ซากดึกดำบรรพ์ทางเรณูวิทยา

ซากดึกดำบรรพ์ทางเรณูวิทยา (Sporopollen fossil) คือซากของพืชขนาดจุลภาค เรียกว่า ซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐาน (fossil palynomorph หรือ fossil sporomorph) เป็นแขนงหนึ่งของวิชาบรรพชีวินวิทยา(Palyontology) ที่เกี่ยวข้องกับซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตขนาดจุลภาค และส่วนประกอบขนาดจุลภาคของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ซากดึกดำบรรพ์ละอองเรณู ซากดึกดำบรรพ์สปอร์ ไดโนแฟลกเจลเลตซีสต์ อาคริทาร์ช ชิตินโนซวน และวัตถุขนาดจุลภาคของซากดึกดำบรรพ์สาหร่าย และซากดึกดำบรรพ์ฟังไจ

ซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐาน จะมีโครงสร้างประกอบด้วยสารเซลลูโลสจำพวกสปอโรพอลเลนิน ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดแม้ว่าจะเป็นกรดเข้มข้นหรือที่อุณหภูมิน้ำเดือดก็ตาม ดังนั้นในการสกัดซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐานออกจากเนื้อหินจึงต้องอาศัยการละลายตัวอย่างหินด้วยกรดชนิดต่างๆ เช่น กรดเกลือ และกรดกัดแก้ว จะทำการกัดกร่อนแร่ประกอบหิน เช่น สารประกอบในหินปูน และ สารประกอบหินประเภทซิลิกา ให้ละลายออกไป ท้ายที่สุดก็จะเหลืออนุภาคสารอินทรีย์ที่อาจเป็นเศษสารอินทรีย์ทั่วไปและอินทรีย์วัตถุของซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐาน จากนั้นจะทำการแยกซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐานออกจากอินทรีย์วัตถุอื่นๆด้วยสารเคมีบางตัว เช่น ซิงค์โบไมด์ หรือ ซิงค์คลอไรด์ เป็นต้น

การศึกษาซากดึกดำบรรพ์เรณูสัณฐาน จะทำการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ทั้งกล้องจุลทรรศน์แสงและกล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอนแบบส่องกราด เพื่อทำให้ทราบถึงขนาด รูปร่าง ผนังเซลล์ และลวดลายต่างๆบนพื้นผิว เป็นต้น รูปด้านขวามือเป็นภาพของเรณูสัณฐานละอองเรณูของกระจับโบราณ (สปอโรทราปออิดิทีส เมดิอุส หรือ Sporotrapoidites medius) จากชั้นหินอายุประมาณสมัยโอลิโกซีน-ไมโอซีน ของเหมืองนาฮ่อง ตำบลบ้านนาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ภาพด้านบนได้จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด เป็นภาพด้านขั้วของเรณูสัณฐานซึ่งหากเรณูสัณฐานไม่ถูกกดทับทำให้แบน เรณูสัณฐานนี้จะมีรูปทรงกรม มีสันนูน 3 สันโยงมาบรรจบกันเห็นเป็นสามแฉกบนพื้นที่ขั้วนี้ โดยพื้นที่ขั้วด้านตรงข้ามก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากภาพที่ถ่ายภายใต้กล้องจุลทรรศน์แสงเนื่องจากเรณูสัณฐานมีคุณสมบัติโปร่งแสง การประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์ทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกัน จะช่วยให้การบรรยายรูปลักษณ์สัณฐานของเรณูสัณฐานได้ละเอียดถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น