จอน แม็กลาฟลิน (อังกฤษ: Jon McLaughlin) เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2525 ที่เมืองแอนเดอร์สัน รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา เป็นนักร้องและนักประพันธ์เพลงชาวอเมริกา ออกอัลบั้มอีพีแรกเป็นอัลบั้มอิสระในชื่อว่า อัปอันทิลนาว

จอน แม็กลาฟลิน
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดโจนาธาน แม็กลาฟลิน
เกิด27 กันยายน พ.ศ. 2525 (41 ปี)
ที่เกิดแอนเดอร์สัน รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา
แนวเพลงป๊อป, ร็อก
อาชีพนักร้อง, นักแต่งเพลง
เครื่องดนตรีเปียโน, กีตาร์
ช่วงปีพ.ศ. 2547 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงไอส์แลนด์เดฟแจมเรคอร์ดส
พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน
เว็บไซต์Jonmcl.com

จอนเรียนเปียโนแต่ครั้งวัยเยาว์ และชนะการประกวดดนตรีที่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา อันเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในวงการดนตรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2549 เขาได้เซ็นสัญญากับค่ายไอส์แลนด์เรคอร์ดส และได้ออกอัลบั้ม อินดีแอนา โดยชื่ออัลบั้มมีที่มาจากรัฐที่เขาเติบโตมา นอกจากนี้ จอนยังได้ขับร้องเพลง "โซโคลส" เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มหัศจรรย์รักข้ามภพ (อังกฤษ: Enchanted) ซึ่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 รางวัล รวมั้งเพลง "โซโคลส" ทั้งนี้จอนได้ร้องสดเพลงนี้ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 80อีกด้วย

เพลงของจอนส่วนมากเป็นเพลงแนวป๊อปและร็อก ซึ่งใช้ประกอบละครชุดหลายเรื่องในสหรัฐอเมริกา เพลงของจอนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อหลายแขนง นอกจากนี้จอนยังร่วมงานการนักร้องคนอื่นๆอีกหลายท่าน ปัจจุบันจอนมียอดขายอัลบั้มในสหรัฐอเมริกากว่า 105,000 ชุด

ประวัติ แก้

ชีวิตในวัยเยาว์และก้าวแรกในวงการดนตรี แก้

จอน แม็กลาฟลิน เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2525 ที่เมืองแอนเดอร์สัน รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่ในวัยเยาว์ ในช่วงมัธยมศึกษา เขาเว้นว่างจากการฝึกเปียโนเนื่องมาจากประสบอุบัติเหตุที่ข้อมือของเขา จนกระทั่งช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เขากลับมาเล่นเปียโนอีกครั้งหนึ่ง จอนเข้าเรียนที่วิทยาลัยดนตรีท้องถิ่น ในระหว่างนั้น เขาได้เรียนเปียโน และใช้เวลาว่างในการประพันธ์เพลง ในระหว่างเรียนนั้น จอนชนะการประกวดดนตรีที่โรงเรียนอันเปิดโอกาสให้จอนสู่วงการดนตรี

จอนเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยแอนเดอร์สันในสาขาดนตรี[1] และออกอัลบั้มอีพีอิสระในชื่อว่า อัปอันทิลนาว (อังกฤษ: Up Until Now) ในปี พ.ศ. 2546[2] เขาได้เซ็นสัญญากับค่าย Orangehaus Records และได้ออกอัลบั้มอีพีในชื่อเดียวกับเขาเองในปี พ.ศ. 2547 และ ในปีถัดมาเขาได้ออกอัลบั้มอีพี ซองไอโรทแอนด์เลเทอร์เรคอร์ด ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ในเว็บไซต์อแวร์สโตร์ นอกจากนี้ยังได้จัดคอนเสิร์ตทัวร์ทั่วประเทศ และได้ขยายฐานแฟนเพลงของเขาด้วยการเล่นที่ทะเลสาบทิมเบอร์วูฟ ซึ่งเป็นค่ายวัยรุ่น โดยใช้เพลงจากอัลบั้มอีพี จอนแม็กลาฟลิน

นักร้องระดับสากล แก้

ในปี พ.ศ. 2549 เขาได้มีโอกาสเข้าทดสอบเป็นนักร้องใน 3 ค่าย หนึ่งในนั้นคือค่ายไอส์แลนด์เรคอร์ดส อันเป็นค่ายที่เขาเซ็นสัญญาด้วย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 เขาได้ออกอัลบั้ม อินดีแอนา ซึ่งในอัลบั้มนี้ได้นำเพลงจาก 2 อีพีแรกของเขามาขับร้องใหม่[2]

หลังจากนั้น เพลงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการนำเพลงของเขาใช้ประกอบกับละครชุดหลายเรื่อง อาทิ ละครชุดทางช่องเอ็นบีซีเรื่อง สครัป ในตอน "มายคอนเว็นชันแนลวิสดอม" ซึ่งออกอากาศในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ยังนำเพลง "ฮิวแมน" ของเขาประกอบเรื่อง โกสท์วิสเปอร์เรอร์ ในตอน "เดอะวอล์ก-อิน", เพลง "บิวตีฟูลดิสแอสเตอร์" ได้นำมาประกอบละครชุดชื่อดัง อะลิตเติลธิงคอลด์ไลฟ์ ฤดูที่ 1 ตอน "เดอะเกรเทสท์และเวิสท์ฮาโลวีนแอฟเวอร์" และเพลง "ฮิวแมน" ยังใช้ประกอบละครชุดทางช่องซีบีเอส เรื่อง แฟลชพอยท์

ปัจจุบันมีเพลงของจอนจากอัลบั้ม อินดีแอนา ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ 3 เพลง ได้แก่เพลง "อะนาเธอร์เลเยอร์" (อังกฤษ: Another Layer) ได้นำมาใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ทีราบิเตีย สะพานมหัศจรรย์ (อังกฤษ: Bridge to Terabithia) และเพลง "บิวตีฟูลดิสแอสเตอร์" (อังกฤษ: Beautiful Disaster) ได้นำมาใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง หลานสาวตัวร้ายกับคุณยายปราบพยศ (อังกฤษ: Georgia Rule) ภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2550 นอกจากนี้จอนยังได้ขับร้องเพลง "โซโคลส" ผลงานการประพันธ์ของอลัน เมนเคน และสตีเฟน สตีร์วาร์ด อันเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มหัศจรรย์รักข้ามภพ (อังกฤษ: Enchanted) เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ทั้งนี้จอนได้แสดงสดเพลงนี้ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 80 โดยมาพร้อมกับเอนี ภรรยาของเขา[3] ภายหลังการแสดงทำให้ยอดขายเพลงของเขาในเว็บไซต์อะเมซอนเพิ่มขึ้นกว่า 1,514 เปอร์เซ็นต์ในเพียงชั่วข้ามคืน[4]

อัลบั้ม อินดีแอนา ได้รับการชื่นชมจากสื่อโดยทั่วไป เจสสิกา กรีกอเรียส จากเว็บไซต์จีซัสเฟรกไฮด์เอาท์ อันเป็นเว็บไซต์ด้านดนตรีได้วิจารณ์อัลบั้มนี้ว่า "มันง่ายมากที่จะคาดเดาเพลงป๊อปอื่นๆ ที่นำเสนอแต่รูปแบบเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่อัลบั้มนี้นำเสนอมากกว่าเพลงบัลลาดที่เกี่ยวกับชีวิต และความรัก อินดีแอนา เป็นอัลบั้มที่ทุกคนสามารถฟังได้ ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่" (อังกฤษ)[5] รัส บรีมิเออร์ จากเว็บไซต์คริสเตียนมิวสิกทูเดย์ กล่าวว่า "อินดีแอนา เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่ดีของจอน แม็กลาฟลิน นักร้องและนักประพันธ์เพลงหนุ่ม อัลบั้มนี้เต็มไปด้วยเนื้อเพลงดุจมีชีวิตจิตใจ ประกอบกับแนวเปียโนป๊อปที่น่าประทับใจ"[6]

จอนร่วมแสดงกับเคลลี คลาร์กสัน ในวันเปิดการแสดงคอนเสิร์ตทัวร์มายดีเซมเบอร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการในรายการ ทูไนต์โชว์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เขาแสดงคอนเสิร์ตทัวร์ร่วมกับ Sara Bareilles นักร้องและนักประพันธ์เพลงอันมีแนวเพลงคล้ายคลึงกัน และบันทึกเสียงร่วมกับเจสัน มราซ และแวน ฮันต์ ให้กับอัลบั้มของแรนดี แจ็กสัน ชื่อว่า แรนดีแจ็กสันส์มิวสิก ชุดที่ 1 ในเพลง "ซัมธิงทูบีลีฟอิน"[7]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 เพลง "บีตติงมายฮาร์ต" ได้เผยแพร่ทางวิทยุ และออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551[8] และได้เข้าชาร์ตเพลงร่วมสมัยของผู้ใหญ่ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551[9] "บีตติงมายฮาร์ต" เป็นซิงเกิลแรกของเขาจากอัลบั้ม โอเคนาว (อังกฤษ: OK Now) ซึ่งออกจำหน่ายในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ในอัลบั้มนี้ จอนได้เปลี่ยนแนวเพลงของตัวเองจากเพลงป๊อป ที่มีเปียโนประกอบเป็นแนวร็อกมากขึ้น สตีเฟน โธมัส เออรล์ไวน์ จากเว็บไซต์ออลมิวสิกกล่าวว่า "โอเคนาว แสดงให้เห็นว่าจอน แม็กลาฟลินเป็นมากกว่านักร้อง/นักประพันธ์เพลงที่มีพรสวรรค์"[10] โลแกน เลเชอร์จากเว็บไซต์จีซัสเฟรกไฮด์เอาท์กล่าวว่า "การเสี่ยงไม่ใช่การหาคำตอบ แต่คำนี้คงใช้ไม่ได้กับอัลบั้ม โอเคนาว อัลบั้มใหม่ของจอน แม็กลาฟลินที่ผสมผสานแนวเพลงโฟล์ก เปียโน ร็อก ดั้งเดิม พร้อมกับแนวป๊อปสปินแบบใหม่"[11]

กิจกรรมการกุศล แก้

จอนร่วมกับกาเรธ บลูคส์, แพท สีนาทาร์ และนีล กีแรลโด บริจาคเงินกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐแก่มูลนิธิสตาร์คีย์เฮียริง มูลนิธิช่วยเหลือผู้พิการทางโสตประสาท[12] เขาร่วมงาน "ร็อกเดอะกาซาปห์" ของมูลนิธิเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน อันเป็นมูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม และสังคม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551[13][14] นอกจานี้จอนยังร่วมแสดงดนตรีในงาน "ยูนิเซฟสโนว์เฟลกบอล ประจำปี ค.ศ. 2008" ของยูนิเซฟ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารายได้เข้ากองทุนยูนิเซฟ โดยแสดงเพลง "บีตติงมายฮาร์ต" เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551[4][15]

ผลงาน แก้

อัลบั้ม แก้

อีพี แก้

อ้างอิง แก้

  1. Jon McLaughlin @ Awarestore.com สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  2. 2.0 2.1 เอโอแอล เก็บถาวร 2008-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  3. Temporary Sanity » Jon McLaughlin at the Oscars เก็บถาวร 2012-07-30 ที่ archive.today สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  4. 4.0 4.1 2008 UNICEF Snowflake Ball Honors Lucy Liu & Gary Cohen เว็บไซต์มาร์เก็ตวอช สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ) อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "มาร์เก็ตวอช" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  5. จีซัสเฟรกไฮด์เอาท์ สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  6. จอน แม็กลาฟลิน อินดีแอนา จากเว็บไซต์คริสเตียนมิวสิกทูเดย์ สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  7. [1] Album Preview for "Randy Jackson's Music Club, Vol. 1" สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  8. New Mainstream Radio Single Releases เก็บถาวร 2012-05-25 ที่ archive.today. FMQB สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  9. New AC Radio Single Releases เก็บถาวร 2011-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. FMQB สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  10. ออลมิวสิกไกด์ สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  11. จีซัสเฟรกไฮด์เอาท์ สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  12. สำนักข่าวรอยเตอร์[ลิงก์เสีย] สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  13. ไฮต์บีม เก็บถาวร 2016-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จอน แม็กลาฟลิน ณ งานรื่นเริงของมูลนิธิเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  14. เดย์ลีไลฟ์[ลิงก์เสีย] สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  15. องค์การยูนิเซฟของสหรัฐอเมริกา สืบค้นวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้