ทิวยาวทาน เป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่รวบรวมเรื่องราวชีวประวัติอันเป็นแบบอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกชนที่เกิดขึ้นในอินเดีย จำนวน 38 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องขนาดใหญ่และประกอบด้วยรายละเอียดของเรื่องอย่างมาก ตำนานของบุคคลหรือนักบวชเหล่านี้มีอยู่จริงแต่มีการแต่งเติมเหตุการณ์ให้น่าตื่นเต้นเร้าใจ แก่นสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรม เรื่องกรรม การให้ในทางศาสนา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงถึงพลังแห่งความศรัทธาเลื่อมใส[1]

ทิวยาวทานเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาสันสกฤตประเภทอวทานในยุคเริ่มต้น ไม่ทราบผู้แต่ง คัมภีร์อาจเก่าถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 แต่เนื้อเรื่องมีเรื่องราวเก่ากว่านั้น[2] รวบรวมเสร็จไม่น่าจะเกินคริสต์ศตวรรษที่ 4 มีบางส่วนน่าจะเรียบเรียงราว 200 ปีก่อนคริสตกาล เรียบเรียงเสร็จราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 และอาจเป็นคัมภีร์พุทธศาสนาเล่มแรก ๆ ที่มีการบันทึก[3]

รูปแบบ แก้

การจัดวางคัมภีร์นั้นไม่มีความเชื่อมต่อกัน ส่วนที่ประพันธ์ด้วยร้อยแก้วประพันธ์ด้วยภาษาสันสกฤตมาตรฐาน ส่วนร้อยกรองประพันธ์ด้วยภาษาสันสกฤตผสม รูปแบบประพันธ์แบบจัมปู คือเป็นร้อยกรองที่มีคาถาแทรกผสมอยู่ การใช้ภาษาในอวทานในแต่ละเรื่องเขียนอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ยังมีส่วนที่ใช้ภาษาอย่างประณีตพรรณนา มีการเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็นภาพ ปรากฏทั้งศัพทาลังการและอรรถาลังการ

เนื้อหาโดยรวมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เรื่องของสาวกและผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และสูตร พระธรรมเทศนาที่แสดงแก่บุคคลต่าง ๆ โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นแนวคิดทั้งแบบเถรวาทและมหายาน[4]

การแปล แก้

ผู้ตั้งชื่อ ทิวยาวทาน คือ เออแฌน บูร์นุฟ (Eugène Burnouf) เป็นคำศัพท์ภาษาสันสกฤตที่เกิดจากคำประสมหรือสมาสของคำ 2 คำ คือ ทิวย + อวทาน มีความหมายว่า อวทานอันเป็นทิพย์ อวทานอันยอดเยี่ยม ส่วนคำว่า อวทานนั้น หมายถึง การกระทำอันสูงส่ง การกระทำที่กล้าหาญ การกระทำที่ยิ่งใหญ่ การกระทำที่มีชื่อเสียงหรือการบรรลุผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่

บูร์นุฟได้แปลอวทานหลายเรื่องเป็นภาษาฝรั่งเศส โดยใช้ฐานข้อมูลจากต้นฉบับสำเนาตัวเขียน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ Mr. Hodgson พบที่ประเทศเนปาลซึ่งเป็นภาษาเนวารี และอีกฉบับหนึ่ง เขาได้จากที่อื่น ๆ ต่อมาปี ค.ศ. 1886 อี.บี. โคเวลล์ (E.B. Cowell) กับอาร์.เอ. นีล (R.A. Neil) ได้ร่วมกันจัดทำคัมภีร์ฉบับอักษรโรมัน จัดพิมพ์เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยอาศัยข้อมูลสำเนาจากฉบับต่าง ๆ[5] ต่อมาในปี ค.ศ. 1959 พี.แอล. ไวทยา (P.L. Vaidya) ได้จัดทำคัมภีร์เป็นฉบับอักษรเทวนาครี จัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันมิถิลา (The Mithila Institute) เป็นฉบับแก้ไขและเพิ่มเติมจากฉบับของ อี.บี. โคเวลล์ กับอาร์.เอ. นีล[6]

รายชื่อเรื่อง แก้

  1. โกฏิกรฺณวทาน
  2. ปูรฺณาวทาน
  3. ไมเตฺรยาวทาน
  4. พฺราหฺมณทาริกาวทาน
  5. สตุติพฺราหฺมณาวทาน
  6. อินฺทฺรพฺราหฺมณาวทาน
  7. นคราวลมฺพิกาวทาน
  8. สุปริยาวทาน
  9. เมณฺฒกคคฤหปติวิภูติปริจเฉท
  10. เมณฺฒกาวทาน
  11. อโศกวรฺณาวทาน
  12. ปฺราติหารยสูตร
  13. สฺวาคตาวทาน
  14. สูกริกาวทาน
  15. จกรฺวรฺติวฺยากฺฤตาวทาน
  16. ศุกโปตกาวทาน
  17. มานฺธาตาวทาน
  18. ธรฺมรุจฺยาวทาน
  19. ชฺโยติษฺกาวทาน
  20. กนกวรฺณาวทาน
  21. สหโสทฺคตาวทาน
  22. จันทรประภาโพธิสัตตวจรรยาวทาน
  23. สงฺฆรกฺษิตาวทาน
  24. นาคกุมาราวทาน
  25. สงฺฆรกฺษิตาวทาน
  26. ปศุปรทานวทาน
  27. กุณาลาวทาน
  28. วีตโศกาวทาน
  29. อโศกาวทาน
  30. สุธนกุมาราวทาน
  31. โตยิกามหาวทาน
  32. รูปาวตฺยาวทาน
  33. ศารฺทูรกรฺณาวทาน
  34. ทานาธิกรณมหายานสูตร
  35. จูฑปกฺษวทาน
  36. มากันทิกวทาน
  37. รุทฺรยาณาวทาน
  38. ไมตรกันยกาวทาน

อ้างอิง แก้

  1. Joel Tatelman, The Heavenly Exploits: Buddhist Biographies from the Divyavadana (Clay Sanskrit Library, 2005), p.15
  2. Winternitz, Moriz (1993). A History of Indian Literature: Buddhist literature and Jaina literature. Motilal Banarsidass Publishers. p. 273. ISBN 9788120802650.
  3. Buswell, Jr., Robert; Lopez, Jr., Donald S. (2013). The Princeton Dictionary of Buddhism. Princeton University Press. p. 262. ISBN 9781400848058.
  4. Kalpana Upreti (1995). India as Reflected in the Divyavadana. SAB. p. 56.
  5. Neil, Robert Alexander; Cowell, Edward B.: The Divyâvadâna: a collection of early Buddhist legends, now first edited from the Nepalese Sanskrit mss. in Cambridge and Paris; Cambridge: University Press 1886.
  6. Vaidya, P. L. (1959). Divyāvadāna เก็บถาวร 2014-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Darbhanga: The Mithila Institute of Post-Graduate Studies and Research in Sanskrit Learning (romanized)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้