คลองบางประทุน
คลองบางประทุน เป็นคลองในเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมระหว่างคลองสนามชัยกับคลองภาษีเจริญ มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร คำว่า "ประทุน" แปลว่า "หลังคา" เพราะมีแมกไม้ดุจหลังคาประทุนที่ให้ร่มเงา[1] มีวัดที่ตั้งอยู่ริมคลองคือ วัดแก้วไพฑูรย์และวัดบางประทุนนอก
ประวัติ
แก้ชุมชนบางประทุน เป็นย่านชุมชนชาวสวนดั้งเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา มีวัดสมัยอยุธยาตั้งอยู่ริมคลอง เช่น วัดบางประทุนใน ที่ลักษณะอุโบสถมหาอุดแบบที่นิยมในสมัยอยุธยา สุนทรภู่พรรณนาถึงคลองบางประทุนในนิราศเมืองเพชรว่า
บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิต | พอป้องปิดเป็นหลังคานิจจาเอ๋ย | |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย | พิงเขนยนอนอุ่นประทุนบัง |
ในช่วง พ.ศ. 2500 ในยุคที่ตลาดน้ำวัดไทรรุ่งเรือง คลองบางประทุนเป็นแหล่งผลิตงอบแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี ในยุคนั้นพื้นที่ตลอดแนวคลองบางประทุนชาวบ้านจะปลูกพืชหลัก เช่น กล้วย ลิ้นจี่ ส้ม มะพร้าวละมุด และส้มโอ[2] บางประทุนยังเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมขึ้นชื่อของไทยด้วย โดยมีแหล่งค้าส่งเป็นตลาดน้ำวัดไทร โดยเป็นศูนย์กลางจากผู้เดินทางมาจากภาษีเจริญ เชื่อมต่อไปกับจังหวัดสุพรรณบุรี มหาชัย แม่กลอง หรือราชบุรี
ภายหลังการตัดถนนพระรามที่ 2 ถนนเอกชัย และถนนกัลปพฤกษ์ ทำให้เส้นทางทางน้ำลดบทบาทลง ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในชุมชนจนพื้นที่ดินหลายแปลงต้องเปลี่ยนเจ้าของโฉนดกันบ่อยครั้ง ราคาที่ดินของบางประทุนในปัจจุบันมีมูลค่าแตะ 10 ล้านบาท และอาจยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีกหากมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ เหตุเพราะทำเลที่ดินอยู่ใกล้เมือง และสามารถออกต่างจังหวัดผ่านเส้นกาญจนาภิเษก[3]
การทำสวนในปัจจุบันของชุมชนย่านคลองบางประทุน ใช้วิธีการทำสวนดั้งเดิม คือ สวนขนัดล่างหรือขนัดใกล้บ้านจะปลูกพืชผักสวนครัวประเภท ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด โหระพา กะเพรา ชะพลู รวมทั้งผลไม้บางชนิดที่มีราคาแพง ลิ้นจี่ กระท้อน ชมพู่ ฯลฯ ส่วนขนัดที่อยู่เหนือขึ้นไปจะเป็นผลไม้ที่ปลูกเป็นจำนวนมาก หรือปลูกเต็มทั้งขนัด เช่น มะม่วง มะปราง สำหรับสวนขนัดใหญ่ นิยมปลูก กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งชาวสวนนิยมปลูกแซมสลับกับมะพร้าว[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ รสนา โตสิต. ""ชีวิต unseen ที่คลองบางประทุน เราจะพัฒนาเมืองไปแบบไหน!?" (ตอนที่1)". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ มิ่งขวัญ รัตนคช. "น้ำคือชีวิต". เดอะคลาวด์.
- ↑ อธิวัฒน์ อุต้น. "บางประทุน(นิยม) ในวันที่ชีวิตริมคลองต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง". theurbanis.
- ↑ นาวิน มีบรรจง. "บางประทุนสายน้ำและความร่มเย็น". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-30. สืบค้นเมื่อ 2021-12-30.