ดุษฎี พนมยงค์

(เปลี่ยนทางจาก ดุษฎี บุญทัศนกุล)

ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล (18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482) เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากล นักดนตรีคลาสสิก ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาขับร้องคลาสสิกในประเทศไทย มีผลงานผลิตครู อาจารย์ และนักร้องคลาสสิกที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมส่งเสริมศิลปะการขับร้องประสานเสียงไทย อาจารย์พิเศษวิชาสังคีตนิยม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์​ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู และยังเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ[1]

ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
ชื่อเกิดดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล
รู้จักในชื่อครูดุษ
เกิด18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 (85 ปี)
ที่เกิดไทย
แนวเพลงดนตรีคลาสสิก
อาชีพอาจารย์, นักร้องโอเปร่า, นักวิชาการดนตรี, นักเขียน
เครื่องดนตรีเปียโน
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง
สมาชิกผู้อำนวยการวงคอรัสสวนพลู
เว็บไซต์http://www.suanpluchorus.com/

ประวัติ แก้

ดุษฎี บุญทัศนกุล เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 ที่ "บ้านพูนศุข" ป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีคนที่ 5 ในจำนวน 6 คนของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) หลังจากเกิดได้เจ็ดวัน นายปรีดีได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มราชการแผ่นดิน จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงตั้งชื่อลูกสาวที่เพิ่งเกิดใหม่ว่า ดุษฎี[2] ต่อมาได้สมรสกับนายชาญ บุญทัศนกุล เมื่อ พ.ศ. 2518

การศึกษา แก้

เริ่มเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์และชั้นมัธยมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จากนั้นไปศึกษาต่อยังกรุงปักกิ่ง จนจบการศึกษาระดับปริญญาโท วิชาเอกขับร้อง วิชาโทเปียโน ณ สถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง (Beijing Central Conservatory of Music) เมื่อ พ.ศ. 2508 ต่อมาได้เรียนเพิ่มเติมที่ราชวิทยาลัยดนตรีกรุงลอนดอน (Royal College of Music, London) พ.ศ. 2517[3]

การทำงาน แก้

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันดนตรีกลาง กรุงปักกิ่ง ดุษฎี บุญทัศนกุล ได้ตามไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2513 เริ่มอาชีพเป็นครูสอนเปียโนประจำสถาบันดนตรีของรัฐที่เมืองก็อง (Caen) และได้ไปเรียนวิชาดนตรีเพิ่มเติมที่ Royal College of Music กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2518 โดยเริ่มต้นสอนดนตรีเป็นการส่วนตัวที่สตูดิโอบ้านสวนพลู ในขณะเดียวกัน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ฝากฝังให้ทำงานที่สถานทูตฝรั่งเศส ในตำแหน่งเลขาของผู้แทนถาวรฝรั่งเศส ประจำองค์กร SEAMEO

จากการที่เป็นครูสอนขับร้องคลาสสิก ดุษฎีได้รับเชิญจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ให้มาช่วยแนะนำเทคนิคการขับร้องพื้นฐานแก่นักร้องที่เข้ารอบรองชนะเลิศการประกวดของสยามกลการ ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน และได้รับเชิญไปสอนในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งอาทิ

  • พ.ศ. 2527 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2535 - 2550 ภาควิชาศิลปะนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พ.ศ. 2543 - 2546 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • พ.ศ. 2542 - 2552 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้รับการทาบทามจากอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ให้มาบุกเบิกการสอนภาควิชาขับร้องคลาสสิกเป็นรุ่นแรก
  • อาจารย์พิเศษวิชาสังคีตนิยม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

จากการเป็นครูแล้วดุษฎียังจัดรายการวิทยุ "เพลงเพื่อการผ่อนคลาย" คลื่นความคิด เศรษฐกิจ และสังคม และยังจัดรายการ "Goodnight by Dusdi Banomyong" คืนดีๆที่ 96.5 ทางสถานีวิทยุ อสมท.อีกด้วย

ลำดับสาแหรก แก้

ผลงานแสดง แก้

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาดุษฎีมีผลงานแสดงเดี่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญมีอาทิ

  • พ.ศ. 2514 ร้องนำในคณะนักร้องประสานเสียงสามชาติ ในงานมหกรรมดนตรี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2527 แสดงนำในอุปรากรเรื่อง Hansel and Gretel จัดโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
  • พ.ศ. 2539 ขับร้องเดี่ยวหน้าพระที่นั่งฯ ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารเรือ กาชาดคอนเสิร์ต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2540 ขับร้องเดี่ยวหน้าพระที่นั่งฯ ร่วมกับวงดุริยางค์ทหารเรือ กาชาดคอนเสิร์ต ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2543 นักร้องเดี่ยวในการแสดงรอบปฐมทัศน์ "ปรีดีคีตานุสรณ์" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[4]
  • พ.ศ. 2545 แสดงขับร้องใน "ปรีดีคีตานุสรณ์" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ร่วมกับวงดุริยางค์และคณะนักร้องประสานเสียงแห่งชาติเวียดนาม ณ ฮานอย
  • พ.ศ. 2546 แสดงในอุปรากร "แม่นาก" ประพันธ์โดย คีตกวีสมเถา สุจริตกุล ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2547 แสดงขับร้องเดี่ยว "สัมผัสรัก...จากไทยสู่เวียดนาม" ร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู ณ โรงละครโอเปร่า ฮานอย
  • พ.ศ. 2549 แสดงขับร้องเดี่ยวงาน "Jazz Concert เฉลิมพระเกียรติ" ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์สิริสมบัติครบ 60 ปี จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโล ณ โรงอุปรากร กรุงออสโล ประเทศนอรเวย์
  • พ.ศ. 2550 ขับร้องเดี่ยวในงาน October Zone จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดุษฎี บุญทัศนกุล เป็นผู้รังสรรค์หลักสูตร "ลมหายใจ...คนตรี...ชีวิต" ดนตรีพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นวิทยากรในโครงการดังกล่าวให้กับภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศไทยจำนวนกว่า 14,000 คน ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน และยังเป็นกรรมการตัดสินประกวดร้องเพลงในระดับประเทศและนานาชาติ อาทิ สยามกลการ, นิสสันอวอร์ด, เคพีเอ็นอวอร์ด, การประกวดขับร้อง 5 ภูมิภาคของกรมประชาสัมพันธ์, กรรมการตัดสินการประกวดขับร้องชิงชนะเลิศเอเชีย Asia Music Festival 2000 และ 2001 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติ China International Chorus Festival 2002 ณ กรุงเป่ยจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินการประกวดนักร้องหน้าใหม่ชิงชนะเลิศเอเชีย Asia New Singer Competition 2004 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน, กรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศ Pan Asia Music Festival 2010

นอกจากนี้ดุษฎียังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง สำหรับสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการประจำปี 2552 ของกระทรวงต่างประเทศ

ผลงานเกียรติยศ แก้

  • ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ พ.ศ. 2540
  • รางวัล Bangkok Opera's Silver Rose Award 2007, Lifetime achievement for contribution to opera in Thailand พ.ศ. 2550
  • ได้รับการตีพิมพ์ประวัติว่าเป็นหนึ่งใน "Divas of Asia" ในนิตยสาร Lifestyle Asia พ.ศ. 2532
  • ได้รับการยกย่องเป็น "Who sang the brtiches role of the God Sudeva with profound musicianship" จากหนังสือ Opera Now พ.ศ. 2544
  • รางวัล Trinity Awards 2009 พ.ศ. 2552
  • ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทดนตรีสากล ประจำปี พ.ศ. 2557 [5]

ดุษฎีในฐานะเป็นผู้อำนวยการคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้

  • รางวัลเหรียญทองแดงและรางวัลขับร้องเพลงบังคับยอดเยี่ยม ในงานมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติ 2002 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2545
  • รางวัลเหรียญเงิน จากมหกรรมการประกวด Choir Olympics 2004 ณ เมืองเบรเมน สหพันธรัฐเยอรมนี พ.ศ. 2547
  • รางวัลเหรียญทองแดง จากมหกรรมการประกวด World Choir Games 2006 ณ เมืองเซี๊ยะเมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2549
  • รางวัลเหรียญเงินสองประเภท จากมหกรรมการประกวด World Choir Games 2008 ณ เมืองกราซ สาธารณรัฐออสเตรีย พ.ศ. 2551

ล่าสุดประสบความสำเร็จในการนำคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูในฐานะตัวแทนประเทศไทย ไปเปิดแสดงในงานมหกรรมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนานาชาติ "The Third International Festival of Diversity 2010" ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ดุษฎี พนมยงค์, แม่อยากเล่า...ชีวิต 72 ปีที่ผ่านเลย, สำนักพิมพ์บ้านเพลง, 18 ก.พ. 2554, ISBN 978-974-496-533-2
  2. หนังสือ แม่อยากเล่า...ชีวิต ๗๒ ปีที่ผ่านเลย พิมพ์ครั้งที่2 หน้า39
  3. ดารณี สุนทรนนท์, ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล กับปักกิ่งในความทรงจำ, นสพ.ฅนตรัง ฉบับ 62 / 16-31 ส.ค. 51
  4. กฤษณา อโศกสิน, หน้าต่างบานใหม่ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2387 ปีที่ 46 ประจำวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2543
  5. หน้า 1 ต่อ 13 ต่อข่าวหน้า 1, สะอาด-ภัทราวดี คว้ารางวัล ศิลปินแห่งชาติ. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,840 วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเมีย
  6. นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ,สวนพลู สู่ ยูเนสโก เก็บถาวร 2010-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กรุงเทพธุรกิจ, 14 ก.ค. 2553

แหล่งข้อมูลอื่น แก้