จักจั่นทะเล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: มาสตริชเชียน-ปัจจุบัน
จักจั่นทะเลชนิด Blepharipoda occidentalis
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ไฟลัมย่อย: Crustacea
ชั้น: Malacostraca
อันดับ: Decapoda
อันดับฐาน: Anomura
วงศ์ใหญ่: Hippoidea
Latreille, 1825
วงศ์

จักจั่นทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกอาร์โธพอด ในไฟลัมย่อยครัสตาเชียน อันดับฐานปูไม่แท้ โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hippoidea

จักจั่นทะเล เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับจักจั่นที่เป็นแมลง ตัวขนาดเท่าแมลงทับ แต่อาศัยอยู่ในทะเลอันเป็นที่มาของชื่อสามัญ ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับ เปลื้อง ณ นคร ได้อธิบายไว้ว่า

จันจั่กทะเล น. แมลงทะเลชนิดหนึ่งคล้าย จักจั่น มีชุมตามริมฝั่งทะเลเกาะภูเก็ต ใช้เป็นอาหารได้

[1]

จักจั่นทะเล ขนาดเท่านิ้วหัวแม่โป้ง มีกระดองแข็งคล้ายปู มีขาทั้งหมด 5 คู่ แต่ส่วนของขาว่ายน้ำไม่ได้ใช้ว่ายน้ำ แต่ใช้ในการพยุงรักษาไข่เหมือนปูมากกว่า ส่วนหัวมีกรี แต่ไม่แข็งเหมือนกุ้ง ไม่มีก้ามหนีบ เป็นสัตว์ที่กินแพลงก์ตอน, สัตว์น้ำขนาดเล็ก และพืชน้ำจำพวกสาหร่ายที่ลอยมากับกระแสน้ำเป็นอาหาร โดยปกติแล้วจะอาศัยอยู่ในพื้นทรายที่ใกล้ชายฝั่งทะเลทั่วโลก เมื่อพบกับศัตรูผู้รุกรานจะมุดตัวลงใต้ทรายอย่างรวดเร็ว โดยโผล่มาแค่ก้านตา จะมีร่องรอยที่มุดลงทรายเป็นรูปตัวยู (U) หรือตัววี (V) มีพฤติกรรมการขยายพันธุ์ ด้วยการที่ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ของตัวเมีย ที่เกาะอยู่ใต้ท้องเหมือนกับสัตว์จำพวกอื่นในไฟลัมย่อยครัสตาเชียนเหมือนกัน โดยวางไข่ใต้พื้นทรายลึกลงไปริมชายหาด เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนก็ถูกกระแสคลื่นน้ำพัดพาออกไปใช้ชีวิตเบื้องต้นเหมือนแพลงก์ตอน จากนั้นเมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็ถูกกระแสน้ำพัดกลับเข้าฝั่งเป็นวงจรชีวิต[2] จักจั่นทะเลตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่ประมาณ 10 มิลลิเมตรเท่านั้น [3]

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วงศ์ ด้วยกัน ได้แก่

Albuneidae Stimpson, 1858
Blepharipodidae Boyko, 2002
Hippidae Latreille, 1825

ในประเทศไทยมักพบที่หาดไม้ขาว และหาดต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต โดยที่หาดไม้ขาวพบมากที่สุด เนื่องจากเป็นหาดที่ธรรมชาติยังคงบริสุทธิ์อยู่ จักจั่นทะเลสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ ด้วยวิธีการปรุงต่าง ๆ ในบางฤดูกาลจะพบตามหาดทั่วไปหมด วิธีการจับใช้วิธีแบบดั้งเดิม คืิอ ใช้สวิงที่มีความห่างของตาข่ายประมาณ 1.5 เซนติเมตร ลากไปตามชายหาด เมื่อพบตัวที่ยังเล็กอยู่หรือไข่ที่แก่เป็นสีน้ำตาลเข้มจะปล่อยไป เพื่อให้เจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์สืบไป [3]สำหรับชนิดที่พบได้ในน่านน้ำไทย คือ จักจั่นนางแอ่น (Albunea symmysta-เป็นชนิดที่หาได้ยากที่สุด), จักจั่นทะเลธรรมดา (Emerita emeritus-เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป) และจักจั่นควาย (Hippa adactyla-เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด)[6] [3]

อ้างอิง

แก้
  1. จักจั่นทะเล จากสนุกดอตคอม
  2. "'จักจั่น ทะเล' หาดไม้ขาว เมนูเด็ด...หมิ่นเหม่สูญพันธุ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-18. สืบค้นเมื่อ 2012-07-24.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ทุ่งแสงตะวัน 2013.05.04 - จักจั่นทะเล". ช่อง 3. 4 May 2013. สืบค้นเมื่อ 30 May 2015.
  4. Christopher B. Boyko (2002). "A worldwide revision of the Recent and fossil sand crabs of the Albuneidae Stimpson and Blepharipodidae, new family (Crustacea, Decapoda, Anomura, Hippoidea)" (PDF). Bulletin of the American Museum of Natural History. 272: 1–396. doi:10.1206/0003-0090(2002)272<0001:AWROTR>2.0.CO;2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-07-05. สืบค้นเมื่อ 2015-05-29.
  5. Sammy De Grave, N. Dean Pentcheff, Shane T. Ahyong; และคณะ (2009). "A classification of living and fossil genera of decapod crustaceans" (PDF). Raffles Bulletin of Zoology. Suppl. 21: 1–109. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 2015-05-29.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. จักจั่นทะเล

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้