อวทาน เป็นรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมพุทธศาสนา มีรูปแบบคล้ายชาดก โดยชาดกเป็นเรื่องราวอดีตชาติของพระพุทธเจ้า และอวทานเป็นเรื่องราวการกระทำของผู้เลื่อมใสของพระองค์ อวทานเป็นคำภาษาสันสกฤตประกอบขึ้นจากคำว่า อว+ทาน มีความหมายว่า การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือการบริจาคทาน หรือตรงกับภาษาบาลีว่า อปทาน[1] แปลว่าการตัดออก

ชาดกกับอวทาน แก้

ทั้งชาดกและอวทานมีจุดประสงค์คล้ายกัน[2] คือ เป็นเรื่องที่มาจากนิทานและใช้เพื่อเป็นอุทาหรณ์โน้มน้าวให้คนทำความดี แต่ในแนวคิดของพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ชาดกจัดเป็นหนึ่งในหมวดคำสอนประเภทหนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์ เมื่อพุทธศาสนามีการแยกนิกาย แต่ละนิกายได้รวบรวมและจัดระเบียบคัมภีร์ขึ้นใหม่ นิกายที่แยกออกมาได้เรื่องราวและคำสอนของเถรวาทที่จัดหมวดหมู่แยกจากกันมารวมไว้ที่คัมภีร์เดียวกัน อีกทั้งยังเพิ่มของใหม่ที่ต่างจากเถรวาทเข้าไป กล่าวคือ นิกายสรวาสติวาท และมหาสังฆิกะ รวมถึงนิกายอื่น ได้เพิ่มและเปลี่ยนหมวดหมู่ที่เถรวาทจัดว่า 9 หมู่ เป็น 12 หมู่ คือเพิ่ม นิทาน อวทาน และ อุปเทศ เข้ามา และด้วยความที่คล้ายคลึงกันจึงเรียก ชาดกและอวทาน รวมกันว่า ชาดกาวทาน หรือชาดกมาลา สรุปแล้วคือ นิกายที่แยกจากเถรวาททำให้ชาดกเป็นเรื่องอวทาน[3]

ประเภท แก้

อวทานเป็นผลงานของนิกายที่แยกออกมา คือนิกายสรวาสติวาท ต่อมามีการนำเรื่องอวทานมารวมกับคัมภีร์ของมหายาน แบ่งออกเป็น อวทานที่เป็นคัมภีร์หรือได้เนื้อหามาจากคัมภีร์ ยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ อวทานที่ได้มาจากพระวินัย เช่น ทิวยาวทาน อวทานที่ได้มาจากพระสูตรอื่น เช่น อวทาน-ศตก และอวทานที่รวบรวมจากคัมภีร์มหายาน ส่วนอวทานที่ไม่ใช่คัมภีร์ ส่วนใหญ่ก็นำเนื้อเรื่องมาจากอวทานที่มาจากพระวินัยและพระสูตรอื่น เช่น วิจิตรกรรณิกาวทานและอวทานกัลปลตา[3]

องค์ประกอบ แก้

อวทานประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ

  • ปรัตยุตปันนวัสตุ (ปัจจุบันวัตถุ) ให้รายละเอียดสถานที่ประทับของพระองค์ การพรรณาชีวิตของผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง และสาเหตุที่ทำให้พระองค์ตรัสเล่าเรื่องราวอดีตของผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง เช่น ชโยติษกาวทาน อวทานเรื่องที่ 19 ในทิวยาวทาน
  • อดีตวัสตุ (อดีตวัตถุ) เป็นส่วนที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตของผู้ที่ได้รับกล่าวถึงในปัจจุบันวัตถุ ตัวอย่างเช่น โกฏิกรรณวทาน อวทานแรกในทิวยาวนาน
  • สมวธาน (สโมธาน) แบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เผยว่าผู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงในอดีตชาติว่าเป็นใคร กับส่วนที่สรุปถึงธรรมะที่ได้จากอวทานนั้น

อ้างอิง แก้

  1. "Avadāna" (2008).
  2. "อวทาน: ความศรัทธาแด่พระพุทธองค์".
  3. 3.0 3.1 สุมาลี ลิ้มประเสริฐ. "การศึกษาเรื่องอวทาน-ปัลปลตาของเกษเมนทระ : ความสัมพันธ์ของเรื่องสุธน-กินรีกับวรรณคดีไทย".

บรรณานุกรม แก้