ทองมาก จันทะลือ

ทองมาก จันทะลือ ศิลปินหมอลำ ผู้ถ่ายทอดท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน ปรมาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในวงการหมอลำ ถึงขั้นที่เรียกว่า "แตกลำ" คือเป็นผู้ที่มีความสามารถในการลำกลอน ไม่ว่าจะเป็นกลอน 7 กลอน 8 หรือแม้แต่กลอน 9 ก็สามารถลำได้สดๆ ไม่มีติดขัด และที่สำคัญได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) คนแรก ประจำปี พ.ศ. 2529[1][2]

ทองมาก จันทะลือ
ชื่อเกิดทองมาก จันทะลือ
ชื่ออื่นหมอลำถูทา
เกิด6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472
จุดกำเนิดประเทศไทย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
เสียชีวิต17 มีนาคม พ.ศ. 2554 (82 ปี)
อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ประเทศไทย
อาชีพศิลปินพื้นบ้าน
นักร้องหมอลำ
ปีที่แสดงพ.ศ. 2491 - 2554
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2529 - สาขาศิลปะการแสดง(หมอลำ)

ประวัติ

แก้

หมอลำทองมาก จันทะลือ หรือที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นรู้จักกันในชื่อของ "หมอลำถูทา" ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 87 ปี (ตามอายุจริงซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2467 แต่แจ้งเกิดตามบัตรประชาชน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ซึ่งหากนับตามบัตรประชาชน เสียชีวิตเมื่ออายุ 82 ปี) และสุดท้ายของชีวิต หมอลำถูทาคนนี้ ยังได้บริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มาของ "หมอลำถูทา" เนื่องจากท่านได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ และเป็นโฆษกผู้โฆษณายาให้กับ บริษัท โอสถสภาเต็กเฮงหยู โดยท่านได้นำเอาศิลปะหมอลำเข้าไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณา ส่งผลให้ยอดขายของทางบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โฆษณาทาง วิทยุชิ้นหนึ่งอันเป็นผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และติดหูของชาวอีสานในยุคนั้น ได้แก่ โฆษณายาหม่องถ้วยทอง ที่มีถ้อยคำติดหูผู้ฟังทั่วไปว่า "ถูทา" จนทำให้ชาวบ้านพากันเรียกหมอลำทองมากว่า " พ่อถูทา" นับแต่นั้นมา

การศึกษา

แก้

หมอลำทองมาก จันทะลือ จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านชีท่าม่วง วัดประคู่ชำน้อย[3]

เข้าสู่วงการ

แก้

หมอลำทองมาก จันทะลือ เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำเมื่ออายุ 14 ปี โดยบิดาได้พาไปสมัครเรียนหมอลำ กับพระรูปหนึ่งนามว่า พระอาจารย์อ่อน ที่วัดประดู่น้อย โดยได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำ และพระธรรมคำสอนทาง พระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่หมอลำจะต้องเรียนรู้อย่างละเอียด ท่านได้ร่ำเรียนอยู่กับพระอาจารย์อ่อน อยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงได้ลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับครูหมอลำอื่นๆ อีกหลายท่าน อาทิ หมอลำคำอ้าย อาจารย์คำผาย โยมา ที่สอนให้รู้จัก การวาดลำ (คือจังหวะในการรำและฟ้อน) และแตกฉานในกลอนลำ นอกจากนั้นยังมี สิบตรีภิรมย์ อาจารย์กึม อาจารย์เคน อามาตย์บัณฑิต อาจารย์หลวย และอาจารย์บุญคา เป็นต้น ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนมีความชำนาญในด้านต่างๆ เกี่ยวกับหมอลำที่แตกต่างกันไป ทำให้หมอลำทองมาก ได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ของหมอลำอย่างกว้างขวางจนแตกฉาน

การเมือง

แก้

ในด้านการเมือง ท่านเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ต่อมาได้ตั้ง สมาคมหมอลำถูทาบริการ และรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปะพื้นบ้านมารับใช้สังคม

ความภูมิใจ/รางวัลสำคัญ

แก้

ช่วงชีวิตของหมอลำทองมาก จันทะลือ ได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้ง ซึ่งประกอบไปด้วย

  • ปี พ.ศ. 2500 ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นเอก ที่จังหวดขอนแก่น
  • ปี พ.ศ. 2500 ชนะเลิศการประกวดหมอลำที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
  • ปี พ.ศ. 2502 ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นหนึ่งที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแกน
  • ปี พ.ศ. 2510 ชนะเลิศการประกวดหมอลำคู่ ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ปี พ.ศ. 2511 และ 2512 ชนะเลิศการประกวดหมอลำในงานสงกรานต์ ที่อำเภอวารินชาราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  • ปี พ.ศ. 2514 อาศัยความเป็นผู้แทนของชาวหมอลำ พ่อทองมากได้ก่อตั้งสหพันธ์ "สหพันธ์หมอลำแห่งประเทศไทย" และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสหพันธ์เป็นคนแรก
  • ปี พ.ศ. 2524 ได้รับรางวัลดีเด่นการผลิตผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
  • ปี พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • และในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สาขาย่อย(หมอลำ) ประจำปี พุทธศักราช 2529 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้