ตริภังค์ (อักษรโรมัน: Tribhaṅga; ตฺริภงฺค) เป็นท่ายืนที่ใช้ในศิลปะอินเดีย และ นาฏลีลาอินเดียคลาสสิก เช่น โอฑิศศี ตริภังค์มีลักษณะคือลำตัวเอียงโค้งสามส่วน คือ เข่าเอียงไปทางหนึ่ง, สะโพกเอียงไปทางหนึ่ง และที่คอกับไหล่จึงเอียงกลับไปทางเดียวกับเข่า[1][2]

ท่ายืนตริภังค์ของศาลภัญชิกาลำดับที่ 26 (สตรียกส่าหรีหนีแมงป่อง) ในจันนเกศวเทวาลัย เบลูร์ รัฐกรณาฏกะ, ศตวรรษที่ 12, ศิลปะโหยสละ

มีปรากฏหลักฐานของท่ายืนแบบตริภังค์ในศิลปะอินเดียเก่าแก่ถึง 2,000 ปี และสามารถพบได้ในศิลปะ ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรมของอินเดีย มีตัวอย่างให้พบอยู่นับไม่ถ้วน[3] ตริภังค์แพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านศาสนาอินเดีย ตริภังค์มีลักษณะเทียบเท่ากับคอนทรัปโปสโต และ "เส้นเว้าเอส" ในศิลปะตะวันตก ซึ่งทำให้ศิลปะบุคคลมีลักษณะเคลื่อนไหว มีความลื่นไหลที่มีจังหวะ และมีพลังงานของความเยาว์วัย ("rhythmic fluidity and ... youthful energy")[4]

คำนี้มาจากภาษาสันสกฤต โดย ภงฺค แปลว่าท่าทางหรือปาง ส่วน ตฺริ แปลว่าสาม ชื่ออื่น ๆ ของท่าทางเดียวกันนี้ในเอกสารเกี่ยวกับนาฏศิลป์โบราณใช้คำว่า สมภังค์ สำหรับ "ท่าที่สมดุล" ทั้งยืน นั่ง หรือนอน นอกจากนี้ยังมี อภังค์ สำหรับการโค้งขาข้างหนึ่งเล็กน้อย ทำให้เกิดทรวดทรงที่มีส่วนโค้งเล็กกว่า และยังมีท่าที่ซับซ้อนอย่าง อติภังค์[5] ที่ซึ่งพบตัวอย่างได้ในท่าร่ายรำขององค์ศิวนาฏราช[6]

ประวัติศาสตร์ แก้

ที่มาของท่าตริภังค์มักกล่าวกันว่ามาจากประติมากรรม เด็กหญิงร่ายรำ จากโมเฮนโจดาโร อายุราว 2300-1750 ปีก่อน ค.ศ.[7] กระนั้นก็ไม่ได้เป็นรูปแสดงอย่างตริภังค์ที่พบในปัจจุบัน หรือตริภังค์อาจจะมีที่มาจากนาฏกรรมก่อนที่จะเป็นทัศนศิลป์[8] ทั้งนี้ หลักฐานที่ปรากฏในศิลปะยุคแรกนั้นชัดเจนกว่า รูปตริภังค์ในยุคแรก ๆ แทบจะปรากฏในรูปสตรีทั้งสิ้น ต่อมาจึงค่อย ๆ แพร่หลายมาพบในรูปบุรุษเช่นกัน ตัวอย่างชิ้นสำคัญของตริภังค์ เช่น ยักษีที่ภรรหูต (ราว 100 ปี ก่อน ค.ศ.), รูปคลาสสิกที่สาญจี (ราว ค.ศ. 10)[9] และ ยักษีแห่งภูเตศวร (ศตวรรษที่ 2)

ปรากฏท่าตริภังค์ในประติมากรรมคุปตะ และบนเหรียญจำนวนมากจากจักรวรรดิคุปตะ (ราว ค.ศ. 319 - 543) ปรากฏท่าตริภังค์ทั้งในรูปของกษัตริย์และเทพเจ้าบนเหรียญทั้งสองหน้า[10] ในยุคนี้ ตริภังค์เริ่มปรากฏในทั้งศิลปะฮินดูและพุทธ ไปจนถึงศิลปะไชนะ[11] ภาพจิตรกรรมโบราณของอินเดียที่มีชื่อเสียงที่สุด ภาพพระโพธิสัตว์ปัทมปานีที่ถ้ำหมายเลข 1 ในหมู่ถ้ำอชันตา (ค.ศ. 478) ก็ประทับยืนตริภังค์[12] ท่าตริภังค์นี้ยังคงนิยมใช้ในรูปพระโพธิสัตว์เรื่อยมา

เข้าใจว่าในศตวรรษที่ 9 ท่าตริภังค์เริ่มแพร่กระจายไปในทุกรูปบุคคล และยิ่งเห็นได้เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งศตวรรษที่ 13 จึงเริ่มเห็นส่วนโค้งแบบตริภังค์ลดลง ในพุทธศิลป์นิยมแสดงพระพุทธเจ้าประทับตริภังค์เล็กน้อย ส่วนตีรถังกรของศิลปะไชนะแทบไม่ปรากฏในท่าตริภังค์เลย พระวิษณุ และ พระพรหม ก็ปรากฏท่าตริภังค์เล็กน้อยเป็นครั้งคราเท่านั้น ดังเช่นที่มนเทียรแห่งขชุราโหซึ่งพบพระวิษณุและพระพรหมในท่าตริภังค์อยู่ทั่วไป[13] ส่วน พระกฤษณะ ในปางทรงขลุ่ยจะประทับตริภังค์ โดยมีขาส่วนล่างไขว้ไปอีกข้างและใช้เพียงนิ้วโป้งเท้าแตะพื้น

ในศิลปะฮินดูและพุทธศิลป์ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ท่าที่เป็นตริภังค์มักจะบ่งบอกว่าเป็นของยุคแรกเริ่มได้รับอิทธิพลอินเดีย รูปตริภังค์ค่อย ๆ กลายมาเป็นตัวตรงเมื่อเวลาผ่านไป[14] แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ในรูปที่แสดงการร่ายรำ

อ้างอิง แก้

  1. "Tribhanga", Getty Research, Art & Architecture Thesaurus
  2. Varma, K. M. (1983). Myth of the so-called "tribhaṅga" as a "pose", or, The nature and number of bhaṅgas. Proddu. p. 15.
  3. Rowland, 162
  4. Berkson, 130
  5. Berkson, 121
  6. Anand, Mulk Raj, The Hindu View of Art, 2019 (reprint), Routledge, ISBN 0429627521, 9780429627521114, google books
  7. Chakraborty, Swati, Socio-religious and cultural study of the ancient Indian coins, 324, 1986, B.R. Pub. Corp.; Harle, 17 for date
  8. Rowland, 158; Berkson, 121-122
  9. Craven, 70
  10. Craven, 118
  11. Berkson, 133-137
  12. Craven, 125
  13. Masson-Ousel, 380-383; Brahma at Khajuraho
  14. Masson-Ousel, 382-383; Rowland, 427

บรรณานุกรม แก้

  • Berkson, Carmel, The Life of Form in Indian Sculpture, 2000, Abhinav Publications, ISBN 8170173760, 9788170173762, google books
  • Craven, Roy C., Indian Art: A Concise History, 1987, Thames & Hudson (Praeger in USA), ISBN 0500201463
  • Harle, J.C., The Art and Architecture of the Indian Subcontinent, 2nd edn. 1994, Yale University Press Pelican History of Art, ISBN 0300062176
  • Masson-Ousel, P., Stern, P., Willman-Grabowska, H., Ancient India and Indian Civilization, 2013 (reprint), Routledge, ISBN 1136200657, 9781136200656, google books
  • Rowland, Benjamin, The Art and Architecture of India: Buddhist, Hindu, Jain, 1967 (3rd edn.), Pelican History of Art, Penguin, ISBN 0140561021

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Tribhanga