จู๋ชูจี้เหนียน (จีน: 竹書紀年; พินอิน: Zhúshū Jìnián; "หนังสือไม้ไผ่รายปี") หรือ จี๋จ่งจี้เหนียน (จีน: 汲冢紀年; พินอิน: Jí Zhǒng Jìnián; "หนังสือรายปีแห่งเนินจี๋") เป็นพงศาวดารจีนโบราณ ตั้งต้นด้วยยุคสมัยปรัมปราของจักรพรรดิเหลือง (黃帝) ยาวมาจนถึง 299 ปีก่อนคริสตกาล โดยเนื้อหาช่วงหลังมุ่งเน้นที่ประวัติของรัฐเว่ย์ (魏国) ในช่วงรณรัฐ (戰國) เอกสารนี้จึงว่าด้วยยุคสมัยใกล้เคียงกับในหนังสือ ฉื่อจี้ (史記) ที่ซือหม่า เชียน (司馬遷) เขียนขึ้นเมื่อ 91 ปีก่อนคริสตกาล

ต้นฉบับเชื่อว่าสูญหายไปในช่วงราชวงศ์ซ่ง (宋朝)[1] ส่วนเนื้อความที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นมีอยู่ไม่สมบูรณ์ และนักประวัติศาสตร์เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นของปลอม เพราะมีหลายส่วนขัดแย้งกับเอกสารที่เก่าแก่กว่า[2][3] แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็แย้งว่าเนื้อหาบางส่วนไม่ผ่านการแต่งเติมแก้ไขและเชื่อถือได้[4]

ประวัติ แก้

เอกสารต้นฉบับฝังไว้กับพระศพของพระเจ้าเว่ย์เซียง (魏襄王) แห่งรัฐเว่ย์ ซึ่งสวรรคตเมื่อ 296 ปีก่อนคริสตกาล และค้นพบในราว 600 ปีต่อมาเมื่อ ค.ศ. 281 ตรงกับช่วงราชวงศ์จิ้น (晋朝) ดังนั้น เอกสารนี้จึงไม่ถูกทำลายไปในคราวที่ฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝) รับสั่งให้เผาหนังสือเมื่อ 213 ปีก่อนคริสตกาล

เอกสารอื่นที่พบในสุสานเดียวกัน มี กั๋วอฺวี่ (國語), อี้จิง (易經), และ มู่เทียนจื่อจ้วน (穆天子傳) เป็นต้น

ผู้รวบรวมและคัดลอกเอกสารนี้เป็นราชบัณฑิต เนื้อหาเขียนไว้บนม้วนไม้ไผ่ที่เรียก "เจี่ยนตู๋" (简牍) ทำให้ได้ชื่อว่า จู๋ชูจี้เหนียน อันแปลว่า "หนังสือไม้ไผ่รายปี"[5] ขุนนางนาม ตู้ อฺวี้ (杜預) ได้เห็นต้นฉบับ ระบุว่า เนื้อหาเริ่มต้นด้วยราชวงศ์เซี่ย (夏朝) และใช้ปฏิทินโบราณก่อนสมัยราชวงศ์ฮั่นหลายแบบ แต่ต่อมาร่ำลือกันว่า เนื้อหาเริ่มด้วยยุคสมัยของจักรพรรดิเหลือง ประกอบด้วยม้วนไม้ไผ่สิบสามม้วน ซึ่งภายหลังได้สูญหายไปในช่วงราชวงศ์ซ่ง[5][6] ส่วนเอกสารสมัยราชวงศ์ซ่งชื่อ ซ่งฉือ (宋史) ซึ่งเขียนเมื่อ ค.ศ. 1345 ระบุว่า ม้วนไม้ไผ่มีสามม้วน[7]

ฉบับที่ปรากฏในปัจจุบันประกอบด้วยม้วนไม้ไผ่สองม้วน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16[8][9] ม้วนแรกเริ่มต้นด้วยข้อความบรรยายย่อ ๆ เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อนมีราชวงศ์ ตั้งต้นด้วยจักรพรรดิเหลือง ตามมาด้วยเรื่องราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ชาง (商朝) และมีข้อความบรรยายยาว ๆ เกี่ยวกับลางร้ายต่าง ๆ แทรกอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นเนื้อหาอย่างเดียวกับในหนังสือ ซ่งฉือ ส่วนม้วนที่สองมีเนื้อหาพิสดารมากขึ้น ว่าด้วยราชวงศ์โจวตะวันตก (西周朝), รัฐจิ้น (晋国), และรัฐเว่ย์ โดยไม่มีคำบรรยายเกี่ยวกับลางร้ายเหมือนในม้วนแรก[10] ฉบับดังกล่าวนี้ใช้ปฏิทินแบบกานจือ (干支) ซึ่งเริ่มใช้ในราชวงศ์ฮั่น[6] แต่มีข้อความขัดแย้งกับเอกสารสมัยก่อนหน้านี้หลายประการ ทำให้นักประวัติศาสตร์แต่เดิมมา เช่น เฉียน ต้าซิน (錢大昕) แห่งราชวงศ์ชิง (清朝) และซินโซ ชินโจ (新城新蔵) แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต เชื่อว่า ฉบับนี้เป็นของปลอม[11] และปัจจุบันก็ยังเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นของปลอม[2][3] แต่นักประวัติศาสตร์ตะวันตกบางคน เช่น เดวิด เชเพิร์ด นิวิสัน (David Shepherd Nivison) และเอดเวิร์ด แอล. เชาเนสซี (Edward L. Shaughnessy) แย้งว่า เนื้อความบางส่วนคัดลอกจากต้นฉบับมาอย่างเที่ยงตรง ปราศจากการแก้ไขเพิ่มเติม[4]

มีนักประวัติศาสตร์บางคน เช่น หวัง กั๋วเหวย์ (王國維) แห่งราชวงศ์ชิง พยายามกระเทาะเอาเนื้อความส่วนที่เชื่อว่าไม่ผ่านการแต่งเติมออกมา เรียกว่า "เนื้อความเก่า" (古本) โดยเทียบกับเอกสารสมัยก่อนราชวงศ์ซ่ง[12][13]

อ้างอิง แก้

  1. Knechtges (2014), p. 2343.
  2. 2.0 2.1 Keightley (1978), p. 424.
  3. 3.0 3.1 Barnard (1993), pp. 50–69.
  4. 4.0 4.1 Shaughnessy (1986).
  5. 5.0 5.1 Keightley (1978), p. 423.
  6. 6.0 6.1 Nivison (1993), pp. 40–41.
  7. Shaughnessy (2006), p. 193.
  8. Nivison (1993), pp. 41, 44.
  9. Shaughnessy (2006), pp. 193–194.
  10. Nivison (1993), p. 40.
  11. Nivison (1993), pp. 39, 42–43.
  12. Keightley (1978), pp. 423–424.
  13. Shaughnessy (2006), p. 209.

บรรณานุกรม แก้

  • Barnard, Noel (1993), "Astronomical data from ancient Chinese records: the requirements of historical research methodology" (PDF), East Asian History, 6: 47–74, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03, สืบค้นเมื่อ 2013-05-03.
  • Keightley, David N. (1978), "The Bamboo Annals and Shang-Chou Chronology", Harvard Journal of Asiatic Studies, 38 (2): 423–438, doi:10.2307/2718906, JSTOR 2718906.
  • Knechtges, David R. (2014). "Zhushu jinian 竹書紀年 (Bamboo Annals)". ใน Knechtges, David R.; Chang, Taiping (บ.ก.). Ancient and Early Medieval Chinese Literature: A Reference Guide, Part Four. Leiden: Brill. pp. 2342–48. ISBN 978-90-04-27217-0.
  • Nivison, David S. (1993), "Chu shu chi nien 竹書紀年", ใน Loewe, Michael (บ.ก.), Early Chinese Texts: A Bibliographical Guide, Berkeley: Society for the Study of Early China, pp. 39–47, ISBN 1-55729-043-1.
  • Shaughnessy, Edward L. (1986), "On The Authenticity of the Bamboo Annals", Harvard Journal of Asiatic Studies, 46 (1): 149–180, doi:10.2307/2719078, JSTOR 2719078. reprinted in Shaughnessy, Edward L. (1997). Before Confucius. Studies in the Creation of the Chinese Classics. Ithaca: SUNY Press. pp. 69–101. ISBN 0-7914-3378-1.
  • —— (2006), "The Editing and Editions of the Bamboo Annals", Rewriting Early Chinese Texts, Albany: State University of New York Press, pp. 185ff, ISBN 978-0-7914-6644-5.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้