นิกายญิงมา (ทิเบต: རྙིང་མ, ไวลี: rnying ma, พินอินทิเบต: nyingma, IPA: [ɲiŋma]) นิกายหมวกแดง เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งของศาสนาพุทธแบบทิเบต ถือกำเนิดจากปัทมสัมภวะ อาจารย์ชาวอินเดียคือที่เดินทางมาทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1350 ซึ่งได้รับการนับถือจากชาวทิเบตอย่างกว้างขวาง และเป็นผู้สร้างวัดสัมเยซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในทิเบต ปัทมสัมภวะได้เผยแพร่คำสอนของนิกายตันตระจนมีสานุศิษย์ที่สำคัญหลายคน

คำสอน แก้

นิกายญิงมาแบ่งคำสอนในพุทธศาสนาออกเป็น 9 ยานคือ

  • สามยานนี้เป็นคำสอนในพระสูตร
    • สาวกยาน
    • ปัจเจกพุทธยาน
    • โพธิสัตวยาน
  • ตันตระสาม คือ
    • กริยาตันตระ
    • อุปตันตระ
    • โยคะตันตระ
  • ตันตระขั้นสูงอีกสามยาน คือ
    • มหาโยคะ
    • อนุตรโยคะ
    • อธิโยคะ

ทุกระดับยกเว้น อธิโยคะ คุหยสมาช กาลจักร จักรสังวร ล้วนจัดอยู่ในอนุตรโยคะทั้งสิ้น ส่วนอธิโยคะหรือซกเชน ถือเป็นตันตระพิเศษสูงสุดกว่าตันตระใดๆ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เป็นวิธีการเจาะเข้าสู่พุทธภาวะโดยตรง

จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติยานทั้งเก้าคือ เพื่อก้าวพ้นโลกียะตามคำสอนของพระสมันตภัทรพุทธะ ในคำสอนของตันตระที่เป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้คือ ซอกเซ็น หรือมหาบารมี เป็นการปฏิบัติโดยสวดพระนามของปัทมสัมภวะ หรือคุรุรินโปเช และการเข้าเงียบ จะเน้นในการสวดมนต์ต์ตราธารณี การใช้สัญลักษณ์มุทรา สัญลักษณ์มณฑล ในการประกอบพิธีเพื่อเข้าสู่การบรรลุพระโพธิญาณ นิกายนี้มีความเชื่อว่า หลังจากสมัยคุรุปัทมสมภพแล้วก็ได้มีการค้นพบคำสอนซึ่งถูกซ่อนไว้โดยคุรุปัทมสมภพ ในทิเบตเรียกว่า "เทอร์มา" ซึ่งแปลว่าขุมทรัพย์อันล้ำค่า และได้ทำนายไว้ว่าในอนาคต ศิษย์ของท่านจะเป็นผู้ค้นพบและเปิดขุมทรัพย์

คำสอน 6 ยานแรกเป็นพื้นฐานของพุทธตันตระทั่วไป ส่วนสามยานสุดท้ายเป็นลักษณะพิเศษของนิกายญิงมา เชอเกียมตรุงปะ อาจารย์นิกายญิงมา ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 ได้กล่าวว่า

เถรวาทได้กล่าวว่าตนเข้าถึงความจริงแท้ และให้หนทางที่ดีที่สุด มหายานกล่าวว่าพระโพธิสัตว์ได้ให้หนทางที่ดีที่สุดในการเข้าสู่สัจจะธรรม ส่วนผู้ปฏิบัติวัชรยานกล่าวว่า มหาสิทธาผู้ทรงฤทธิ์อำนาจวิเศษสามารถมอบหนทางสู่การบรรลุได้อย่างวิเศษสุด คำถามและคำตอบมากมายที่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับความสับสนต่างๆนาๆ แล้วอะไรเล่าจึงเป็นสิ่งที่ปรารถนาของศิษย์ ผู้ต้องการเข้าสู่พระพุทธธรรม อธิโยคะตันตระได้ให้คำตอบไว้ว่า การมองทุกสรรพสิ่งด้วยสายตาของเอกซ์เรย์ มองทุกสรรพสิ่งได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และปฏิบัติตนอย่างเปล่าเปลือยทะลุปรุโปร่งเช่นกัน นั่นจึงเป็นธรรมชาติแท้แห่งพุทธภาวะ

คณาจารย์สำคัญ แก้

อาจารย์คนสำคัญของนิกายนี้ได้แก่ ยอนชัล บีมาร์โอเซอร์ คุรุโชวัง คอร์เจ ลิงปา ปัทมะ ลิงปา และจัมยัง เคนเซ เป็นผู้นำคำสอนที่ปัทมสัมภวะซ่อนไว้มาเปิดเผย

สถาบัน แก้

สถาบันแห่งแรกของนิกายนี้คือวัดสัมเย ตั้งโดยพระศานตรักษิต สถาบันในยุคหลังได้แก่ วัดมันโดรลิง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2219 จอร์เจดรัก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2202 เมื่อชาวทิเบตลี้ภัยเข้าสู่อินเดีย มีการสร้างวัดในนิกายนี้หลายแห่ง เช่นที่รัฐการณาตกะ และธรรมศาลา

อ้างอิง แก้

  • ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. พระพุทธศาสนาแบบทิเบต. กทม. : ศูนย์ไทยทิเบต, 2538.