ซิกส์ซิกมา (อังกฤษ: Six Sigma) หมายถึงระดับคุณภาพของกระบวนการผลิตที่ยอมให้มีของเสียในระบบได้เพียง 3.4 ชิ้นต่อการผลิตสินค้าล้านชิ้น และนอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือช่วยธุรกิจ ให้สามารถแก้ปัญหาคุณภาพของระบบของการปฏิบัติการได้อีกด้วย

ซิกส์ซิกมา เขียนแทนด้วยตัวเลข 6 และเครื่องหมายซิกมา

ที่มาของนิยาม แก้

ซิกส์ซิกมามีที่มาจากการประยุกต์ความรู้ทางด้านสถิติมาใช้ โดยสมมติให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบนั้นเป็นการแจกแจงปกติ (normal distribution) หรือการกระจายเป็นรูประฆังคว่ำทั้งหมด ค่าเฉลี่ยที่จุดกึ่งกลางของการกระจายตัวนั้นก็คือค่าที่ต้องการ ส่วนซิกมาคือหนึ่งช่วงของความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่วัดจากจุดกึ่งกลางดังกล่าว และจะมีขอบเขตของการยอมรับได้อยู่ 2 ส่วนคือ ขอบเขตจำกัดบน (Upper Specific Limitation) และขอบเขตจำกัดล่าง (Lower Specific Limitation) ซึ่งในนิยามของซิกส์ซิกมานี้ ถ้าขอบเขตบนและล่างอยู่ห่างจากค่าเฉลี่ยเป็นระยะ 3 ซิกมา ก็จะเรียกว่า ระดับ 3 ซิกมา (3 Sigma Level) แต่ถ้าเป็นระยะ 4 ซิกมา ก็จะเรียกว่า ระดับ 4 ซิกมา (4 Sigma Level) ซึ่งในแต่ละระดับจะให้ค่าดังนี้

ระดับซิกมา ค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) DPMO
1.0 68.26894921% 317,310.5078629140
2.0 95.44997361% 45,500.2638963586
3.0 99.73002039% 2,699.7960632598
4.0 99.99366575% 63.3424836580
5.0 99.99994267% 0.5733039985
6.0 99.99999980% 0.0019731754

DPMO ในตารางข้างต้นนั้น หมายถึง จำนวนของเสียต่อการปฏิบัติการล้านครั้ง (Defects Per Million Opportunities)

ปรากฏการณ์ความคลาดเคลื่อน แก้

จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือจากการทดลองภาคสนามนั้น จะให้ค่าเฉลี่ยที่คงตัว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ค่าเฉลี่ยที่เคยวัดได้จะเกิดการแกว่งตัว เนื่องด้วยการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ทำให้ข้อมูลที่เคยวัดได้นั้นผิดเพี้ยนไป โดยค่าที่ได้จากการทดลองนี้ ถูกเรียกว่า "ระยะสั้น" (Short Term) แต่ค่าที่แกว่งตัวในภายหลังนี้เรียกว่า "ระยะยาว" (Long Term)

โมโตโรล่า แนะนำว่า ค่าที่แกว่งตัวนี้ควรจะอยู่ในช่วง 1.5 ซิกมา แต่ว่าค่าที่ได้มานี้มาจากประสบการณ์ของโมโตโรล่าเอง ซึ่งก็ได้มีการพิสูจน์ในเชิงคณิตศาสตร์โดย ดาววิส โบท ในภายหลังว่าค่า 1.5 นี้สมเหตุสมผล [1] ซึ่งค่าที่ได้จะเป็นดังนี้

ระดับซิกมา ค่าความน่าเชื่อถือ (Reliability) DPMO
1.0 30.23278734% 697,672.1265997890
2.0 69.12298322% 308,770.1678050220
3.0 93.31894011% 66,810.5989420398
4.0 99.37903157% 6,209.6843153386
5.0 99.97673709% 232.6291191951
6.0 99.99966023% 3.3976731335

และค่านี้คือค่าที่ยอมรับให้ใช้ในมาตรฐานระดับ 6 ซิกมานั่นเอง

การนำไปใช้ แก้

อย่างไรก็ตาม ซิกส์ซิกมาเป็นหลักการที่ประยุกต์มาจากวิชาสถิติ ซึ่งแท้จริงแล้วก็มีการพัฒนามาแล้วราวๆ 7 ทศวรรษ และมีเครื่องมือต่างๆ มากมาย แต่วิธีที่นิยมที่สุดก็คือ DMAIC (ดีเมก) และ DMADV [2]

อ้างอิง แก้

  1. Davis R. Bothe, 2002, "Statistical Reason for the 1.5s Shift", Quality Engineering, issue 14, Vol 3, pp479-487
  2. Joseph A. De Feo & William Barnard. JURAN Institute's Six Sigma Breakthrough and Beyond - Quality Performance Breakthrough Methods, Tata McGraw-Hill Publishing Company Limited, 2005. ISBN 0-07-059881-9

แหล่งข้อมูลอื่น แก้