ตลาดหัวรอ

ตลาดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ตลาดหัวรอ หรือ ตลาดสดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยุธยา เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ในตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตลาดล้อมด้วยแม่น้ำ 3 แม่น้ำ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี[1]

ประวัติ แก้

ตลาดหัวรอเป็นตลาดที่มีมามากกว่า 200 ปี[2] โดยคำว่า "หัวรอ" มาจากคำว่า "ทำนบรอ" หมายถึง หลักสำหรับปักกันกระแสน้ำไม่ให้กระทบฝั่งแรงเกินไปและใช้สำหรับเบี่ยงเบนกระแสน้ำในแม่น้ำ เนื่องจากบริเวณนั้นแม่น้ำไหลมาบรรจบกัน เอกสารจากหอหลวง (ยุคอยุธยา) ระบุว่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ทำนบรอกว้าง 3 วา (ราว 6 เมตร) มีช่องกลางแม่น้ำสำหรับเรือใหญ่น้อยผ่านไปมา เป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่งทั้งสองฟาก ตรงกลางที่มีช่องให้เรือผ่าน ปูกระดานเป็นสะพานช้าง ชักเข้า-ออกได้ ทำนบรอนี้พวกมอญในกองทัพหงสาวดีสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2099 ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[3]

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ตลาดหัวรอในสมัยนั้นเป็นตลาดท้องน้ำ มีลักษณะเป็นชุมทางแม่น้ำ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานครั้งแรกจากการที่เคยถูกใช้เป็นโรงบ่อนเบี้ยมาก่อนและมีห้องแถวไม้หลังคามุงจากเป็นตลาดค้าขายขนาดย่อม ๆ ก่อนที่ตลาดจะถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายไปใน พ.ศ. 2440 ต่อมา พ.ศ. 2460 ตลาดหัวรอได้มีการพัฒนาไปสู่ตลาดบกโดยเริ่มมีการสร้างห้องแถวใหม่เป็นเครื่องไม้หลังคามุงสังกะสีจำนวนถึง 226 ห้อง ในเวลาต่อมาตลาดบกหัวรอยังได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรือนแถวขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2488 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ได้มีการปรับปรุงตลาดเป็นตึกแถว และมีการขยายตัวของอาคารพาณิชย์บริเวณริมถนนอู่ทองมากขึ้น โดยส้านักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เริ่มรื้อห้องแถวไม้ 2 ชั้น แล้วปลูกสร้างตึกแถว 3–4 ชั้น[4]

ในสมัยปัจจุบันมีร้านค้า ร้านขายอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขนมโบราณและร้านโชว์ห่วยหลายร้าน โดยเฉพาะบริเวณถนนอู่ทอง[5]

อ้างอิง แก้

  1. "ตลาดหัวรอ". สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม.
  2. "อยู่เพื่อกิน : ตระเวนชิม 4 ร้านเด็ดในตลาดหัวรอ". อะเดย์.
  3. "เที่ยว "ตลาดหัวรอ" ตลาดสำคัญครั้งกรุงเก่า". มติชนสุดสัปดาห์.
  4. กัมปนาท เหล่าอุตสาหะ (2559). การพัฒนาพื้นที่ย่านตลาดหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
  5. "ชุมชนตลาดหัวรอ". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.