ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ปีถัดมา[5] พระราชบัญญัติฉบับนี้เปลี่ยนแปลงระเบียบการจัดตั้งและดำเนินบริษัทร่วมทุนอย่างใหญ่หลวง โดยปรับปปรุงให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับบริษัทร่วมทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น
อ้างอิง
แก้- ↑ "法令用語「日英対訳辞書」まとまる 政府検討委", Asahi Shimbun, March 18, 2006. (summary)
- ↑ Standard Bilingual Dictionary of Legal Terminology.
- ↑ Ramseyer, Mark, and Minoru Nakazato, Japanese Law: An Economic Approach (Chicago: University of Chicago Press, 1999), p. 111.
- ↑ Ramseyer, op. cit., p. 123.
- ↑ Professor Shosaku Masai (2 February 2009). "Review of 2005 Companies Act: Recent discussions". Waseda University Institute of Comparative Law. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-22. สืบค้นเมื่อ 2011-02-26.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- (ญี่ปุ่น) (อังกฤษ) พระราชบัญญัติบริษัท (Companies Act) – ภาค 1 ถึง 4 เก็บถาวร 2021-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ภาค 5 ถึง 8 เก็บถาวร 2021-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (ญี่ปุ่น) (อังกฤษ) คำสั่งให้ใช้พระราชบัญญัติบริษัท เก็บถาวร 2021-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Order for Enforcement of the Companies Act)