ต้านทู่น (พม่า: သန်းထွန်း) หรือที่เรียกร่วมกับคำนำหน้าชื่อว่า ตะคีนต้านทู่น (သခင်သန်းထွန်း) เกิดที่เมืองกะญุ-กวี่นในพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2454 เป็นนักการเมืองชาวพม่าและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 จนกระทั่งถูกลอบสังหารเมื่อ พ.ศ. 2511 รวมอายุได้ 57 ปี[1]

ตะคีนต้านทู่น

การต่อสู้เพื่อเอกราช แก้

ต้านทู่นประกอบอาชีพเป็นครูหลังจากจบจากวิทยาลัยฝึกหัดครูในย่างกุ้ง และชื่นชอบงานเขียนแนวมาร์กซิสต์ เขาเข้าร่วมในสมาคมเราชาวพม่าเมื่อ พ.ศ. 2479 และเป็นพันธมิตรกับพรรคคนจนของ ดร.บะมอ เพื่อสร้างกลุ่มพันธมิตรเสรี เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมหนังสือนากานี (นาคแดง) กับตะคีนนุใน พ.ศ. 2480 ซึ่งมีบทบาทในการแปลหนังสือเกี่ยวกับลัทธิมากซ์เป็นภาษาพม่า เขาถูกอังกฤษจับคุมขังใน พ.ศ. 2483 พร้อมกับตะคีนนุ, ตะคีนโซ่, ดร.บะมอ และจอเญ่น

ในขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำอี้นเซนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484 เขาได้ร่วมกับตะคีนโซ่เขียนแถลงการณ์อี้นเซนโดยกล่าวว่าลัทธิฟาสซิสต์เป็นศัตรูที่สำคัญของโลกที่กำลังมาถึงและเรียกร้องให้มีการร่วมมือชั่วคราวกับอังกฤษ จัดตั้งพันธมิตรแบบกว้างที่รวมทั้งสหภาพโซเวียต การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาติต่อต้านจักรวรรดินิยมจะเกิดขึ้นหลังจากลัทธิฟาสซิสต์พ่ายแพ้ นี่เป็นสิ่งตรงข้ามกับความเห็นของสมาคมเราชาวพม่าที่รวมตะคีนอองซานด้วยที่ได้จัดตั้งกลุ่มตะคีน 30 คน เพื่อฝึกทหารแบบญี่ปุ่นและจัดตั้งกองทัพเอกราชพม่า[1][2]

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลหุ่นนำโดย ดร.บะมอ ใน พ.ศ. 2485 ต้านทู่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดินและเกษตรกรรม เขาได้แต่งงานกับคีนจี้ (ခင်ကြီး) ซึ่งเป็นน้องสาวของคีนจี (ခင်ကြည်) ภรรยาของอองซาน อองซานแต่งงานไม่นานหลังจากที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม กองทัพเอกราชพม่าเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพป้องกันพม่า ต้านทู่นได้ประสานงานกับตะคีนโซ่ที่จัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อสู้รบใต้ดิน ส่งตะคีนเต้นเพและทินชเวไปอินเดียเพื่อติดต่อกับรัฐบาลอาณานิคมที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ศิมลา หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถอนทัพออกไป ต้านทู่นเข้าร่วมในสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า พรรคประชาชนปฏิวัติหรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมพม่าและกองทัพแห่งชาติพม่า

สงครามกลางเมือง แก้

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงของตะคีนโซ่แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเมื่อ พ.ศ. 2489 และได้ออกไปต่อสู้ใต้ดิน ต้านทู่นและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เหลือยังคงร่วมมือกับสันนิบาตเสรีภาพประชาชนจนเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 ต้านทู่นถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งเลขาธิการทั่วไป และพรรคคอมมิวนิสต์พม่าซึ่งต่อมาเรียกว่าพรรคธงขาวออกจากสันนิบาตเสรีภาพประชาชนในเดือนตุลาคม

หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 สันนิบาตเสรีภาพประชาชนที่มีพรรคสังคมนิยมเป็นพรรคที่มีบทบาทสูงได้ขึ้นสู่อำนาจ และอูนุได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคคอมมิวนิสต์พม่ายังคงต่อสู้โดยการเดินขบวนและนัดหยุดงาน ต้านทู่นได้จัดตั้งกองโจรเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล มีฐานที่มั่นในภาคกลางของพม่าบริเวณปยีนมะนา ต้านทู่นซึ่งเป็นประธานพรรคได้ส่งสมาชิกไปฝึกกับกองทัพปฏิวัติของจีน บางส่วนเดินทางกลับมาหลังจากมีการเจรจาสันติภาพใน พ.ศ. 2506 ที่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าส่งตัวแทนไปเจรจากับรัฐบาลทหารของพม่า ต้านทู่นได้กลับไปจัดตั้งกลุ่มสู้รบอีกหลังจากที่การเจรจาล้มเหลว ใน พ.ศ. 2510 เขาได้จัดตั้งการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบของเขาเอง และได้เผยแพร่ภาพการสังหารหมู่นักศึกษาโดยรัฐบาลทหารของเนวีนใน พ.ศ. 2505[3] เขาถูกสายลับของฝ่ายรัฐบาลที่แฝงตัวเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ลอบสังหารเมื่อ 24 กันยายน พ.ศ. 2511

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Martin Smith (1991). Insurgency and the Politics of Ethnicity. London and New Jersey: Zed Books. pp. 55, 61, 56, 58, 68–69, 106, 208, 234.
  2. Oliver Hensengerth (2005). The Burmese Communist Party and the State-to-State Relations between China and Burma (PDF). Leeds East Asia Papers. pp. 10–11, 15–16, 29–30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-28. สืบค้นเมื่อ 2015-05-23.
  3. "Waging War against the Tyrants". The Irrawaddy News Magazine. June 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 2006-10-16.