ตำบลเพนียด
เพนียด เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อยู่ห่างจากที่ตั้งอำเภอโคกสำโรงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 8 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดลพบุรีประมาณ 63 กิโลเมตร
ตำบลเพนียด | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Tambon Phaniat |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ลพบุรี |
อำเภอ | โคกสำโรง |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 80.824 ตร.กม. (31.206 ตร.ไมล์) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 6,954 คน |
• ความหนาแน่น | 86.03 คน/ตร.กม. (222.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 15120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 160308 |
องค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด | |
---|---|
พิกัด: 15°04′30.9″N 100°47′38.3″E / 15.075250°N 100.793972°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ลพบุรี |
อำเภอ | โคกสำโรง |
การปกครอง | |
• นายก | พิชัย เชญชาญ |
รหัส อปท. | 06160307 |
ที่อยู่ที่ทำการ | เลขที่ 111 หมู่ที่ 7 ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี 15120 |
โทรศัพท์ | 03 6068 9824 |
โทรสาร | 03 6068 9824 |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้ชุมชนเพนียดเป็นที่คล้องช้าง เดิมมีสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง เรียกว่า สระพุน้ำไม่แห้ง อยู่ไม่ไกลจากภูเขาตะเภานัก ฝูงสัตว์ทั้งหลายจะพากันมากินน้ำที่พุนี้เป็นประจำรวมทั้งโขลงช้างด้วย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จมาประทับเมืองลพบุรี ได้ทรงทราบกิตติศัพท์ว่าเพนียดมีช้างป่ามากจึงเสด็จมาคล้องช้างที่นี่ โปรดให้สร้างเพนียดคล้องช้างขึ้นแต่ได้พุพังไปตามกาลเวลา พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยจากการคล้องช้าง จึงได้บรรทมในสถานที่แห่งน้ำ ต่อมาสถานที่นั้นได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดราชบรรทม และปัจจุบันคือวัดเพนียด
ชุมชนโบราณบ้านเพนียดตั้งอยู่ตรงหัวเขาสำเภาทางตะวันตกเฉียงใต้ เป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นในสมัยลพบุรี คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมา ชุมชนปัจจุบันตั้งอยู่บนเนินดินที่เป็นชุมชนโบราณที่มีการสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนนี้เป็นแหล่งหินทรายจากสันเขาสำเภาบริเวณที่พบโกลนพระพุทธรูปและกลีบขนุนของปราสาท ฐานรูปเคารพในบริเวณนี้ มากมายที่โขดเขาแห่งนี้ในวัดเพนียด ก็มีภาพสลักนูนตั้งบนผนังหินทรายเป็นพระพุทธรูปนั่งแบบลพบุรีหลายองค์และมีภาพสลักพระพุทธรูปนอนแบบอยุธยาบนเชิงเขา[1]
ตำบลเพนียดเป็นตำบลเก่าแก่ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ในอดีตเป็นตำบลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ต่อมาทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองตำบลเพนียดออกมาตั้งเป็นตำบลต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบไปด้วยบางส่วนของตำบลคลองเกตุ บางส่วนของตำบลเกาะแก้ว บางส่วนของตำบลสะแกราบ บางส่วนของตำบลดงมะรุม และตำบลวังเพลิง ปัจจุบันตำบลเพนียดมีพื้นที่ทั้งหมด 80.824 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 50,515.55 ไร่ มีองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
ทางราชการเห็นว่าตำบลเพนียดเป็นตำบลที่มีพื้นที่กว้างขวางมาก จึงได้แบ่งแยกตำบลออกเรื่อยมา ดังนี้
- วันที่ 24 ตุลาคม 2504 ตั้งตำบลคลองเกตุ แยกออกจากตำบลเพนียดและตำบลโคกสำโรง ตั้งตำบลเกาะแก้ว แยกออกจากตำบลเพนียดและตำบลโคกสำโรง ตั้งตำบลสะแกราบ แยกออกจากตำบลเพนียดและตำบลสระโบสถ์[2]
- วันที่ 22 สิงหาคม 2515 ตั้งตำบลดงมะรุม แยกออกจากตำบลเพนียดและตำบลสระโบสถ์[3]
- วันที่ 7 ตุลาคม 2518 ตั้งตำบลวังเพลิง แยกออกจากตำบลเพนียด[4]
- วันที่ 12 สิงหาคม 2523 โอนพื้นที่หมู่ 7 บ้านดงหนาม (ในขณะนั้น) ของตำบลเพนียด ไปตั้งเป็นหมู่ 8 บ้านดงหนาม ของตำบลดงมะรุม[5]
- วันที่ 28 กรกฎาคม 2524 โอนพื้นที่หมู่ 6 บ้านดอนไชโย (ในขณะนั้น) ของตำบลเพนียด ไปตั้งเป็นหมู่ 6 บ้านดอนไชโย ของตำบลวังเพลิง และโอนพื้นที่หมู่ 6 บ้านหนองปล้อง (ในขณะนั้น) ของตำบลวังเพลิง ไปตั้งเป็นหมู่ 6 บ้านหนองปล้อง ของตำบลเพนียด[6]
ตำบลเพนียดซึ่งมีสภาตำบลและมีหมู่บ้านเพนียดซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่อดีตและแยกออกถึง 5 หมู่บ้าน ในวันที่ 20 มกราคม 2531 นิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากราษฎรตำบลเพนียดจำนวนมากว่า ขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งสุขาภิบาลเพนียด เนื่องจากตำบลเพนียดมีประชากรอยู่หนาแน่น เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ สมควรที่จะยกฐานะเป็นสุขาภิบาล เพื่อให้มีการริเริ่มการปกครองตนเองในระบบท้องถิ่น ปกครองตนเองและพัฒนาหมู่บ้านเป็นแบบอย่างตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น[7] แต่ก็เป็นประเด็นที่ตกไป
จากนั้นสภาตำบลเพนียดจึงได้รับการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเพนียด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 และมีผลในวันที่ 30 มกราคม ปีเดียวกัน เป็นต้นมา[8]
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้ตำบลเพนียด ทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ตำบลเพนียด โดยทั่วไปพื้นที่จะเป็นภูเขาหินทราย สลับกับที่ราบ และจะมีคลอง ลำธารสั้น ๆ ตัดผ่าน เหมาะแก่การทำไร่ และทำนา บางส่วน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน เพื่อทำการเกษตร และทำการแกะสลักหินทรายเป็นรูปเครื่องใช้ต่าง ๆ และมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสะแกราบ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลวังเพลิง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลคลองเกตุ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
การปกครอง
แก้ตำบลเพนียดประกอบด้วยหมู่บ้านทั้งสิ้นจำนวน 10 หมู่บ้าน (ข้อมูลประชากรปี 2558)
หมู่ | ชื่อหมู่บ้าน | ประชากร (2558) | จำนวนบ้าน | ||
---|---|---|---|---|---|
ชาย | หญิง | รวม | |||
1 | เพนียด | 659 | 678 | 1,337 | 409 |
2 | เพนียด | 348 | 352 | 700 | 258 |
3 | เพนียด | 576 | 603 | 1,179 | 411 |
4 | นกเขาเปล้า | 374 | 357 | 731 | 235 |
5 | นกเขาเปล้า | 312 | 355 | 667 | 203 |
6 | หนองปล้อง | 167 | 189 | 356 | 105 |
7 | เพนียด | 293 | 280 | 573 | 247 |
8 | เพนียดพัฒนา | 275 | 314 | 589 | 188 |
9 | นกเขาเปล้าน้อย | 237 | 243 | 480 | 147 |
10 | หนองสะแก | 243 | 264 | 507 | 177 |
รวม | 3,484 | 3,635 | 7,119 | 2,380 |
สถานที่สำคัญ
แก้สถานีตำรวจภูธรเพนียด
ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นท้องที่ที่มีราษฎรหนาแน่น สมควรจะได้จัดตั้งสถานีตำรวจขึ้น เพื่อตรวจตราดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น จึงให้ตั้งสถานีตำรวจภูธรขึ้นที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยมีชื่อเรียกว่า “สถานีตำรวจภูธรเพนียด” มีเขตอำนาจการรับผิดชอบและพื้นที่การปกครองในเขตพื้นที่ตำบลเพนียด ตำบลคลองเกตุ และตำบลสะแกราบ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และให้อยู่ในความปกครองของสถานีตำรวจภูธรโคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[9] ปัจจุบันมีเขตอำนาจการรับผิดชอบและพื้นที่การปกครองในเขตพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลเพนียด ตำบลคลองเกตุ ตำบลดงมะรุม และตำบลสะแกราบ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตลพบุรี
แผนระยะแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตลพบุรี" เพื่อสนับสนุนนโยบายขยายโอกาสอุดมศึกษา ไปสู่ภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2539
โดยก่อนหน้านั้น กล่าวคือ ในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2539 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ. 2539 ณ พื้นที่ของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบทเกษตร อำเภอโคกเจริญ จังหวัด ลพบุรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สูตะบุตร) และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมประชุมปรึกษาราชการกับผู้ว่าราชการจังหวัด ลพบุรี (นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร) คณะผู้บริหารจังหวัดลพบุรีและผู้เกี่ยวข้องในการจัดหาพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ตามที่ทางจังหวัดลพบุรีเห็นว่า เหมาะสม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยินดีจะดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ในพื้นที่นั้น
จังหวัดลพบุรี โดยนายอำเภอโคกสำโรง (นายสมพงษ์ รัตนสัญญา) จึงได้ดำเนินการสำรวจ และเสนอพื้นที่ "ที่สาธารณประโยชน์หนองโสน" ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี พื้นที่ประมาณ 1,876 ไร่ เป็นพื้นที่จัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ (รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เฟื่องฟูพงศ์) รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนา (ศาสตราจารย์ ดร.ต่อกุล กาญจนาลัย) ประธานโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบทเกษตร (รองศาสตราจารย์ ดร.เดือน คำดี) และบุคลากรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปปรึกษาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ประธานหอการค้าจังหวัดลพบุรี นายอำเภอโคกสำโรง และเดินทางไปดูพื้นที่จัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี ณ ที่สาธารณประโยชน์หนองโสน และได้รายงานให้อธิการบดีทราบ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรีในพื้นที่ที่จังหวัดลพบุรี จัดหาให้นั้น[10]
วัดราชบรรทม หรือวัดเพนียด
มีประวัติมาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งเสด็จมาทรงคล้องช้างที่บริเวณเขาที่ตำบลเพนียดแห่งนี้ แล้วได้ประทับค้างแรมบริเวณหัวเขาดังกล่าว ต่อมาก็ได้สร้างวัด จึงให้ชื่อว่า วัดราชบรรทม เพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จมาบรรทม ณ บริเวณวัดราชบรรทม ดังกล่าว
อ้างอิง
แก้- ↑ โครงการตำบลคุณธรรม - ข้อมูลตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโคกสำโรงจังหวัดลพบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 78 (87 ง): 2190–2195. 24 ตุลาคม 2504.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (126 ง): 2125–2128. 22 สิงหาคม 2515.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอชัยบาดาลและอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 92 (207 ง): 2485–2518. 7 ตุลาคม 2518.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 97 (123 ง): 2734–2735. 12 สิงหาคม 2523.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (123 ง): 2469–2470. 28 กรกฎาคม 2524.
- ↑ "กระทู้ถามที่ ๒๗๒ ร. เรื่อง การตั้งสุขาภิบาลเพนียด ของนายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 105 (12 ง): (ฉบับพิเศษ) 21-24. 20 มกราคม 2531.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (จำนวน ๒๑๔๓ แห่ง)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (9 ง): 5–219. 30 มกราคม 2539. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งสถานีตำรวจภูธรตำบล [จำนวน ๑๘๙ สถานี]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (59 ง): (ฉบับพิเศษ) 8. 1 กรกฎาคม 2511.
- ↑ ประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตลพบุรี