ตรุษจีนในนครสวรรค์

ตรุษจีนในนครสวรรค์ ประเพณีตรุษจีน ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นประเพณีเกี่ยวกับการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ของคนไทยเชื้อสายจีน ที่อยู่ในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีกิจกรรมการแสดงหลายอย่าง เช่น การแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ แห่มังกร เชิดสิงโต

ตรุษจีนนครสวรรค์

การแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีที่กล่าวเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องกันมา การแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ปากน้ำโพเริ่มครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสของชาวไหหนำ คุณเตียงตุ่น แช่ภู่ ว่าการแห่เจ้ามีมาก่อนที่จะเกิดโรคระบาด โดยสมัยก่อนแห่ทางน้ำใช้เวลาในการแห่ 2 วัน โดยอัญเชิญรูปจำลองเจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าพ่อกวนอู – เจ้าแม่ทับทิม ประทับบนเกี้ยว แล้วนำลงเรือบรรทุกข้าวหรือเรือบรรทุกไม้ ล่องไปทางตลาดใต้ บ้านตากุ๋ย แล้วอัญเชิญกลับศาล วันที่สองจะทำการแห่ขึ้นไปทางเหนือทางสถานีรถไฟ ขบวนแห่จะมีเฉพาะองค์เจ้าและพะโหล่ว ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกสะดวกจึงได้อัญเชิญออกแห่รอบตลาดปากน้ำโพ และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมของชาวไหหนำ คือการเชิดเสือพะโหล่ว สาวงามถือโบ้ยโบ้ (อาวุธเจ้า) ไซกี่ (ธง) และมาร่วมในขบวน

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 – 2462 เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุเพราะการแพทย์ การสาธารณสุข สมัยนั้นยังไม่เจริญเท่าที่ควร ชาวบ้านต้องพึ่งพาหมอตามบ้าน หรือชินแสจีน แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งโรคระบาดได้ ส่วนใหญ่หันไปพึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าพ่อแควใหญ่ (เจ้าพ่อเทพารักษ์) ได้ประทับทรง ทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ยันต์กระดาษ” หรือเรียกว่า “ฮู้” ให้ติดตัวหรือปิดไว้หน้าบ้าน และได้นำฮู้เผาไฟเพื่อทำน้ำมนต์ให้ประชาชนดื่มกินและประพรมรอบตลาด บริเวณใดที่ได้ทำพิธีแล้วก็จะใช้ผ้าแดงกั้นไว้ให้ประชาชนผ่านไปมาเส้นทางนี้ได้ เป็นผลให้การระบาดของโรคหมดไป ความศักดิ์สิทธิ์จากปากต่อปากที่เล่าขานและแรงศรัทธา จึงทำให้มีผู้คนศรัทธามากราบไหว้เพิ่มขึ้นทุกปี

จากแรงศรัทธานี้ทำให้ทั้งชาวไทย ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ และชาวจีนแต้จิ๋ว ได้เข้ามาร่วมในขบวนแห่โดยนำเอาศิลปะของตนเข้าร่วมในขบวนแห่ เช่น ขบวนสิงโต ขบวนมังกร ขบวนเอ็งกอ ขบวนล่อโก๊ว ฯลฯ และใน พ.ศ. 2510 ชาวไหหนำได้นำศิลปะการรำถ้วยเข้ามาในขบวนแห่และได้จัดเป็นประเพณีที่ได้ถือปฏิบัตินับแต่นั้นมา และตามบริษัท ห้างร้านต่างๆ ได้จัดโต๊ะรับเจ้าทั่วตลาดปากน้ำโพ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อกิจการและครอบครัว

สำหรับวันที่ใช้แห่ในช่วงที่มีแต่ชาวไหหนำนั้นขึ้นอยู่กับองค์เจ้าพ่อกำหนด แต่เมื่อมีหลายกลุ่มภาษามาร่วมในขบวนแห่ คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม แควใหญ่ จึงขอต่อเจ้าพ่อเทพารักษ์กำหนดวันที่แน่นอน ซึ่งในครั้งนั้นได้กำหนดวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนอ้ายของจีน (คือวันที่ 4 โดยให้เริ่มนับวันที่กำหนดเป็นวันตรุษจีนตามปฏิทิน เป็นวันที่ 1) โดยถือเป็นประเพณีที่ได้สืบทอดและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์นับแต่นั้นมาจนทุกวันนี้

ในอดีตขบวนแห่ของชาวไหหนำจะเลือกลูกหลานไหหนำเข้ามาร่วมในขบวนแห่ โดยทางคณะกรรมการจะนำส้มพร้อมผ้าเช็ดหน้าและซองอั่งเปาไปมอบให้ที่บ้าน เพื่อให้เข้าร่วมแห่และคนในครอบครัวนั้นๆ จะรู้สึกปลื้มใจที่ได้เข้าร่วมในขบวนแห่ โดยถ้าถูกเลือกให้ถือธงหรือโบ้ยโบ้ บิดามารดาบ้านนั้นๆ จะตัดเสื้อผ้าชุดใหม่ แต่งตัวให้ลูกสาวอย่างสวยงาม

ตรุษจีนนครสวรรค์

ปัจจุบันประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เทศกาลตรุษจีนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งรูปแบบการจัดงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย โดยได้คัดเลือกชาวตลาดปากน้ำโพเข้ามาเป็นคณะกรรมการจัดงาน หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการกลาง (เถ่านั้ง) โดยการจัดงานในปัจจุบันจะจัดงานในภาคกลางคืนถึง 12 คืน โดยในงานจะจัดให้มีอุปรากรจีนทั้งไหหนำและแต้จิ๋ว การจัดขบวนแห่ก็ได้จัดให้มีขบวนแห่กลางคืนมีแสงสีที่สวยงาม ซึ่งการแห่กลางคืนนี้ถือได้ว่าเป็นการล้างตลาดก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ออกแห่รอบตลาดปากน้ำโพ

ชาวตลาดปากน้ำโพ ทั้งชาวไทย ชาวจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้งและจีนแคะ จึงได้ร่วมกับจีนไหหลำจัดการละเล่นของแต่ละกลุ่มภาษาจึงได้ร่วมกันอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาแห่รอบตลาดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวของชาวตลาดปากน้ำโพเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 ของจีน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุกคนในช่วงเทศกาลตรุษจีนและได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกองค์ แห่ทางน้ำ แล้วขึ้นบกแห่รอบตลาดแห่รอบตลาดปากน้ำโพ จนในปัจจุบันเปลี่ยนมาแห่ทางบกเพียงอย่างเดียว ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปีจนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมากกว่า 100 ปี เพื่อแสดงการขอบคุณเทพเจ้าและเพื่อความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้า ในด้านการค้า การเคารพกราบไหว้เปรียบเสมือนเทพเจ้าได้มาอำนวยอวยชัยให้พรยังร้านค้าอันเป็นแหล่งทำกิน ในพิธีจะมีขบวนแห่มากมาย อาทิ เช่น สิงโต จากคณะเชื้อสายจีนต่างๆ เอ็งกอ พะบู๊ ล่อโก้ว มังกรทอง ขบวนสาวงามและนางฟ้า ขบวนองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น

“งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ” ในสมัยเริ่มแรกนั้นมีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่ไปในเส้นทางต่างๆ ในเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะขอพรให้ปัดเป่าทุกข์ภัย เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่เมือง และชาวเมืองปากน้ำโพ แต่สมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการจัดงานและชาวตลาดปากน้ำโพเห็นว่า งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพนี้อยู่ในช่วงของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงต้องการให้มีการจัดขบวนการแสดงต่างๆ ในขบวนแห่มากขึ้น และต่อมาจึงได้เกิดการผสมผสานทั้งพิธีกรรมความเชื่อขององค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ และขบวนการแสดงต่างๆ เกิดเป็นความรู้สึกที่มีเพื่อทั้งความเป็นสิริมงคล และเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของชาวปากน้ำโพอีกด้วย

ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ใน จังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล การแห่เจ้านี้เริ่มทำครั้งแรกในพ.ศ. 2475 และได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวนครสวรรค์ โดยในพิธีแห่จะมี 2 รอบ คือรอบกลางคืนในวันชิวซา (วันที่ 3 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน) โดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ไปจนถึง เวลา 22.00 น. สำหรับรอบกลางวัน ในวันชิวสี่ (วันที่ 4 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน) ในขบวนแห่รอบเมืองประกอบไปด้วย ขบวนแห่มังกรทอง ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณประโยชน์อย่างมากแก่มวลมนุษย์ จึงถือได้ว่าเป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมายาวนาน เพื่อแสดงความกตัญญู โดยมีการเชิดชูและนำเจ้าพ่อเจ้าแม่ในศาลเจ้าออกมาร่วมขบวนแห่ไปตามถนนต่างๆ ในตัวเมืองนครสวรรค์

โดยในปัจจุบันได้มีการจัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 103 ปีแล้ว ซึ่งถือว่ามีประวัติอันยาวนานมากที่สุดในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2561 "ประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ" ได้ถูกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปีพุทธศักราช 2561 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 2/2561 พิจารณาและเห็นชอบประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2561 เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติ รวมทั้งปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และของชาติ ซึ่งงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ จัดอยู่ในประเภทที่ 3 คือ ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเพณีถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 22)

ขบวนแห่ในงานตรุษจีนปากน้ำโพ แก้

งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพจะมีขึ้นหลังวันตรุษจีน 2 วัน คือในวันที่สามหลังวันตรุษจีน (ชิวซา) จะเป็นการแห่กลางคืน และหลังจากนั้นหนึ่งวัน (ชิวสี่) จะเป็นวันแห่กลางวัน โดยในการแห่จะมีขบวนต่างๆมากมาย

ขบวนองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม แก้

ในขบวนองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิมนั้น จะประกอบไปด้วย องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม และกิมท้ง(เด็กชาย) เง็กนึ่ง(เด็กหญิง)

องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม แก้

คนในจังหวัดนครสวรรค์นั้นส่วนใหญ่แล้วให้ความเคารพและนับถือเจ้าแม่กวนอิมเป็นอย่างยิ่ง องค์สมมติเจ้าแม่กวนอิมนั้นถือเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของหญิงสาวในจังหวัดนครสวรรค์ แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครที่ไหนก็ได้ หรือสักแต่ว่ารูปโฉมงดงามเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วจะต้องผ่านการคัดเลือก ผ่านพิธีกรรมต่างๆมาหลายขั้นตอน จนประหนึ่งว่าเจ้าแม่กวนอิมทรงเลือกเธอมาด้วยพระองค์เอง โดยในแต่ละปีคณะกรรมการใหญ่จะจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกองค์สมมติขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อเป็นผู้คัดเลือก โดยมีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง เริ่มจากประกาศหาหญิงสาวพรหมจรรย์ ที่เป็นลูกหลานชาวปากน้ำโพโดยกำเนิด ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปมาสมัคร โดยไม่ได้ดูแต่เพียงความงามจากภายนอกเป็นหลัก แต่จะดูถึงความงามภายในจิตใจ คุณงามความดี มีกิริยามารยาทที่ดี และต้องมาจากครอบครัวที่ดี

ขั้นที่สอง  หลังจากปิดรับสมัครและได้ผู้สมัครแล้วคณะกรรมการจะตรวจสอบคุณสมบัติของสาวเหล่านั้นโดยมีระเบียบพื้นฐาน อาทิเช่น

1.) ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง

2.) สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับคณะกรรมการการจัดงานได้โดยไม่มีข้อต่อรองเกี่ยวกับรายได้

3.) ต้องถือศีล กินเจนับแต่วันแรกที่ได้รับตำแหน่งเจ้าแม่กวนอิม

4.) ระหว่างรับตำแหน่งต้องไม่ไปทำหน้าที่ หรือกิจกรรมอื่นใดอันขัดต่อความเคารพศรัทธาของประชาชน ฯลฯ

ขั้นที่สาม หญิงสาวที่มีคุณสมบัติตรงตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ ทางกรรมการจะกำหนดวันที่ทำการคัดเลือกโดยการเสี่ยงทายต่อหน้าองค์เจ้าแม่หน้าผา ซึ่งทางคณะกรรมการจะเชิญกรรมการมาร่วมเป็นสักขีพยาน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์

ขั้นที่สี่ เป็นวิธีเสี่ยงทายเพื่อเป็นการคัดเลือก โดยจะให้สาวงามจับสลากว่าจะได้อันดับที่เท่าใดในการเสี่ยงทาย ซึ่งสาวงามที่ผ่านเข้ามาจะเป็นผู้เสี่ยงทายเอง โดยการโยนไม้ ปัวะปวย สามครั้ง (ปัวะปวย : มีลักษณะเป็นไม้นูนโค้งหลังเต่าประกบกันสองอัน) เรียกว่า การปัวะปวย ไม้ที่ใช้เสี่ยงทายจะต้องคว่ำอัน หงายอัน (เซ่งปวย) เป็นจำนวนสองครั้ง และการเสี่ยงทายครั้งสุดท้าย ไม้ที่ใช้เสี่ยงทายจะต้องคว่ำทั้งสองอัน(อุ้งปวย) เป็นจำนวนหนึ่งครั้ง ภาษาจีนเรียกว่า 'หน่อเส่งเจ็กอุ้ง' ถึงจะได้เป็นองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิมโดยสมบูรณ์และถูกต้อง

ถ้าคนที่หนึ่งเสี่ยงได้ จะเป็นอันถือว่าผู้นั้นได้รับการคัดเลือกเป็นองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิมทันที ไม่มีการเสี่ยงต่อ แต่ถ้าคนที่หนึ่งเสี่ยงไม่ได้ คนที่สอง ที่สาม หรือที่สี่ในจำนวนที่คณะกรรมการคัดมาได้จะเสี่ยงต่อไปใครได้ก็จะหยุด ณ ตรงนั้น แต่ถ้าเสี่ยงจนครบจำนวนแล้ว แต่ยังมิสามารถเลือกได้ ก็จะมาเริ่มที่คนแรกใหม่ ทำเช่นนี้จนได้ตัวแทนองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม จะใช้เวลานานเท่าใดก็ต้องทำ ซึ่งบางปีนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมงก็ยังไม่ได้ แต่บางปีทำการปัวะปวยเพียงครั้งเดียวก็ได้เลยทันที โดยการคัดเลือกที่ศักดิ์สิทธิ์นี้มีนัยยะโดยสำคัญประหนึ่งว่าองค์เจ้าแม่กวนอิมนั้น เป็นผู้คัดเลือกด้วยตัวพระองค์เองนั่นเอง หญิงสาวที่เข้าคัดเลือกส่วนใหญ่แล้วจะรู้ตัวมาก่อนว่าปีนี้จะเข้ารับเลือก บางคนถือศีลกินเจเป็นเดือนๆ เพื่อทำให้ตัวเองบริสุทธิ์เหมาะสมกับตำแหน่งองค์สมมุติเจ้าแม่ผู้เปี่ยมไปด้วย คุณธรรม เป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้ศรัทธา

ด้วยความยากลำบากในขั้นตอนของการคัดเลือก แสดงขั้นตอนถึงความศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนราวกับว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่ รวมถึงองค์เจ้าแม่กวนอิมเลือกหญิงสาวในปีนั้นๆด้วยพระองค์เอง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรวมทั้งคนในตระกูลของผู้ที่ได้รับเลือกเป็น องค์สมมติเจ้าแม่กวนอิมในปีนั้นๆ ถือว่าเป็นศิริมงคลกับครอบครัว และวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง และตัวขององค์สมมติเองนั้น ก็จะโด่งดังไปทั่วประเทศ มีสื่อทุกสำนักมาให้ความสนใจ จนกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในชั่วข้ามคืนในวันไหว้พระจันทร์ จึงไม่แปลกที่ชาวจังหวัดนครสวรรค์นั้นอยากให้ลูกหลานของตนได้มีโอกาสเป็น “องค์สมมติเจ้าแม่กวนอิม ตรุษจีนปากน้ำโพ” สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ขบวนมังกรทอง แก้

ขบวนเกี้ยวเจ้าพ่อเจ้าแม่ แก้

เจ้าพ่อเทพารักษ์ แก้

เจ้าแม่ทับทิม แก้

เจ้าแม่หน้าผา แก้

เจ้าพ่อแควใหญ่ แก้

เจ้าแม่สวรรค์ แก้

เจ้าพ่อกวนอู แก้

เทพเจ้า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเทพพระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

เจ้าพ่อจุ๊ย เจ้าพ่อจุ๊ แก้

เทพเจ้าไฉ่ซิ้งเอี๊ย แก้

ขบวนแห่สิงโต แก้

ความพิเศษของตรุษจีนนครสวรรค์อีกอย่างหนึ่งนั้นคือได้มีการรวบรวมการแสดงเชิดสิงโต 5 ชาติพันธุ์ หรือ 5 ภาษา หนึ่งในนั้นเป็นการรื้อฟื้นการเชิดสิงโตฮกเกี้ยน ที่หายไปนานกลับมาให้ชาวไทยและชาวปากน้ำโพได้ร่วมชม และร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่มีการรวบรวมการเชิดสิงโตไว้มากที่สุดถึง 5 ชาติพันธุ์

เสือไหหลำ แก้

เป็นของชาวจีนไหหนำ เหตุที่เรียกเสือไหหนำก็เพราะมีเรื่องเล่าว่ามีแม่ลูกคู่หนึ่งเดินทางไปไหว้ศาลเจ้าปึงเถากงหนึ่งในไหหนำ และได้มีเสือนอนหลับอยู่ข้างศาลเจ้า โดยปกติเสือตัวนี้จะไม่ทำร้ายใคร จนเด็กคนนี้ไปแหย่เสือที่นอนหลับอยู่เสือก็ตื่นขึ้นด้วยความโกรธแล้วกินเด็กลงไป ส่วนแม่ก็ได้แต่ยืนดูโดยที่ช่วยอะไรไม่ได้ก็ได้แต่ยืนร้องไห้อยู่ตรงหน้าศาลเจ้า ฝ่ายเทพเจ้าปึงเถากงเห็นเหตุการณ์ก็นึกสงสารจึงไปขอให้พระภูมิเจ้าที่สององค์ช่วยเหลือชาวจีนไหหนำจึงได้นำตำนานเรื่องนี้มาเป็นการแสดง

ขบวนเสือไหหลำ ขบวนนี้ เกิดขึ้นมาเมื่อครั้งชาวจีนไหหลำได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ชุมชนปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีการเชิดเสือเข้ามาเผยแพร่ให้ลูกหลานชนรุ่นหลังได้สืบทอดการเชิดจนแพร่หลาย ซึ่งตามความเชื่อถือของชาวจีนไหหลำ เสือเป็นสัญลักษณ์ของ เทพเจ้าบ้วนเถ่ากง หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดี คือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ เป็นเสมือนสัตว์ที่คอยเบิกทางก่อนที่เทพเจ้าบ้วนเถ่ากงจะเสด็จ คอยปกป้องภยันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามมาย่างกราย ดังนั้นชาวไหหลำซึ่งนับถือเทพเจ้าบ้วนเถ่ากง จึงนำเสือมาเป็นสัญลักษณ์ใช้เชิดในเทศกาลและงานพิธีมงคลต่างๆ เพื่อให้ตนเองและครอบครัวประสบแต่โชคดี และนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล

สิงโตทองฮากกา แก้

สิงโตทองฮากกา หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิงโตจีนแคะ เป็นศิลปะการแสดงที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวฮากกาที่อยู่ในประเทศจีน คำว่าฮากกา ปลกว่าแขก หรือผู้มาเยือน ตามความเชื่อดั้งเดิมนั้นมีอยู่ว่า หากมีการจัดงานเฉลิมฉลอง ด้วยการแห่ขบวนสิงโตฮากกาไปทั่วเมือง จะช่วยปัดเป่าเหตุเพทภัยสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ให้หมดสิ้นไป ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยสิงโตทาองฮากกาที่นี่ เป็นสิงโตจำลองมาจากสิงโตจริงไม่มีเขา ที่คอจะมีขนคอยาวเหมือนสิงโตตัวผู้ รูปหน้าทำขึ้นเป็นเป็นศิลปะพื้นบ้านโบราณ

สิงโตปักกิ่ง แก้

สิงโตปักกิ่ง เป็นศิลปะการเล่นสิงโตของจีนภาคเหนือ เป็นสิงโตพ่อ แม่ ลูก 4 ตัว เต้นหยอกล้อลูกแก้ว มีลีลาสวยงามน่ารัก ท่าที่แสดงออกเป็นไปอย่างสนุกสนาน และร่าเริง ผู้ที่ชมการแสดงอย่างใกล้ชิดอาจได้ร่วมกันรับความรู้สึกจากการแสดงโดยตรงเมื่อสิงโตปักกิ่งมาคลอเคลียด้วย โดยขบวนสิงโตปักกิ่งนครสวรรค์ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2519 หลังจากที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการจัดงานในยุคนั้นได้ชมการแสดงสิงโตปักกิ่งของคณะกายกรรมกวางเจา จึงมีความคิดนำร่วมในขบวนแห่งตรุษจีนด้วย ปัจจุบันคณะสิงโตปักกิ่ง นครสวรรค์มีนักแสดงทั้งหมดกว่า 60 คน

สิงโตกวางตุ้ง หรือ สิงโตกว๋องสิว แก้

สิงโตกว๋องสิว หรือสิงโตกวางตุ้ง เป็นขบวนสิงโตที่นิยมเชิดกันมากที่สุดเพราะมีสีสันและลวดลายสวยงาม ปรากฏให้เห็นตามงานวัดและงานมงคลของไทย-จีน สิงโตกวางตุ้งประกอบด้วยสัตว์ 3 ชนิด คือ แรด เพราะมีนอที่หน้าผากเหมือนแรด ม้าเนื่องจากมีลำตัวเหมือนม้า และ สุนัขเพราะมีอากัปกิริยาเหมือนสุนัข มีคนคอยติดตามคือแป๊ะยิ้มในมือถือพัดที่ทำมาจากใบตาล คู่กับยายซิ้มที่ในมือถือตะกร้าใส่ดอกเบ็ญจมาศ และจี้กงเป็นคนเมามีหน้าตาสกปรกมอมแมมในมือถือขวดน้ำเต่ใส่หล้า การเชิดสิงโตกว๋องสิวของนครสวรรค์ มีท่าเต้นสนุกสนาน เช่น สิงโตตื่นนอน สิงโตกินผัก สิงโตกินส้ม สิงโตเล่นพรหมสี่หน้า สิงโตกินมะพร้าว สิงโตขึ้นเขา สิงโตปีนเสา ทุกท่วงท่ามีลีลาการเต้นที่งดงาม มีความกลมกลืน สิงโตกว๋องสิวของนครสวรรค์ ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ เพราะได้รับรางวัลจากการแข่งขันเชิดสิงโตมาแล้วมากมาย และที่ยังความภาคภูมิใจมาแด่สมาคมกว๋องสิว และชาวปากน้ำโพก็คือสิงโตกว๋องสิวนี้ ได้มีโอกาสเชิดถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และเชื้อพระวงศ์ทอดพระเนตรหลายต่อหลายครั้งอีกด้วย

สิงโตฮกเกี้ยน แก้

สิงโตฮกเกี้ยนเป็นสิงโตเขียวของชาวจีนฮกเกี้ยน ไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เป็นการละเล่นในช่วงราชวงษ์ชิง เชื่อกันว่าสิงโตประเภทนี้ถูกคิดค้นโดยชาวแมนจู ครั้นเมื่อราชวงษ์ชิงล่มสลายและมีการปฏิวัติเกิดขึ้น วัฒนธรรมการแสดงสิงโตเขียวก็หายไปจากเมืองจีน และปรากฏว่าวัฒนธรรมการแสดงสิงโตเขียวได้ข้ามช่องแคบมาสู่เกาะไต้หวันในศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มจากคนที่ตั้งรกรากช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นคนเรือที่มีอาชีพยากลำบาก การฝึกฝนจึงเป็นท่วงท่าดุดันแบบกังฟู จึงจะเห็นการฝึกแบบนี้ในบ้านชนบทที่ห่างไกล เพื่อบูชาเทพเจ้า เพื่อออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการฝึกทหาร รูปแบบหัวสิงโตทางตอนเหนือนิยมแบบเปิดปากได้ ส่วนทางตอนใต้นิยมแบบหัวแข็งแรงที่จะเอาไว้เป็นโล่ต่อสู้กับโจร

หัวสิงโตฮกเกี้ยนจะมีอยู่ 5 สี ตามสีของ 5 ธาตุ ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า สีเหลือง อยู่ตรงกลาง ธาตุดิน, สีเขียว ทิศตะวันออก ธาตุไม้, สีแดง ทิศใต้ ธาตุไฟ, สีขาว ทิศตะวันตก ธาตุทอง และสีดำ ทิศเหนือ ธาตุน้ำ หัวสิงโตจะมีกระจกขนาดใหญ่อยู่บนหน้าผาก และขนาดเล็กอยู่บนแก้ม ด้านบนหัวจะมียันต์ 8 เหลี่ยม และสัญญาลักษณ์ หยิน หยาง หนวดและแผงคอ สัญญาลักษณ์แทนฟ้าดิน การต่อสู้สิงโตแทนความดี ต่อสู้กับเหล่าร้าย นำเข้าประเทศไทยปี 2560 ที่ตำบลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่แรก[1]

ขบวนนางฟ้า แก้

ขบวนดนตรี แก้

วงดุริยางค์ แก้

ล่อโก๊ว แก้

ขบวนเด็กรำถ้วย แก้

ขบวนเอ็งกอ-พะบู๊ แก้

เกร็ดเพิ่มเติม แก้

ภาพยนตร์ "สายเลือดมังกร สายน้ำแห่งศรัทธา" (พ.ศ. 2552) แก้

ในงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ หรือตรุษจีนนครสวรรค์ ประจำปี พ.ศ. 2552 นั้น ได้มีการจัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง "สายเลือดมังกร สายน้ำแห่งศรัทธา" ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อจัดฉายในงานประเพณี แห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ พร้อมฉลองงาน เทศกาลตรุษจีน ของชาวจังหวัดนครสวรรค์ เพราะเมืองนครสวรรค์ถือเป็นเมืองแห่งการเล่าขานตำนาน คนจีนโพ้นทะเล ที่เดินทางมาสู่เมืองไทยด้วยสภาพ เสื่อผืนหมอนใบ เพื่อมาอาศัยใต้ร่มพระบารมี ณ เมืองปากน้ำโพ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ แม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคนจีนบนแผ่นดินไทย ที่นำโดยพระเอกรุ่นใหญ่ โกวิท วัฒนกุล, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, แทนคุณ จิตต์อิสระ แสดงนำ

โดยภาพยนตร์เรื่อง "สายเลือดมังกร สายน้ำแห่งศรัทธา" เปิดเผยเรื่องราวของ คนจีนสองคนพ่อลูกคือ อากง (แสดงโดยโกวิท วัฒนกุล) ที่เดินทางมาจากเมืองจีนแล้วมาอาศัยอยู่ในปากน้ำโพ ต่อมาได้ส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือหาวิชาความรู้ในกรุงเทพฯ คือ อาเล้ง (แสดงโดยแทนคุณ จิตต์อิสระ ) ที่หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ทำงานเป็น วิศวกร ในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และทุกปีในเทศกาลตรุษจีน อาเล้ง จะกลับไปนครสวรรค์ เพื่อเยี่ยมครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ปีนี้ก็เช่นกันที่พอไปถึงก็ทราบว่าคุณพ่อ อาป๊า (แสดงโดยนิรุตติ์ ศิริจรรยา) ได้รับแต่งตั้งเป็น เถานั้ง ของคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่มีภาระจะต้องจัดงานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ในเทศกาลตรุษจีนในปีหน้า ซึ่งเรื่องราวดำเนินไปอย่างเข้มข้นและแฝงไปด้วยประเพณี ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาวปากน้ำโพ ผ่านทางตัวละครหลักสามคน พ่อ-ลูก-หลาน ชาวปากน้ำโพนั่นเอง

เพลง "สายน้ำแห่งชีวิต" แก้

เพลง "สายน้ำแห่งชีวิต" นี้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "สายเลือดมังกร สายน้ำแห่งศรัทธา" ที่จัดฉายในงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ประจำปี พ.ศ. 2552 ขับร้องโดยคุณ เจนนิเฟอร์ คิ้ม ถูกแต่งขึ้นโดยคุณภราดร เพ็งศิริ ซึ่งคนปากน้ำโพโดยกำเนิด และเรียบเรียงโดยคุณ อนุรักษ์ แซ่ลี้ เพลงนี้มีเนื้อหาถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของชาวนครสวรรค์ ซึ่งมีความผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำที่มีทั้งความรัก ความศรัทธา การดำรงชีวิต เปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกาย และจิตใจของชาวปากน้ำโพ ซึ่งเพลงนี้ถูกใช้ต่อๆมาในงานประเพณีประจำทุกปีจวบจนปัจจุบัน

ภาพยนตร์ "เพื่อเพื่อน เพื่อฝัน เพื่อวันเกียรติยศ" (พ.ศ. 2540) แก้

เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องท่ามกลางมิตรภาพ ประเพณี ศรัทธา และวัฒนธรรมของชาวปากน้ำโพ ทั้งตรุษจีนนครสวรรค์ ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ คณะมังกรทองนครสวรรค์ และประเพณีการแข่งขันเรือยาว โดยมีฉากหลังเป็นจังหวัดนครสวรรค์ตลอดทั้งเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย สราวุธ วิเชียรสาร ซึ่งเป็นชาวนครสวรรค์แต่กำเนิด และนำแสดงโดย วรวุฒิ บูรพาชยานนท์, วรรธนะ กัมทรทิพย์, อรรถพร ธีมากร, อัญชลี เดวี่ส์, เมจิ ยามากุชิ(อโณมา ศรัณย์ศิขริน), โกวิท วัฒนกุล ฯลฯ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปฉายในงานศิลปะภาพยนตร์อาเชี่ยน 1999 ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียตนาม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ในเกือบทุกสาขา ในปี พ.ศ. 2540

โดยภาพยนตร์เรื่อง "เพื่อเพื่อน เพื่อฝัน เพื่อวันเกียรติยศ" เป็นเรื่องราวของ เป้(แสดงโดย วรวุฒิ บูรพาชยานนท์) และคิม(แสดงโดย วรรธนะ กัมทรทิพย์) เพื่อนรักที่กันโตขึ้นมาด้วยกันในตลาดปากน้ำโพ โดยทั้งเป้และคิมต่างมีความฝันในวัยเด็กว่า ในวันข้างหน้าสักวันหนึ่งนั้นเป้อยากเป็นนักพายเรือแข่งหงษ์ทอง ส่วนคิมนั้นอยากเป็นคนเชิดหัวมังกรทอง ซึ่งวันนั้นคงเป็นวันที่มีเกียรติยศเป็นอย่างยิ่งของเพื่อนรักทั้งสอง หลายปีต่อมาวันหนึ่งคิมและเป้ขับรถชนยายแก่แล้วหนี สร้างความรู้สึกผิดแก่เป้ เขาจึงได้แต่แอบไปเยี่ยมคุณยายคนนั้นอยู่ห่างๆทำให้เขาได้รู้จักกับทราย(แสดงโดย อัญชลี เดวี่ส์) หลานสาวของผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกเขาชน จนพัฒนามาเป็นความรักต่อกัน ในขณะที่คิมก็ห่างกับเป้ออกไปทุกที เพราะไปรู้จักกับเพื่อนใหม่อย่างทศ(แสดงโดย อรรถพร ธีมากร) เกิดเป็นความบาดหมางที่ทศมาทำรุ่มร่ามต่อทราย ซึ่งถือว่าเป็นการแตกหักกันขั้นเด็ดขาดระหว่างเพื่อน คิมจึงต้องเลือกระหว่างทศเพื่อนใหม่ที่ทำให้เขามั่นใจเวลาไปไหนด้วย หรือจะเลือกเป้เพื่อนเก่าผู้มีความฝันด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้