ซากดึกดำบรรพ์สาหร่าย

ซากดึกดำบรรพ์สาหร่ายในทางเรณูวิทยาแล้วจะหมายถึงสาหร่ายเซลล์เดียวซึ่งมักจะเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่รวมกลุ่มกันเป็นโคโลนี โดยการอยู่รวมกันจะมีความจำเพาะด้านจำนวนเซลล์ รูปร่างเซลล์ และรูปแบบโครงสร้างการจัดเรียงเซลล์ต่างๆ รูปแบบโครงสร้างการจัดเรียงเฉพาะนี้นักบรรพชีวินวิทยาจะพิจารณาความเหมือนและความต่างในทางอนุกรมวิธาน คือใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจพิสูจน์สกุลและชนิดของซากดึกดำบรรพ์สาหร่ายต่างๆ โดยในที่นี้ได้รวบรวมเท่าที่ค้นพบในประเทศไทย ดังนี้

พีดิแอสตรัม แก้

ซากดึกดำบรรพ์สาหร่ายสกุล พีดิแอสตรัม ปัจจุบันพบเป็นสาหร่ายสีเขียวมีคลอโรฟิล จัดอยู่ในวงศ์ไฮโดรดิกไทยาซีอี (Hydrodictyaceae) พบเก่าแก่ที่สุดจากหินยุคครีเทเชียสและยังคงรักษารูปลักษณ์สัณฐานโดยทั่วไปคงที่ตราบจนถึงปัจจุบัน สาหร่ายสกุลนี้เป็นสาหร่ายน้ำจืด มีหลายชนิด เช่น พีดิแอสตรัม ซิมเพล็กซ์ (Pediastrum simplex) พีดิแอสตรัม บอริยันนัม (Pediastrum boryanum) และพีดิแอสตรัม ดูเพล็กซ์ (Pediastrum duplex) ในประเทศไทยมีรายงานการศึกษาจากหินสมัยโอลิโกซีนถึงสมัยไมโอซีนจากเหมืองถ่านหินหลายแห่งซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า แอ่งสะสมตะกอนมหายุคซีโนโซอิกของประเทศไทยตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงภาคใต้และรวมถึงใต้ทะเลอ่าวไทย

พีดิแอสตรัม ซิมเพล็กซ์ จะมีเซลล์รูปสามเหลี่ยมเรียงต่อกันเป็นระนาบวงกลม โดยใช้มุมทั้งสองที่ฐานของเซลล์สามเหลี่ยมเชื่อมติดกับเซลล์ข้างเคียงต่อเนื่องเป็นวงกลม และหันมุมแหลมออกไปจนทำให้โคโลนีมีลักษณะคล้ายวงล้อที่มีฟันปลายแหลมและตรงกลางของโคโลนีเป็นช่องว่างรูปวงกลม ทั้งนี้ระนาบแบนของโคโลนีนี้จะมีความหนาเท่ากับความหนาของหนึ่งเซลล์ การจัดเรียงของเซลล์แบบง่ายๆจะใช้เซลล์จำนวน 8 เซลล์เรียงเป็นวงล้อ และอาจพบการจัดเรียงมากกว่า 8 เซลล์โดยการจัดเรียงเป็นวงล้อรอบนอกถัดออกไปอีกไปเรื่อยๆ

พีดิแอสตรัม ดูเพล็กซ์ จะมีลักษณะคล้ายกับ พีดิแอสตรัม ซิมเพล็กซ์ แต่เซลล์ด้านนอกสุดแต่ละเซลล์ที่ยื่นปลายแหลมออกไปจะแตกแขนงออกเป็นง่าม มีลักษณะคล้านหนวดปลายสอบแหลมออกไป

พีดิแอสตรัม บอริยันนัม จะมีการจัดเรียงเซลล์เป็นแผ่นวงกลมมีความหนาเท่ากับความหนาของหนึ่งเซลล์ เซลล์ทั้งหลายจะเรียงอัดกันแน่นเป็นรูปหลายเหลี่ยม โดยเซลล์ด้านนอกสุดจะมีปลายยื่นชี้ออกไป มักเห็นเป็นปลายแหลม 2 ง่าม

บอตทรีโยคอคคัส แก้

โคโลนีของสาหร่ายสกุลบอตทรีโยคอคคัส ปัจจุบันพบเป็นสาหร่ายสีเขียวมีคลอโรฟิล จัดอยู่ในวงศ์บอตทรีโยคอคาซีอี (Botryococcaceae) เกิดจากการรวมกลุ่มกันของเซลล์รูปถ้วยที่วางซ้อนกันเป็นเส้นยาวหลายเส้น โดยเส้นของกลุ่มเซลล์รูปถ้วยดังกล่าวจะมีปลายด้านหนึ่งเชื่อมติดกันที่ศูนย์กลางของโคโลนีแล้วยื่นปลายอีกด้านหนึ่งออกไปโดยรอบในแนวรัศมี ทั้งนี้กลุ่มเซลล์รูปถ้วยที่เรียงต่อกันเป็นเส้นจะมีการแตกแขนงกิ่งก้านสาขาออกไปอีก ทำให้มีการอัดตัวกันแน่นคล้ายพวงองุ่นเป็นรูปทรงกลมจึงเป็นที่มาของชื่อ "บอตทรีโยคอคคัส" ในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสาหร่ายสกุลบอตทรีโยคอคคัสนี้เพียงชนิดเดียวคือ บอตทรีโยคอคคัส บรอนิไอ (Botryococus braunii) สาหร่ายสกุลนี้พบในรูปซากดึกดำบรรพ์ในหินที่มีอายุตั้งแต่บรมยุคพรีแคมเบียน มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วโลก

แอคทินาสตรัม แก้

สาหร่ายสกุลแอคทินาสตรัม เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวอีกสกุลหนึ่งที่อยู่มนรูปของโคโลนี เป็นสาหร่ายสีเขียวมีคลอโรฟิล อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด จัดอยู่ในวงศ์สคีนีเดสมาซีอี (Scenedesmaceae) แต่ละเซลล์จะมีรูปร่างเป็นรูปทรงกระสวย เป็นแท่งยาวเหลี่ยม ป่องตรงกลาง และสอบแคบไปทางส่วนปลายทั้งสองด้าน ส่วนปลายทั้งสองด้านเป็นหน้าตัด ในปัจจุบันพบเป็นกลุ่มโคโลนีของเซลล์รูปกระสอยตั้งแต่ 4-16 เซลล์ โดยใช้ปลายด้านหนึ่งของเซลล์เชื่อมติดกัน และปลายอีกด้านหนึ่งชี้ออกไปในแนวรัศมี การ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเชื่อมติดกันของเซลล์ในโคโลนีหนึ่งๆไม่แข็งแรงนัก ในกระบวนการเตรียมตัวอย่างทางเรณูวิทยาของตัวอย่างหินจึงทห้เซลล์ต่างๆในโคโลนีหลุดออกจากกันเป็นเซลล์เดี่ยวๆ และเป็นการยากที่จะบรรยายโคโลนีของซากดึกดำบรรพ์สาหร่ายสกุลนี้

มีรายงานการค้นพบสาหร่ายสกุลนี้ในรูปของซากดึกดำบรรพ์เป็นครั้งแรกจากชั้นหินสมัยไมโอซีนตอนกลางของเหมืองถ่านหินเชียงม่วน ที่บ้านสะ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และได้รับการตั้งชื่อว่า แอคทินาสตรัม บ้านสะเอนซี (Actinastrum bansaense)ถือเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สำคัญอีกหลักฐานหนึ่งที่จะบ่งชี้ว่าการตกสะสมตะกอนเกิดในสภาพแวดล้อมแบบแหล่งน้ำจืด

คลอสเทอเรียม แก้

สาหร่ายคลอสเทอเรียม เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวสีเขียวมีคลอโรฟิล จัดอยู่ในวงศ์เดสมิดดิเอซิอี (Desmidiaceae) มีลักษณะเป็นแผ่นแบนป่องตรงกลางและแคบสอบออกไปที่ส่วนปลายทั้งสอง ในปัจจุบันพบหลายลักษณะ อาจพบเป็นแผ่นแบนตรง บ้างพบโค้งคล้ายเสี้ยวจันทร์ โดยมีการการโค้งมากน้อยต่างๆกันไป ทั้งนี้อยู่เป็นเซลล์เดี่ยวๆไม่รวมกันเป็นโคโลนี

ซากดึกดำบรรพ์ที่พบมีรายงานการค้นพบจากการศึกษาทางเรณูวิทยาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากหินสมัยไมโอซีนตอนกลางในเหมืองถ่านหินเชียงม่วน ที่บ้านสะ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และได้รับการตั้งชื่อว่า คลอสเทอเรียม ไทยแลนดิคัม (Closterium thailandicum) ลักษณะที่พบเป็นเซลล์รูปร่างเป็นแผ่นแบนยาว ป่องตรงกลางเซลล์และสอบแคบไปทางส่วนปลายทั้งสองด้านจนเป็นมุมแหลมมนเล็กน้อย มีสันนูนแคบๆด้านละสองสันโยงจากปลายแหลมทั้งสองด้าน

อ้างอิง แก้

  • Guy-Ohlson, D. (1992) Botryococcus as an aid in the interpretation of palaeoenvironment and depositional processes. Review of Palaeobotany and Palynology 71: 1-15.
  • Songtham, W., Ratanasthien, B., and Mildenhall, D.C. (2004) New species of algae Actinastrum Lagerheim and Closterium Nitzsch ex Ralfs from Middle Miocene sediments of Chiang Muan basin, Phayao, Thailand with tropical pollen composition. Science Asia 30: 171-181.
  • Songtham, W., Ratanasthien, B., Watanasak, M., Mildenhall, D.C., Singharajwarapan, S., and Kandharosa, W. (2005) Tertiary basin evolution in northern Thailand: a palynological point of view. Nat. Hist. Siam Soc. 53(1): 17-32.