ฟาโรห์ตุตันคาเมน

(เปลี่ยนทางจาก ตุตันคามุน)

ทูเทินคามูน[2] (อักษรโรมัน: Tutankhamun) หรือ ทุตอังคาเมิน,[3] ทูทังคาเมิน,[2] ทูเทินคาเมิน,[4] หรือ ทูเทินคาเมน[2] (อักษรโรมัน: Tutankhamen) หรือ ทูตเอิงคาเมิน[3] (อักษรโรมัน: Tutenkhamon) หรือ อาเมิน-ทุต-อังค์ (Amen-tut-ankh) ตามอักษรไฮเออโรกลีฟอียิปต์ที่เอาพระนามเทพเจ้าขึ้นก่อนพระนามส่วนพระองค์เพื่อแสดงความเคารพต่อเทวะ[5] มีความหมายว่า "รูปลักษณ์ที่มีชีวิตของอาเมิน" (Living Image of Amen) คนไทยมักเรียก ตุตันคาเมน หรือ ตุตันคามุน เป็นฟาโรห์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ มีพระชนม์อยู่ในราว 1341–1323 ปีก่อนคริสตกาล และเสวยราชย์ราวเก้าปีใน 1332–1323 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับเวลามาตรฐาน ในช่วงที่ประวัติศาสตร์อียิปต์เรียกว่า ราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) หรือ จักรวรรดิใหม่ (New Empire) อนึ่ง ยังเป็นไปได้ว่า พระองค์เป็นบุคคลเดียวกับ นีบูร์เรเรยา (Nibhurrereya) ในเอกสารอะมาร์นา (Amarna letters) รวมถึง พระเจ้าราโททิส (King Rathotis) ที่ปราชญ์แมนะโท (Manetho) ระบุว่า เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ 18 และครองราชสมบัติเก้าปี[6]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ผลการตรวจทางพันธุกรรมยืนยันว่า ฟาโรห์แอเคอนาเทิน (Akhenaten) มีสัมพันธ์กับพี่สาวหรือน้องสาวของตน คือ ศพที่ตั้งชื่อว่า เดอะยังเกอร์เลดี (The Younger Lady) จนมีโอรสด้วยกัน คือ ทูเทินคามูน[7]

ใน ค.ศ. 1922 เฮาเวิร์ด คาร์เทอร์ (Howard Carter) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจอร์จ เฮอร์เบิร์ต เอิร์ลที่ 5 แห่งคาร์นาร์เวิน (George Herbert, 5th Earl of Carnarvon) ค้นพบสุสานของทูเทินคามูน ชื่อ เควี 62 (KV62) ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก[8][9] ทั้งทำให้สาธารณชนสนใจอียิปต์ และหน้ากากพระศพก็ได้รับการใช้เป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์โบราณมาจนทุกวันนี้ ข้าวของเครื่องใช้จากสุสานของพระองค์ยังได้รับการนำพาไปจัดแสดงทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงว่า การตายของบุคคลหลายคนนับแต่ค้นพบพระศพของพระองค์เป็นต้นมาเกี่ยวข้องกับคำสาปฟาโรห์[10]

ต้นพระชนม์

แก้

พระบิดาของทูเทินคามูน คือ ฟาโรห์แอเคอนาเทิน พระมารดาของทูเทินคามูน คือ สตรีซึ่งเป็นพี่สาวหรือน้องสาวของแอเคอนาเทินเอง[11] หรืออาจเป็นลูกพี่ลูกน้องของแอเคอนาเทิน[12]

ขณะยังเยาว์ ทูเทินคามูนมีพระนามว่า ทูเทินคาเทิน (Tutankhaten) หมายความว่า "รูปลักษณ์ที่มีชีวิตของอาเทิน" (Living Image of Aten)[13]

พระนมของทูเทินคามูน คือ สตรีนาม มาเอีย (Maia) พบศพ ณ ซักคารา (Saqqara)[14] ส่วนพระอาจารย์ของทูเทินคามูน น่าจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่นาม เซนเนดเจม (Sennedjem)

ทูเทินคามูนขึ้นครองราชย์เมื่อ 1333 ปีก่อนคริสตกาล พระชนม์ราวเก้าหรือสิบชันษา ใช้ชื่อรัชกาลว่า เน็บเคเพรูเร (Nebkheperure)[15]

เมื่อเสวยราชย์แล้ว ทูเทินคามุนสมรสกับพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ชื่อว่า อังเคเซนพาอาเทิน (Ankhesenpaaten) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อังเคเซนามูน (Ankhesenamun) ทั้งสองมีพระธิดาด้วยกันสองพระองค์ แต่ถึงแก่กรรมเมื่อคลอดทั้งคู่[7] ผลการศึกษาโดยใช้คอมพิวเตอร์ทำภาพรังสีส่วนตัด (computed tomography) ที่เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2011 ปรากฏว่า พระธิดาพระองค์หนึ่งคลอดก่อนกำหนดเมื่ออายุครรภ์ประมาณห้าถึงหกเดือน พระธิดาอีกพระองค์คลอดเมื่ออายุครรภ์ครบเก้าเดือน[16] พระธิดาพระองค์หลังนี้ยังมีกระดูกสันหลังโหว่ (spina bifida), กระดูกสันหลังคด (scoliosis), และกระดูกสะบักสูงแต่กำเนิด (congenital high scapula)[17]

การเสวยราชย์

แก้

เมื่อคำนึงถึงพระชนม์ขณะเสด็จสู่พระราชสมบัติ น่าเชื่อว่า ทุตอังค์อามุนทรงมีที่ปรึกษาซึ่งมีปรีชาสามารถมาก ในจำนวนนี้ สันนิษฐานว่า รวมถึง โฮเร็มเฮ็บ (Horemheb) แม่ทัพ กับไอย์ (Ay) อุปราช โฮเร็มเฮ็บนั้นบันทึกว่า ทุตอังค์อามุนทรงตั้งตนเป็น "เจ้าแผ่นดิน" (lord of the land) อันเป็นตำแหน่งเจ้าชายที่ให้สืบทอดกันได้โดยสายเลือด และให้มีหน้าที่รักษากฎหมาย โฮเร็มเฮ็บกล่าวด้วยว่า ตนสามารถระงับพระโทสจริตของทุตอังค์อามุนได้[18]

นโยบายในประเทศ

แก้

เมื่อครองราชย์ได้ 3 ปี ทุตอังค์อามุนทรงล้มเลิกความเปลี่ยนแปลงหลายประการที่เกิดขึ้นในรัชกาลพระบิดา ทุตอังค์อามุนทรงเลิกบูชาสุริยเทพอาเท็นแล้วทรงกลับไปนับถืออามุนเป็นเทพสูงสุดตามเดิม นอกจากนี้ ยังทรงเลิกการห้ามลัทธิอามุน ทั้งประสาทเอกสิทธิ์หลายประการกลับคืนให้แก่คณะสงฆ์ในลัทธิอามุนด้วย อนึ่ง ทุตอังค์อามุนทรงให้ย้ายพระนครจากแอเคทาเท็น (Akhetaten) กลับไปยังทีบส์ (Thebes) เมืองแอเคทาเท็นจึงร้างแต่บัดนั้น[19] ในช่วงนี้เองที่ทรงเปลี่ยนพระนามจาก "ทุตอังค์อาเท็น" อันหมายความว่า องค์อวตารแห่งอาเท็น เป็น "ทุตอังค์อามุน" ซึ่งแปลว่า องค์อวตารแห่งอามุน

ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทุตอังค์อามุนโปรดให้สร้างวัดจำนวนมากถวายเทพอามุน โดยเฉพาะที่เมืองทีบส์และเมืองคาร์นัก (Karnak) ทั้งมีการสร้างอนุสาวรีย์มากมาย บานประตูสุสานของพระองค์ก็โปรดให้จารึกว่า พระองค์ "ทรงดำรงพระชนม์เพื่อยังให้ภาพลักษณ์ของเทพยเจ้าเป็นรูปร่างขึ้น" อนึ่ง ยังโปรดให้ฟื้นฟูเทศกาลตามประเพณีเก่า เช่น บรรดาเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับสัตว์สวรรค์มีโคอาพิส (Apis) และสิงห์โฮเรมาเค็ต (Horemakhet) เป็นต้น ตลอดจนเทศกาลโอเพ็ต (Opet)

ทุตอังค์อามุนยังโปรดให้สร้างศิลาจารึกบันทึกว่า "วัดเทพยดาฟ้าดิน...ล้วนปรักหักพัง เทวสถานล้วนร้างราและรกชัฏ โบสถ์ทั้งหลายก็สิ้นสลายไป ทั้งศาลเจ้ายังถูกใช้เป็นทางผ่าน...สิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเมินเฉยต่อแผ่นดินนี้เสียแล้ว...ผู้ใดจะขอพรสิ่งใดเทวาก็มิทรงนำพา"[20]

นโยบายต่างประเทศ

แก้

ในรัชกาลแอเคนาเท็น เศรษฐกิจตกต่ำและโกลาหลเป็นอันมาก ทั้งความสัมพันธ์กับอาณาจักรอื่นก็ถูกทอดทิ้ง ทุตอังค์อามุนจึงมีพระประสงค์จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับแคว้นมิแทนนี (Mitanni) ปรากฏว่า นโยบายของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เห็นได้จาก พระราชบรรณาการที่ทรงได้รับจากหลายดินแดนและเก็บไว้ในสุสานของพระองค์ อย่างไรก็ดี แม้ความสัมพันธ์พัฒนาแล้ว แต่การศึกกับบางประเทศยังมิอาจหลีกเลี่ยงได้ วัดที่ไว้พระศพในเมืองทีบส์จารึกสงครามกับชาวนิวเบีย (Nubians) และเอเชีย (Asiatics) เอาไว้ ทั้งสุสานของพระองค์ยังมีคลังแสงซึ่งไว้เกราะและพระราชยานสำหรับการรบด้วย แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ทุตอังค์อามุนมิได้ทรงร่วมรบด้วยพระองค์เอง เพราะทรงพระเยาว์มาก ทั้งพระพลานามัยก็ไม่สู้สมบูรณ์[7][21]

พระพลานามัย

แก้

ทุตอังค์อามุนทรงสูงราว 180 เซนติเมตร[22] แต่ทรงผอมแห้งแรงน้อย พระกายอ่อนแอและผิดรูป การชันสูตรพระศพเมื่อปี 2013 พบว่า ทรงมีความผิดปรกติทางพระกายหลายประการ คือ พระปิฐิกัณฐกัฐิโกงคด (kyphoscoliosis) เล็กน้อย, พระบาทแบน (pes planus), ไม่มีพระอัฐิในนิ้วพระบาทขวา (hypophalangism of the right foot) และพระอัฐิฝ่าพระบาทซ้ายตาย (necrosis of metatarsal bones of the left foot) [23] ฉะนั้น จึงเป็นเหตุที่ปรากฏรูปเขียนว่า เสด็จไปหนใดก็ทรงอาศัยธารพระกร[7] การค้นคว้าอีกชุดยังแสดงว่า ทุตอังค์อามุนมี "พระตาลุโหว่เล็กน้อย"[24] ทั้งยังพบว่า พระทนต์หน้าหนา และต้นพระหนุยื่น ลักษณะเหล่านี้เป็นกรรมพันธุ์ของสายพระโลหิตทุตโมซิด (Thutmosid) และเป็นความบกพร่องทางพันธุกรรมซึ่งสืบเนื่องมาจากการสมสู่กันระหว่างญาติสนิท รวมถึง พระบิดากับพระมารดาซึ่งเป็นพระเชษฐาและพระภคินีกัน[25][26]

อนึ่ง มีการตรวจพบว่า พระศพของพระราชวงศ์ผู้สืบสันดานทุตอังค์อามุนล้วนมีดรรชนีศีรษะมากกว่า 75 หมายความว่า พระราชวงศ์เหล่านี้มีพระเศียรยาว (dolichocephaly) ส่วนทุตอังค์อามุนเอง ดรรชนีศีรษะอยู่ที่ 83.9 หมายความว่า พระสิรัฐิใหญ่แบน (brachycephaly) [27]

การสิ้นพระชนม์

แก้
 
พระรูปเหมือน สลักขึ้นจากไม้ พบในสุสานของพระองค์

บันทึกเรื่องราวในปลายพระชนม์นั้นไม่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน มีการศึกษาขนานใหญ่หลายครั้งเพื่อวินิจฉัยสาเหตุการสิ้นพระชนม์ นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาหลายปีเพื่อวินิจฉัยว่า เหตุใดทุตอังค์อามุนซึ่งเสวยราชย์เมื่อพระชนม์ราว 9 ถึง 10 ชันษาจึงสวรรคตเมื่อพระชนม์ประมาณ 18 ถึง 19 ชันษา แต่สาเหตุดังกล่าวก็ยังเป็นที่อภิปรายกันมากอยู่ในทุกวันนี้

ร่ำลือกันว่า ทุตอังค์อามุนทรงถูกปลงพระชนม์ มีหลายทฤษฎีที่เสนอแนะกันขึ้นมา 1 ในนั้นว่า ชันสูตรพระสิรัฐิแล้วพบรอยรอย 1 จึงน่าเชื่อว่า ทรงถูกตีพระเศียรจนถึงแก่พระชนม์ ทฤษฎีอื่นว่า ชันสูตรพระชงฆ์แล้วเชื่อว่า พระชงฆ์หักจนนำไปสู่การสิ้นพระชนม์อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> เปิดผิดรูปหรือมีชื่อที่ใช้ไม่ได้

นอกจากนี้ มีการสันนิษฐานว่า ประชวรพระโรคบางประการ เช่น กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan syndrome), กลุ่มอาการปัญญาอ่อน (mental retardation), กลุ่มอาการโฟรลิช (Fröhlich syndrome), กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter syndrome), กลุ่มอาการต่อต้านแอนโดรเจน (androgen insensitivity syndrome), กลุ่มอาการอะโรมาเทสเกินพอดี (aromatase excess syndrome) ประกอบกลุ่มอาการทางรอยประสานกระดูกกะโหลกแบ่งซ้ายขวา (sagittal craniosynostosis syndrome) [28] หรือโรคลมชักแบบ temporal lobe[29] อนึ่ง ในเดือนมิถุนายน 2010 นักวิทยาศาสตร์เยอรมันแถลงว่า มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ทุตอังค์อามุนสิ้นพระชนม์เพราะโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell disease) แต่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ไม่ยอมรับทฤษฎีนี้[30] โดยอ้างว่า ไม่ได้ใช้วิธีวิจัยที่เหมาะสม[31]

ในปี 2005 มีนักวิชาการเสนอว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ พระชงฆ์ขวาหัก น่าเชื่อว่า พระอาการดังกล่าวติดเชื้อลุกลามนำไปสู่การสิ้นพระชนม์[32] ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2012 ดอกเตอร์ (Hutan Ashrafian) อาจารย์และศัลยแพทย์จากราชวิทยาลัยลอนดอน (Imperial College London) สนับสนุนทฤษฎีเรื่องโรคลมชักแบบ temporal lobe เขาเชื่อว่า โรคลมชักน่าจะเป็นสาเหตุให้ทรงล้มอย่างแรงจนพระชงฆ์หัก[29]

ในปี 2005 นั้นเอง คณะวิจัยโบราณคดี รังสีวิทยา และพันธุกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย เยเฮีย กัด (Yehia Gad) และโซมาเอีย อิสมาอิล (Somaia Ismail) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยแห่งชาติ (National Research Centre) ในกรุงไคโร พร้อมด้วยอัชรัฟ เซลิม (Ashraf Selim) และซาฮาร์ ซาลีม (Sahar Saleem) อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร (Cairo University) กับทั้งคาร์สเทิน พุสช์ (Carsten Pusch) อาจารย์มหาวิทยาลัยเอเบอร์ฮาร์ดคาลส์ (Eberhard Karls University) ประเทศเยอรมนี อัลเบิร์ต ซิงก์ (Albert Zink) จากสถาบันมัมมี่และมนุษย์หิมะยูแรก (EURAC-Institute for Mummies and the Iceman) ประเทศอิตาลี และพอล กอสต์เนอร์ (Paul Gostner) จากโรงพยาบาลกลางบอลซาโน (General Hospital of Bolzano) ประเทศอิตาลี[33][34] ร่วมกันตรวจพระศพทุตอังค์อามุนโดยวิธีถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ เชื่อว่า พระองค์มิได้สิ้นพระชนม์เพราะทรงถูกตีพระเศียร[26] นอกจากนี้ ในพระกายยังพบความบกพร่องแต่กำเนิดซึ่งมีมากในหมู่เด็กที่เกิดจากการร่วมประเวณีระหว่างญาติสนิท ญาติสนิทที่สมสู่กันจะส่งกรรมพันธุ์ที่เป็นอันตรายผ่านไปยังบุตร บุตรที่บิดามารดาเป็นญาติสนิทกันจึงมักมีความบกพร่องทางพันธุกรรมอย่างเห็นประจักษ์[35] อนึ่ง ที่เคยตรวจพบว่า พระตาลุโหว่นั้น ก็สันนิษฐานว่า เป็นผลมาจากความบกพร่องทางพันธุกรรมดังกล่าวด้วย[36] จึงมีการตรวจสอบต่อไปว่า ทุตอังค์อามุนทรงกำเนิดมาจากพระบิดาและพระมารดาที่เป็นพระญาติสนิทกันหรือไม่

ในปี 2008 คณะข้างต้นได้วิจัยกรรมพันธุ์ของทุตอังค์อามุนพร้อมด้วยสมาชิกพระราชวงศ์โดยอาศัยซากพระศพ พบว่า ตัวอย่างสารพันธุกรรมพิสูจน์ว่า พระบิดาของทุตอังค์อามุน คือ ฟาโรห์แอเคนาเท็น แต่พระมารดามิใช่พระมเหสีที่ปรากฏพระนามอยู่พระองค์ใดเลย กลับเป็น 1 ในพระกนิษฐภคินีทั้ง 5 ของแอเคนาเท็นเอง แต่ยังไม่อาจระบุให้ชัดว่า เป็นพระองค์ใด[35] ระบุได้แต่เพียงว่า พระศพของพระมารดาทุตอังค์อามุน คือ ซากหมายเลขเควี 35 วายแอล (KV35YL) ที่เรียกกันว่า "ท่านหญิงน้อย" อันเป็นซากที่พบเคียงพระศพพระนางทีเย (Tiye) ในสุสานหมายเลขเควี 35 (KV35) การตรวจสารพันธุกรรมพบว่า ท่านหญิงน้อยเป็นพระธิดาของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) กับพระนางทีเย เช่นเดียวกับแอเคนาเท็น ฉะนั้น แอเคนาเท็นกับท่านหญิงน้อยจึงเป็นพระเชษฐาและภคินีกัน[25]

นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) ฉบับเดือนกันยายน 2010 ลงบทความว่า เนื่องจากทุตอังค์อามุนทรงกำเนิดมาจากการที่พระบิดาร่วมประเวณีกับพระญาติสนิท คือ พระกนิษฐภคินีของพระบิดาเอง ทุตอังค์อามุนจึงอาจทรงมีความบกพร่องทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์[26]

อย่างไรก็ดี ในการวิจัยครั้งนี้ ยังได้วิเคราะห์สารพันธุกรรมจากรอยนิ้วมือประกอบกลวิธีอื่น ๆ ผลลัพธ์เป็นการบอกล้างทฤษฎีที่ว่า ทุตอังค์อามุนประชวรพระอุระโต (gynecomastia), กลุ่มอาการทางรอยประสานกระดูกกะโหลก หรือกลุ่มอาการมาร์แฟน ตามที่เคยเสนอกันมาดังกล่าว แต่ปรากฏแน่ชัดว่า ในหมู่พระราชวงศ์ของทุตอังค์อามุนนั้นมีสภาพวิรูป (malformation) คือ โครงสร้างหรือรูปร่างทางกายผิดปรกติ นอกจากนี้ ชันสูตรพระศพทุตอังค์อามุนแล้วยังพบว่า มีพระโรคทางพยาธิวิทยาหลายประการ รวมถึงโรคโคเลอร์ชนิดที่ 2 (Köhler disease II) กระนั้น โรคเหล่านี้ใช่ว่าจะส่งผลถึงตายโดยลำพัง จึงมีการตรวจสอบต่อไป การตรวจสอบทางพันธุกรรมสำหรับสารพันธุกรรม STEVOR, AMA1 หรือ MSP1 ซึ่งมีไว้สำหรับวิเคราะห์หาปรสิต Plasmodium falciparum นั้นปรากฏว่า พระศพเจ้านาย 4 พระองค์ รวมถึงพระศพทุตอังค์อามุน มีสิ่งบ่งชี้ถึงเชื้อมาลาเรียในเขตร้อน ซึ่งเป็นมาลาเรียสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด[37]

ซาฮี ฮาวัส (Zahi Hawass) นักโบราณคดีและประธานสภาโบราณคดีสูงสุดแห่งอียิปต์ (Egyptian Supreme Council of Antiquity) ซึ่งเข้าร่วมวิจัยด้วย แถลงว่า ผลการตรวจสารพันธุกรรมพบว่า ทุตอังค์อามุนประชวรมาลาเรียหลายครั้งในปลายพระชนม์ เป็นไปได้ที่ทุตอังค์อามุนจะทรงประสบความบกพร่องทางพันธุกรรมที่ทรงมีมาแต่กำเนิดอยู่แล้ว เมื่อประชวรมาลาเรีย หรือพระชงฆ์หักดังที่เคยสันนิษฐานกันอีก ก็อาจเป็นความร้ายแรงเกินกว่าที่พระกายจะรับได้อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> เปิดผิดรูปหรือมีชื่อที่ใช้ไม่ได้[38]

นอกจากนี้ การตรวจทางแพทยศาสตร์อีกชุด 1 เมื่อปี 2013 พบว่า ทุตอังค์อามุนทรงมีความผิดปรกติทางพระกายหลายประการ คือ พระปิฐิกัณฐกัฐิโกงคดเล็กน้อย พระบาทแบน ไม่มีพระอัฐิในนิ้วพระบาทขวา และพระอัฐิฝ่าพระบาทซ้ายตาย ทั้งยังพบเช่นเดียวกับคณะวิจัยข้างต้นว่า ไม่ช้าไม่นานก่อนสิ้นพระชนม์นั้น ทุตอังค์อามุนประชวรมาลาเรีย พร้อมพระชงฆ์ขวาหัก[23]

อนึ่ง ปลายปี 2013 ดอกเตอร์คริส เนาวน์ตัน (Chris Naunton) นักวิทยาการอียิปต์และนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันแครนฟีลด์ (Cranfield Institute) ชันสูตรพระศพแบบเสมือนจริง (virtual autopsy) พบร่องรอยการบาดเจ็บ ณ ช่วงล่างพระกาย พนักงานสอบสวนด้านอุบัติเหตุรถยนต์จึงใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพจำลองอุบัติเหตุราชรถ เป็นเหตุให้ดอกเตอร์เนาวน์ตันสรุปว่า ทุตอังค์อามุนสิ้นพระชนม์เพราะราชรถชน (chariot crash) กล่าวคือ ขณะประทับนั่งด้วยพระชงฆ์ ทรงถูกราชรถกระแทกจนพระผาสุกะและพระอัฐิเชิงกรานแหลก[39][40]

นอกจากนี้ จากการประชุมปรึกษากับดอกเตอร์โรเบิร์ต คอนนอลลี (Robert Connolly) นักมานุษยวิทยา และดอกเตอร์แมททิว พอนติง (Matthew Ponting) นักโบราณคดีด้านนิติเวชศาสตร์ ประกอบกับการพิจารณาบันทึกของเฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ซึ่งระบุว่า พระศพถูกเผา ดอกเตอร์เนาวน์ตันเชื่อว่า พระศพทุตอังค์อามุนเกิดลุกไหม้ขณะอยู่ในหีบ ดอกเตอร์เนาวน์ตันสันนิษฐานว่า น้ำมันอาบศพ แก๊สออกซิเจน และผ้าลินิน ก่อปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้อากาศในหีบร้อนขึ้นกว่า 200 องศาเซลเซียส เขากล่าวว่า "แน่นอนว่า คงไม่มีคิดใครคาดคิดถึงการเผาไหม้และความเป็นไปได้ที่ว่า การทำมัมมี่อย่างลวก ๆ จะทำให้พระศพสันดาปขึ้นเองในเวลาไม่ช้าไม่นานหลังการฝัง"[39]

สุสาน

แก้

พระศพทุตอังค์อามุนฝังไว้ ณ หุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) ในสุสานซึ่งค่อนข้างเล็กไม่สมพระเกียรติ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสิ้นพระชนม์กะทันหัน ยังไม่ทันที่สุสานหลวงอันโอ่อ่าจะสร้างสำเร็จ จึงบรรจุพระศพ ณ สุสานที่เตรียมไว้สำหรับผู้อื่นแทน เพื่อให้การถนอมพระศพ 7 วันตั้งแต่สิ้นพระชนม์จนถึงฝังสามารถดำเนินไปได้[41]

สุสานของพระองค์ถูกปล้นอย่างน้อยสองครั้ง เมื่อพิเคราะห์ข้าวของที่ถูกลักไป ซึ่งรวมถึงเครื่องหอมและน้ำมันอันเป็นของสดของเสียได้ กับทั้งพิจารณาวิธีบูรณะสุสานหลังการบุกรุกแล้ว ปรากฏชัดเจนว่า การปล้นมีขึ้นในไม่กี่เดือนหลังจากการฝังพระศพ

ดูเหมือนว่า ชาวอียิปต์โบราณจะลืมทุตอังค์อามุนไปในเวลาไม่นานหลังสิ้นพระชนม์ และทุตอังค์อามุนทรงหายไปจากความทรงจำของสาธารณชนอย่างแท้จริงโดยไม่ช้า จึงไม่มีผู้ใดล่วงรู้หลักแหล่งแห่งสุสานของพระองค์อีก ในคริสต์ทศวรรษที่ 1920 มีการก่อสร้างบ้านเรือนคนงานเหนือปากสุสาน โดยไม่ทราบว่า สิ่งใดอยู่ภายใต้ผืนดินนั้น ทุตอังค์อามุนยังทรงถูกลืมต่อไปแม้มีการขุดค้นหุบผากษัตริย์อย่างเป็นระบบแล้ว จนปี 1922 เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ กับจอร์จ เฮอร์เบิร์ต เอิร์ลที่ 5 แห่งคาร์นาวอน จึงพบสุสานของพระองค์ และก่อให้เกิดข่าวลือเรื่อง "คำสาปฟาโรห์" ต่อมาอีกหลายปี เชื่อว่า หนังสือพิมพ์ต้องการสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่องในช่วงพบสุสาน จึงลงข่าวเน้นย้ำเกี่ยวกับความตายของบุคคลหลายคนที่ได้เข้าไปในสุสาน อย่างไรก็ดี การศึกษาในชั้นหลังพบว่า อายุของผู้ตายทั้งที่ได้เข้าไปในสุสานและที่ร่วมการตรวจค้นแต่ไม่ได้เข้าสุสานนั้นไม่แตกต่างกันในทางสถิติเลย[42]

ปัจจุบัน พระศพทุตอังค์อามุนยังคงประดิษฐานอยู่ในสุสานในหุบผากษัตริย์[43] แต่ได้รับการนำออกแสดงบ้าง เช่น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2007 มีการนำพระศพขึ้นจากสุสานไปจัดแสดง ณ เมืองลักซอร์ (Luxor) โดยย้ายพระศพซึ่งพันผ้านั้นออกจากหีบทอง และบรรจุไว้ในโลงแก้วที่มีระบบควบคุมอากาศ ก่อนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม[43]

หลังสิ้นพระชนม์

แก้
 
อังค์เอสเอ็นอามุนถวายบุปผาแก่ทุตอังค์อามุนเพื่อแสดงความรัก ภาพสลักบนหีบพระศพทุตอังค์อามุน

เมื่อทุตอังค์อามุนสิ้นพระชนม์แล้ว อังค์เอสเอ็นอามุน ซึ่งเป็นทั้งพระเชษฐภคินีและพระมเหสี กำลังมีพระชนม์ราว 21 ปี

ภายหลัง ปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารที่ได้จากเมืองฮัตตูซา (Hattusa) เมืองหลวงแคว้นฮิตไทต์ (Hittite) ว่า พระราชินีอียิปต์พระองค์หนึ่งมีอักษรลักษณ์ไปถึงพระเจ้าซุปพิลูลิอูมาที่ 1 (Suppiluliuma I) แห่งฮิตไทต์ ความว่า[44]

"สามีหม่อมฉันสิ้นแล้ว และหม่อมฉันหาโอรสมิได้ ได้ฟังว่า พระองค์มีโอรสมากนัก จะประทานมาเป็นสามีหม่อมฉันสักองค์ได้หรือไม่ หม่อมฉันไม่ปรารถนาจะได้บริวารคนใดของหม่อมฉันมาเป็นสามีเลย หม่อมฉันกลัวเหลือเกิน"

อักษรลักษณ์ดังกล่าวนับว่า ผิดธรรมดา เพราะชาวอียิปต์มักถือตนสูงกว่าชนต่างชาติ ฉะนั้น พระเจ้าซุปพิลูลิอูมาที่ 1 จึงตกพระทัยนัก ถึงกับทรงอุทานท่ามกลางพระราชสำนักว่า "เกิดมาทั้งชีวิตยังไม่เคยพบเจอเรื่องเช่นนี้เลย"[45] พระเจ้าซุปพิลูลิอูมาที่ 1 ทรงส่งราชทูตไปสืบความเมือง และตัดสินพระทัยส่งแซนแนนซา (Zannanza) พระโอรส ไปเสกสมรสกับพระราชินีพระองค์นั้น แม้จะทำให้พระองค์หมดโอกาสที่จะได้อียิปต์มาเป็นเมืองขึ้นอีกก็ตาม อย่างไรก็ดี แซนแนนซาถูกปลงพระชนม์กลางทาง[46]

อักษรลักษณ์นั้นไม่แจ้งว่า พระราชินีอิยิปต์พระองค์ดังกล่าวเป็นใคร แต่จดหมายเหตุฮิตไทต์ออกพระนามว่า "ดักฮามุนซู" (Dakhamunzu) ซึ่งน่าเชื่อว่า เป็นการทับศัพท์คำในภาษาอียิปต์ว่า "ทาเฮเมตเนซู" (Tahemetnesu) อันมีความหมายเพียงว่า ชายาพระเจ้าแผ่นดิน[47] ในการนี้ นักวิชาการลงความเห็นว่า พระราชินีพระองค์นั้นน่าจะเป็นเนเฟอร์ทีที (Nefertiti), เมรีทาเท็น (Meritaten) หรืออังค์เอสเอ็นอามุน[48] โดยเห็นกันว่า อังค์เอสเอ็นอามุนเป็นไปได้ที่สุด เพราะเวลานั้นไม่มีผู้ใดจะสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากทุตอังค์อามุน ส่วนพระมหากษัตริย์ผู้สวามีของพระราชินีอีกสองพระองค์นั้นล้วนมีรัชทายาทอยู่[44] อีกประการหนึ่ง คำว่า "บริวารคนใดของหม่อมฉัน" ในอักษรลักษณ์ข้างต้นนั้น เชื่อกันว่า หมายถึง ไอย์ ซึ่งเป็นอุปราชและปรากฏว่า พยายามกดดันให้อังค์เอสเอ็นอามุนสมรสกับตน เพื่อที่ตนจะได้มีความชอบธรรมในการเข้าสู่พระราชบัลลังก์แห่งอียิปต์[49] นอกจากนี้ การกดดันของอุปราชไอย์ยังน่าจะเป็นที่มาของถ้อยคำที่ว่า "หม่อมฉันกลัวเหลือเกิน" ด้วย[50]

ไม่ว่าพระราชินีผู้มีอักษรลักษณ์นั้นจะเป็นผู้ใด อังค์เอสเอ็นอามุนก็ได้เสกสมรสกับอุปราชไอย์ซึ่งสันนิษฐานว่า มีศักดิ์เป็นพระอัยกา (ตา) ของนางเอง[48] และอุปราชไอย์ผู้ชราก็ได้ขึ้นเป็นฟาโรห์ต่อจากทุตอังค์อามุน นามรัชกาลว่า "เคเพอร์เคเพรูเร" (Kheperkheperure) แปลว่า "เทพราปรากฏอยู่ชั่วกาล"[51] อย่างไรก็ดี หลังเสกสมรสกับไอย์แล้วไม่นาน อังค์เอสเอ็นอามุนก็เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ และไม่ปรากฏว่า มีโบราณสถานหรือโบราณวัตถุใด ๆ แสดงพระสถานะของนางซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของฟาโรห์ไอย์เลย ทั้งผนังสุสานของไอย์ก็กลับบันทึกว่า เตย์ ภริยาผู้สูงวัยของไอย์ ได้รับตั้งเป็นพระอัครมเหสีของไอย์ มิใช่อังค์เอสเอ็นอามุน[52]

อ้างอิง

แก้
  1. Paul Schemm (16 February 2010). "Frail boy-king Tut died from malaria, broken leg". Associated Press. เก็บถาวร 27 กุมภาพันธ์ 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. 2.0 2.1 2.2 "Definition of 'Tutankhamen'". Collins Dictionary. Collins. 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-01-27.
  3. 3.0 3.1 "Tutankhamen". dictionary.com. Dictionary.com, LLC. 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-01-27.
  4. "Tutankhamen". English Oxford Living Dictionaries. Oxford University Press. 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-01-27.[ลิงก์เสีย]
  5. Zauzich, Karl-Theodor (1992). Hieroglyphs Without Mystery. Austin: University of Texas Press. pp. 30–31. ISBN 978-0-292-79804-5.
  6. "Manetho's King List".
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Hawass, Zahi (17 February 2010). "Ancestry and Pathology in King Tutankhamun's Family". The Journal of the American Medical Association. 303 (7): 638–647. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "The Egyptian Exhibition at Highclere Castle". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-03. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013.
  9. Hawass, Zahi A. The golden age of Tutankhamun: divine might and splendor in the New Kingdom. American Univ in Cairo Press, 2004.
  10. "Digging up trouble: beware the curse of King Tutankhamun". The Guardian.
  11. Hawass, Zahi; และคณะ (17 February 2010). "Ancestry and Pathology in King Tutankhamun's Family". The Journal of the American Medical Association. 303 (7): 640–641. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013.
  12. Powell, Alvin (12 February 2013). "A different take on Tut". Harvard Gazette. สืบค้นเมื่อ 12 February 2013.
  13. Jacobus van Dijk. "The Death of Meketaten" (PDF). p. 7. สืบค้นเมื่อ 2 October 2008.
  14. "Egypt Update: Rare Tomb May Have Been Destroyed". Science Mag. สืบค้นเมื่อ 1 November 2013.
  15. "Classroom TUTorials: The Many Names of King Tutankhamun" (PDF). Michael C. Carlos Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2013-10-19. สืบค้นเมื่อ 10 July 2013.
  16. Hawass, Zahi and Saleem, Sahar N. "Mummified daughters of King Tutankhamun: Archaeological and CT studies." The American Journal of Roentgenology 2011. Vol 197, No. 5, pp. W829–836.
  17. "Skeletal dysplasia in ancient Egypt".
  18. The Boy Behind the Mask, Charlotte Booth, p. 86–87, Oneworld, 2007, ISBN 978-1-85168-544-8.
  19. Erik Hornung, Akhenaten and the Religion of Light, Translated by David Lorton, Ithaca, New York: Cornell University Press, 2001, ISBN 0-8014-8725-0.
  20. Hart, George (1990). Egyptian Myths. University of Texas Press. p. 47. ISBN 0-292-72076-9.
  21. The Boy Behind the Mask, Charlotte Booth, p. 129–130, Oneworld, 2007, ISBN 978-1-85168-544-8.
  22. "Radiologists Attempt To Solve Mystery Of Tut's Demise" from ScienceDaily.com
  23. 23.0 23.1 Hussein K, Matin E, Nerlich AG (2013) Paleopathology of the juvenile Pharaoh Tutankhamun-90th anniversary of discovery. Virchows Arch
  24. Handwerk, Brian (8 March 2005). "King Tut Not Murdered Violently, CT Scans Show". National Geographic News. p. 2. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. 25.0 25.1 "King Tut's Family Secrets – National Geographic Magazine". Ngm.nationalgeographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-18. สืบค้นเมื่อ 11 October 2010.
  26. 26.0 26.1 26.2 "King Tut's Family Secrets – National Geographic Magazine". Ngm.nationalgeographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-21. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013.
  27. doi:10.1001/jama.2010.121
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  28. Markel, H. (17 February 2010). "King Tutankhamun, modern medical science, and the expanding boundaries of historical inquiry". JAMA. 303 (7): 667–668. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013. (ต้องรับบริการ)
  29. 29.0 29.1 Rosenbaum, Matthew (14 September 2012). "Mystery of King Tut's death solved?". ABC News. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013.
  30. Pays, JF (December 2010). "Tutankhamun and sickle-cell anaemia". Bull Soc Pathol Exot. 103 (5, number 5): 346–347. doi:10.1007/s13149-010-0095-3. PMID 20972847. สืบค้นเมื่อ 21 October 2013.(Abstract)
  31. "DNA experts disagree over Tutankhamun's ancestry". Archaeology News Network. 2011-01-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 24 February 2011.
  32. Hawass, Zahi. "Tutankhamon, segreti di famiglia". National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-20. สืบค้นเมื่อ 2 June 2013.
  33. "EURAC research – Research – Institutes – Institute for Mummies and the Iceman – Home". Eurac.edu. สืบค้นเมื่อ 11 October 2010.[ลิงก์เสีย]
  34. "King Tut's Family Secrets – National Geographic Magazine". Ngm.nationalgeographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-19. สืบค้นเมื่อ 11 October 2010.
  35. 35.0 35.1 Bates, Claire (20 February 2010). "Unmasked: The real faces of the crippled King Tutankhamun (who walked with a cane) and his incestuous parents". Daily Mail. London.
  36. "King Tut's Family Secrets – National Geographic Magazine". Ngm.nationalgeographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-09. สืบค้นเมื่อ 11 October 2010.
  37. JAMA. 2010 Feb 17;303 (7) :638-47. Ancestry and pathology in King Tutankhamun's family. Hawass Z, Gad YZ, Ismail S, Khairat R, Fathalla D, Hasan N, Ahmed A, Elleithy H, Ball M, Gaballah F, Wasef S, Fateen M, Amer H, Gostner P, Selim A, Zink A, Pusch CM. Source Supreme Council of Antiquities, Cairo, Egypt. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20159872.1
  38. Roberts, Michelle (2010-02-16). "'Malaria' killed King Tutankhamun". BBC News. สืบค้นเมื่อ 12 March 2010.
  39. 39.0 39.1 Owen, Jonathan (3 November 2013). "Solved: The mystery of King Tutankhamun's death". The Independent. สืบค้นเมื่อ 3 November 2013.
  40. Webb, Sam (2 November 2013). "Mummy-fried! Tutankhamun's body spontaneously combusted inside his coffin following botched embalming job after he died in speeding chariot accident". The Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 3 November 2013.
  41. "The Golden Age of Tutankhamun: Divine Might and Splendour in the New Kingdom", Zahi Hawass, p. 61, American University in Cairo Press, 2004, ISBN 977-424-836-8
  42. Hankey, Julie (2007). A Passion for Egypt: Arthur Weigall, Tutankhamun and the 'Curse of the Pharaohs'. Tauris Parke Paperbacks. pp. 3–5. ISBN 978-1-84511-435-0.
  43. 43.0 43.1 Michael McCarthy (2007-10-05). "3,000 years old: the face of Tutankhaten". The Independent. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-05. สืบค้นเมื่อ 2014-01-13.
  44. 44.0 44.1 Manley, Suzie. "Ankhesenamun - Queen of Tutankhamun and Daughter of Akhenaten". Egypt * Pyramids * History.
  45. "The Deeds of Suppiluliuma as Told by His Son, Mursili II". Journal of Cuneiform Studies. 10 (2). 1956. สืบค้นเมื่อ 2012-09-08.
  46. Amelie Kuhrt (1997). The Ancient Middle East c. 3000 - 330 BC. Vol. 1. London: Routledge. p. 254.
  47. William McMurray. "Towards an Absolute Chronology for Ancient Egypt" (pdf). p. 5.
  48. 48.0 48.1 Grajetzki, Wolfram (2000). Ancient Egyptian Queens; a hieroglyphic dictionary. London: Golden House. p. 64.
  49. Christine El Mahdy (2001), "Tutankhamun" (St Griffin's Press)
  50. Brier, Bob (1999) "The Murder of Tutankhamen" (Berkeley Trade)
  51. Peter Clayton, Chronicle of the Pharaohs, Thames & Hudson Ltd, 1994. p136
  52. Dodson, Aidan (2004). The Complete Royal Families of Ancient Egypt. Thames & Hudson. p. 153. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthor= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้