จดหมายของนักบุญยากอบ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
จดหมายของนักบุญยากอบ[1] (อังกฤษ: Epistle of James) เป็นหนังสือเล่มที่ 20 ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ เป็นหนึ่งในเจ็ดจดหมายทั่วไป อันได้แก่ จดหมายของนักบุญยากอบ จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 2 จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3 และจดหมายของนักบุญยูดา เนื่องจากจดหมายเหล่านี้ถูกส่งถึงคริสตชนทั่วไป ไม่ได้ระบุว่าเป็นคริสตจักรใด
หนังสือเล่มนี้เดิมเป็นจดหมายของท่านยากอบ ซึ่งน่าจะเป็นยากอบผู้ชอบธรรม น้องชายของพระเยซู ในช่วงก่อนการตรึงพระเยซูที่กางเขน ยากอบไม่เพียงแต่ไม่ได้เชื่อในพระเยซูเท่านั้น แต่ยังไม่เข้าใจและท้าทายในสิ่งที่พระเยซูทรงทำอีกด้วย ต่อมาภายหลังการคืนพระชนม์ของพระเยซู ท่านยากอบจึงกลับใจเชื่อและกลายเป็นผู้นำคริสตจักรคนสำคัญในกรุงเยรูซาเลม เนื้อหาในจดหมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวยิวอย่างเด่นชัด ไม่ได้กล่าวถึงการกลับใจของชาวต่างชาติ ดังนั้นจึงพอจะคาดได้ว่า จดหมายฉบับนี้น่าจะถูกเขียนขึ้นในช่วงที่ยิวมีอำนาจเหนือคริสตจักร ซึ่งก็จะอยู่ในราวปีค.ศ. 48 - 50
ในฐานะผู้นำคริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็ม ท่านยากอบเขียนจดหมายฉบับนี้ เหมือนเป็นบาทหลวงสั่งสอนและปลุกใจผู้ที่กำลังทนทุกข์ยาก ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแผ่นดิน เนื้อหาในจดหมายกล่าวถึง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับความเชื่อคริสเตียนและคำแนะนำในการดำเนินชีวิตประจำวัน ท่านยากอบเขียนอย่างตรงไปตรงมา เน้นที่การปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อจะแก้ไขข้อผิดพลาด และไม่มีการประนีประนอม ทำให้พระธรรมเล่มนี้มีพลังและเข้าใจได้ไม่ยาก
จุดประสงค์ของหนังสือ ยากอบ มีอยู่ 4 ประการ ประการแรกคือ ต้องการเปรียบเทียบคนฝ่ายจิตวิญญาณแท้และปลอม โดยกล่าวว่าผู้ที่มีจิตวิญญาณแท้จะแสดงออกเป็นการกระทำในทางบวก แต่ผู้ที่มีจิตวิญญาณปลอมจะเป็นตรงกันข้าม ตัวอย่างที่ท่านยากอบกล่าวถึงคือ การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันต่อผู้ที่มีฐานะร่ำรวยและยากจน[2] เป็นต้น
ประการที่สองคือ ต้องการให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง พอจะแบ่งย่อยได้ 2 ส่วนคือ ส่วนของตนเอง เช่น การระมัดระวังเรื่องการพูด ซึ่งท่านยากอบถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ท่านยากอบกล่าวว่า ลิ้นเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถเลี้ยงให้เชื่องได้[3] ส่วนที่สองคือ ส่วนการปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่น อย่าใส่ร้ายหรือตัดสินผู้อื่น มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นผู้พิพากษา[4]
ประการที่สามคือ ต้องการให้วางใจในพระเจ้า ท่านยากอบเปรียบชีวิตของมนุษย์ว่า เป็นเหมือนหมอกที่ปรากฏอยู่ชั่วครู่แล้วก็หายไป[5] จึงต้องการให้วางใจในพระเจ้า ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะสูญหายหรือผุพังไปเมื่อใดก็ได้[6]
ประการสุดท้ายคือ ต้องการให้อดทนและอธิษฐาน ท่านยากอบเปรียบกับชาวนาที่ได้ปลูกข้าวแล้วรอฝนตก[7] อาจยากลำบากในช่วงแรกแต่เมื่อข้าวออกรวงแล้วจะเป็นผลที่ล้ำค่า ในระหว่างที่อดทนรอนั้น หากทนทุกข์ให้อธิษฐาน หากร่าเริงยินดีให้ร้องเพลงสรรเสริญ[8] ซึ่งท่านยากอบได้ยกตัวอย่างท่านเอลียาห์ในเรื่องการอธิษฐานขอฝนและห้ามฝน[9]
โครงร่าง
แก้- ลักษณะของคนฝ่ายจิตวิญญาณที่แท้ 1:1 - 27
- ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อกับการประพฤติ 2:1 - 26
- การควบคุมลิ้น 3:1 - 18
- การเตือนสติในทางปฏิบัติ 4:1 - 5:7
- การอดทนและการอธิษฐาน 5:8 - 20
อ้างอิง
แก้- Thai Holy Bible, Thailand Bible Society, 1998
- Walter A. Elwell, The Pocket Bible Handbook, Harold Shaw Publisher, 1997