จัง จริงจิตร (23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2497) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง (ส.ส.ตรัง) คนแรก[1][2][3]

จัง จริงจิตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ประเทศสยาม
เสียชีวิต9 ธันวาคม พ.ศ. 2497 (57 ปี)

ประวัติ

แก้

เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ที่ตำบลโคกขัน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรชายของนายหงวน และนางพริ้ม จริงจิตร

การศึกษาและการทำงาน

แก้

นายจังจบการศึกษาที่โรงเรียนตรังคภูมิ และเข้าศึกษาต่อระดับมัธยม ณ โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำมณฑล จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และสอบได้ประโยคครูมูล (ครู ป.) จากนั้นจึงเข้ารับราชการเป็นครูระดับชั้นจัตวา เมื่อปี พ.ศ. 2458 ณ โรงเรียนตรังคภูมิ โรงเรียนเดิมที่เคยศึกษา จากนั้นเมื่อมีการย้ายเมืองไปตั้งใหม่ที่ตำบลทับเที่ยง จังจึงไปเป็นครูในโรงเรียนวิเชียรมาตุ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งใหม่ ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศอีก 1 ปี สอบไล่ได้ประโยคครูประถม และในปี พ.ศ. 2467 ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 (ม.ศ.7)

จากนั้นได้ไปสอนที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2469 และย้ายกลับไปสอนที่โรงเรียนวิเชียรมาตุในปีเดียวกันเพราะเป็นห่วงครอบครัว จากนั้นในปี พ.ศ. 2476 ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ได้เป็นธรรมการ (ศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

นายจัง จริงจิตร เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของชาวจังหวัดตรังในชื่อ "ครูจัง" และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง คนแรก จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย[4]

โดยในการเลือกตั้งครั้งนั้น จังได้มีผู้ช่วยหาเสียงคนสำคัญ คือ นางสาวกิมถ้วน จูห้อง (ถ้วน หลีกภัย ในเวลาต่อมา) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาว หลังเลือกตั้งจังก็ได้ตอบแทน น.ส.กิมถ้วน ด้วยการหาตลาดขายค้าหมากพลูส่งไปยังปีนัง ตามที่ น.ส.กิมถ้วน ร้องขอ[5]

ด้านครอบครัว

แก้

ด้านชีวิตครอบครัว จังได้สมรสกับ นางกี่ จริงจิตร (นามสกุลเดิม: เซ่งยี่) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 5 คน

ถึงแก่อนิจกรรม

แก้

ภายหลังจากการสิ้นสุดการเป็น ส.ส. แล้ว นายจังก็กลับไปรับราชการเป็นครูตามเดิม โดยใช้ชีวิตอย่างสมถะ และถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2497 สิริอายุได้ 57 ปี[3]

อ้างอิง

แก้
  1. อาร์วายทีไนน์,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรก
  2. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร รายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรเภทที่ 1
  3. 3.0 3.1 ผู้นำท้องถิ่น: ตรัง จากเว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก[ลิงก์เสีย]
  4. สารานุกรมรัฐศาสตร์ โดย จรูญ สุภาพ, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, (พ.ศ. 2531) หน้า 104
  5. กินอยู่เรียบง่าย สบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา โดย เริงศักดิ์ กำธร (พ.ศ. 2545) ISBN 974-85645-2-5