การตราสัง

(เปลี่ยนทางจาก ตราสัง)

การตราสัง หมายความว่า การมัดศพ หรือการผูกศพให้เป็นเปลาะ ๆ ด้วยด้ายดิบเป็นต้น "ดอยใน" ก็เรียก

ศัพทมูล แก้

คำ "สัง" ใน "ตราสัง" นั้น นักปราชญ์บางคนสันนิษฐานว่ามาจากคำ "สังขาร" แต่ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำ "สาง" ซึ่งแปลว่า ผี หรือซากศพ

สำหรับคำว่า "ดอยใน" นั้น "ดอย" เป็นกริยา มีความหมายว่า ผูก มัด ตอก ชก ตี ปา หรือทอย "ดอยใน" จึงหมายว่า ผูกหรือมัดอยู่ข้างใน

ความเป็นมา แก้

การตราสังศพนี้ ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า

"...เห็นจะเป็นประเพณีเก่าแก่สืบมาแต่โบราณ ดังมีกล่าวถึงในเรื่องลิลิตพระลอแห่งหนึ่งว่า 'ธ ให้สามกษัตริย์ จัดสรรภูษา ตราสังทั้งสามองค์ ผจงโลงทองหนึ่งใหญ่ ใส่สามกษัตริย์แล้วไสร้'"

แต่ความโบราณเช่นว่านี้จะโบราณเพียงไรไม่อาจทราบได้

วิธีการตราสัง แก้

เมื่อมีคนตาย และทำพิธีเบื้องต้นให้แก่ศพ เช่น อาบน้ำศพ และแต่งตั้งศพ เสร็จแล้ว ก็จะตราสังศพ วิธีตราสังนี้มีต่าง ๆ กันในรายละเอียด แต่ตามหนังสือ "ประเพณีทำศพ" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่าไว้ดังต่อไปนี้

เมื่อได้จัดการแต่งตัวศพเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นศพผู้ดี จะทำถุงผ้าขาวสวมศีรษะใบหนึ่ง สวมมือทั้งสองข้างซึ่งอยู่ในรูปประนมถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนใบหนึ่ง และสวมเท้าอีกใบหนึ่ง จากนั้น เอาด้ายดิบ กล่าวคือ ด้ายที่ยังไม่ได้ฟอกสี เส้นขนาดนิ้วก้อย ทำเป็นบ่วงสวมคอบ่วงหนึ่ง มัดรอบหัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้างให้ติดกันอีกบ่วงหนึ่ง และรัดรอบหัวแม่เท้ากับข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันอีกบ่วงหนึ่ง เรียกว่า "ตราสัง" หรือ "ดอยใน"

เมื่อเสร็จแล้ว จะห่อศพด้วยผ้าขาวยาวสองทบ ชายผ้าทั้งสองอยู่ทางศีรษะและขมวดเป็นปมก้นหอย แล้วใช้ด้ายดิบขนาดนิ้วมือผูกจากเท้าขึ้นมาเป็นเปลาะ ๆ มารัดกับชายผ้าที่เป็นปมก้นหอยนั้นให้แน่น เหลือชายด้ายดิบไว้พอสมควรเพื่อเป็นสายยาวปล่อยออกมานอกโลงได้ แล้วยกศพที่มัดนั้นวางลงในลงให้นอนตะแคง

เวลาตราสังช่วงทำบ่วงสวมคอ มือ และเท้านั้น ผู้ตราสังจะท่องบ่นคาถาไปด้วยว่า "ปุตฺโต คีเว ธนํปาเท ภริยาหตฺเถ" หรือ "ปุตฺโตคีวํ ธนํปาเท ภริยาหตฺเถ" มีความหมายดังในโคลงโลกนิติว่า

มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร

ราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า "ถ้าจะอธิบายไปทางปริศนาธรรมก็จะได้ความว่า ห่วงทั้งสามนี้ย่อมผูกมัดสัตว์โลกให้จมอยู่ในห้วงแห่งวัฏสงสารไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ต่อเมื่อตัดบ่วงนี้ขาดจึงจะพ้นทุกข์ได้"

ความแน่นหนาของการมัดศพ แก้

การมัดศพในการตราสังนี้จะแน่นหนาเพียงไร สาส์นสมเด็จมีอยู่ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งมีฝรั่งเข้ามาเล่นมายากลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังบางปะอิน ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งวโรภาสพิมานองค์เดิม ฝรั่งคนนั้นท้าให้คนดูเอาเชือกมัดตัวว่า ถึงมัดอย่างไรก็จะเอาตัวหลุดออกมาให้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตำรวจสองสามนายเข้าไปมัดดู ตำรวจเข้าไปมัดในม่านซึ่งฝรั่งขอให้กั้นไว้ มัดไปครู่หนึ่งฝรั่งก็ร้องโวยวายออกมาว่าไม่ยอมให้มัดแล้ว แล้วโกรธเอาว่ามัดอย่างป่าเถื่อน ทนไม่ไหว เมื่อตำรวจออกมา คนดูข้างนอกก็พากันถามว่า ไปมัดอย่างไรฝรั่งจึงไม่ยอมให้มัด ตำรวจก็บอกว่า มัดอย่างตราสัง ฝรั่งเลยยอมแพ้

วัตถุประสงค์ของการตราสัง แก้

การตราสังศพนั้น ก็เพื่อไม่ให้ศพพองขึ้นจนดันโลงแตกเมื่อตอนขึ้นอืด จึงต้องมีการมัดให้แน่น และจัดให้ศพนอนตะแคงในโลง

ส่วนการปล่อยเชือกมัดออกมานอกโลงนั้น ก็เพื่อผูกผ้าโยงให้พระบังสุกุล บุญจะได้แล่นเข้าถึงตัวศพ

นอกจากนี้ ราชบัณฑิตยสถานยังว่า "...การตราสังนั้นก็เพราะกลัวผีจะมารังควาน จึงมัดเสียแน่นหนา ไม่ต้องการให้ผีเดินมาได้..."

การตราสังในวัฒนธรรมอื่น แก้

การตราสังนี้ ชาติอื่นก็มีทำกัน เช่น ชาวอินเดียไม่เฉพาะแต่ชาวฮินดูก็ใช้เชือกมัดหัวแม่มือศพให้มืออยู่ในท่าพนม และมัดหัวแม่เท้าศพให้แน่น แล้วจึงเอาผ้าห่อมัดให้กระชับอีกที จะตัดเชือกออกต่อเมื่อฝังหรือเผา

ชาวทมิฬในกรุงเทพมหานครก็มีประเพณีทำนองเดียวกัน

อ้างอิง แก้

  • เจริญ อินทรเกษตร. (2516-2517). "ตราสัง". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 12 : ดี.ดี.ที-ตั๋วแลกเงิน). ปราณบุรี : โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ. หน้า 7435-7437.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  • สาส์นสมเด็จ, (เล่ม 25). (2505). พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.