คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2539)
คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (อังกฤษ: The Hunchback of Notre Dame) เป็น ภาพยนตร์แอนิเมชัน สร้างสรรค์โดย วอลต์ดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอส์ และนำออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2539 โดย วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายอมตะของวิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) เรื่อง คนค่อมแห่งนอทร์-ดาม (Notre Dame de Paris) และมีแก่นเรื่องว่าด้วย ควอซีโมโด (Quasimodo) ชายพิการซึ่งเป็นคนตีระฆังวัดนอทร์-ดามในกรุงปารีส ผู้พยายามให้สังคมยอมรับตน
คนค่อมแห่งนอเทรอดาม | |
---|---|
กำกับ | • แกรี เทราส์เดล (Gary Trousdale) • เคิร์ก ไวส์ (Kirk Wise) |
เขียนบท | • แท็บ เมอร์ฟี (Tab Murphy) • ไอรีน เมคคี (Irene Mecchi) • บ็อบ ซูดีเกอร์ (Bob Tzudiker) • โนนี ไวต์ (Noni White) • จอห์นะเธิน รอเบิตส์ (Jonathan Roberts) |
สร้างจาก | คนค่อมแห่งนอทร์-ดาม (The Hunchback of Notre Dame) ของ วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) |
อำนวยการสร้าง | ดอน แฮห์น (Don Hahn) |
นักแสดงนำ | • ทอม ฮูลซ์ (Tom Hulce) • เดมี มัวร์ (Demi Moore) • Bill Fagerbakke (Bill Fagerbakke) • เควิน ไคฺลน์ (Kevin Kline) • พอล แคนเดิล (Paul Kandel) • เจสัน อเล็กแซนเดอร์ (Jason Alexander) • ชาลส์ คิมบรอฮ์ (Charles Kimbrough) • แมรี วิกเกส (Mary Wickes) • Rob Paulson (Rob Paulson) |
ผู้บรรยาย | Rob Paulson (Rob Paulson) |
ตัดต่อ | แอลเลิน เคเนเชีย (Ellen Keneshea) |
ดนตรีประกอบ | • อลัน เมนเคน (Alan Menken) • สตีเฟิน ชฺวอตซ์ (Stephen Schwartz) |
บริษัทผู้สร้าง | |
ผู้จัดจำหน่าย | วอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์ |
วันฉาย | 22 มิถุนายน 2540 |
ความยาว | 92 นาที |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | 101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ทำเงิน | 325.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] |
ภาพยนตร์เรื่องนี้ มี เคิร์ก ไวส์ (Kirk Wise) และ แกรี เทราส์เดล (Gary Trousdale) กำกับ และ ดอน แฮห์น (Don Hahn) ผลิต ทั้งสามคนนี้เคยร่วมกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) และ เดอะไลออนคิง (The Lion King) มาก่อน ส่วนดนตรีนั้น อลัน เมนเคน (Alan Menken) กับ สตีเฟิน ชฺวอตซ์ (Stephen Schwartz) เขียน และในภาคภาษาอังกฤษ ตัวละครเด่น ๆ นั้นให้เสียงโดย ทอม ฮูลซ์ (Tom Hulce), Bill Fagerbakke (Bill Fagerbakke), เดมี มัวร์ (Demi Moore) และ เคลวิน ไคฺลน์ (Kevin Kline)
สมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Motion Picture Association of America) จัดอันดับภาพยนตร์นี้ไว้ที่ G (general หรือ เหมาะสมสำหรับผู้ชมทั่วไป) และ คณะกรรมการจัดประเภทภาพยนตร์แห่งอังกฤษ (British Board of Film Classification) จัดที่ U (universal หรือ เหมาะสมสำหรับผู้ชมทั่วไป) อย่างไรก็ดี ถือกันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความรุนแรงมากที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ของดิสนีย์ พอ ๆ กับเรื่อง The Black Cauldron อันเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของดิสนีย์ที่ได้อันดับ PG (parents' guidance หรือ บิดามารดาควรแนะนำ)[3]
เนื้อเรื่อง
แก้คืนหนึ่ง ผู้พิพากษาคล็อด ฟร็อลโล (Judge Claude Frollo) พร้อมกองทหาร ได้ซุ่มจับพวกลักลอบเข้ากรุงปารีสอยู่ริมน้ำแซน ข้างวัดนอทร์-ดาม มีชาวยิปซีสี่คนล่องเรือเข้ามาลับ ๆ ผู้พิพากษาฟร็อลโลจึงเข้าแสดงตัวและจับกุม หญิงยิปซีคนหนึ่งถือห่อผ้าไว้และไม่ยอมให้ตรวจค้น ฟร็อลโลเข้าใจว่าเป็นของโจร และสั่งให้เจ้าพนักงานยึดมา นางขัดขืนแล้ววิ่งหนีและฟร็อลโลได้ขี่ม้าไล่ตามไปถึงหน้าวัดนอทร์-ดาม เขากระชากห่อผ้าจากนาง เป็นเหตุให้นางล้มลงศีรษะฟาดพื้นวัดถึงแก่ความตายทันที ผู้พิพากษาฟร็อลโลเปิดห่อผ้าดู พบว่าเป็นทารกพิกลพิการอัปลักษณ์สุดขีด เขาเข้าใจว่าเป็นบุตรปิศาจ และขณะที่เขาจะทิ้งทารกนั้นลงบ่อน้ำข้างวัด เจ้าอาวาสออกมาห้ามทัน และต่อว่าเขาอย่างรุนแรงว่ามาทำบาปหน้าวัด ผู้พิพากษาฟร็อลโลโต้ว่า เป็นการวิสามัญฆาตกรรมซึ่งเขาชอบจะทำได้ เพราะนางขัดขืน อย่างไรก็ดี ด้วยความเกรงกลัวต่อบาปที่เจ้าอาวาสประณามว่า "ไม่พ้นสายตาของนอทร์-ดาม" เขายอมรับเลี้ยงทารกนั้นไว้เสมอเป็นบุตรในอุทร แต่ขอให้ทารกนั้นอาศัยอยู่กับเจ้าอาวาสในวัด
ยี่สิบปีต่อมา ทารกนั้น ซึ่งผู้พิพากษาฟร็อลโลให้ชื่อว่า ควอซีโมโด (Quasimodo) เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มมีอัธยาศัยไมตรีงดงาม เขาอาศัยอยู่ในหอระฆังวัด และมีหน้าที่ตีระฆังให้วัด โดยผู้พิพากษาฟร็อลโลจะมาเยี่ยมเช้าสายบ่ายเย็น และถ่ายทอดศิลปวิทยาต่าง ๆ ให้ไม่ขาด แต่ผู้พิพากษาฟร็อลโลไม่ต้องการให้ควอซีโมโดออกนอกวัด เพราะเกรงว่าผู้คนจะแตกตื่นในความอัปลักษณ์ของเขา จึงพร่ำสอนเขาว่า โลกภายนอกโหดร้าย และจะคอยซ้ำเติม "อาชญากรรม" ที่ควอซีโมโดเกิดมามีรูปทราม วัดนี้เท่านั้นที่จะเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์คุ้มครองให้ควอซีโมโดปลอยภัยทั้งปวง เพราะตามกฎหมายแล้ว ทุกชีวิตในพัทธสีมาวัดจะได้รับการอภัยทาน
แม้ผู้พิพากษาฟร็อลโลจะสั่งสอนเช่นนั้น แต่ควอซีโมโดตัดสินใจไปพบเจอโลกภายนอก เขาปลอมตัวไปชมดูเทศกาลจำอวด (Festival of Fools) ที่มีขึ้นในจัตุรัส และมีผู้พิพากษาฟร็อลโลเป็นประธาน ในวันเดียวกันนั้น ผู้กองฟีบัส (Captain Phoebus) เข้ารายงานตัวต่อผู้พิพากษาฟร็อลโลพร้อมรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าองครักษ์คนใหม่ ในงานนั้น เอสเมอรัลดา (Esmeralda) นางระบำชาวยิปซีซึ่งลักลอบเข้าเมืองมาทำมาหากิน ได้ครองหัวใจคนทั้งเมือง ซึ่งรวมถึง ควอซีโมโด, ผู้กองฟีบัส และผู้พิพากษาฟร็อลโลด้วย ชาวปารีสพบและเลือกให้ควอซีโมโดเป็นราชาจำอวดคนใหม่ แต่เมื่อทราบว่าความน่าเกลียดของควอซีโมโดนั้นเป็นของจริง ต่างก็สะอิดสะเอียด และรุมรังแกควอซีโมโดอย่างสนุกสนาน ผู้พิพากษาฟร็อลโลซึ่งนั่งอยู่ในพลับพลาปฏิเสธจะช่วยเหลือ เพราะต้องการให้ควอซีโมโดเห็นว่าโลกภายนอกเลวร้ายจริงดังคำตน เอสเมอรัลดาเข้าหยุดการกลั่นแกล้ง และประณามผู้พิพากษาฟร็อลโลต่อธารกำนัลว่า เป็นผู้รักษาความยุติธรรม แต่กลับโหดร้ายต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้พิพากษาฟร็อลโลจึงสั่งให้จับกุมนาง ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แต่นางทำเทศกาลปั่นป่วน และหลบหนีไปได้
เอสเมอรัลดาเข้าไปอาศัยพัทธสีมาวัดนอทร์-ดาม และได้พบผู้กองฟีบัส ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน แต่ผู้พิพากษาฟร็อลโลเข้ามาขัดจังหวะ และสั่งให้ลากนางออกไปนอกพัทธสีมาวัด เพื่อจะได้จับกุมได้ เจ้าอาวาสเข้าขัดขวางทันเวลา ผู้พิพากษาฟร็อลโลจึงสั่งให้วางยามทุกประตูวัด ถ้านางโผล่ออกไปแม้ก้าวเดียวก็ให้จับกุมทันที เย็นนั้น เอสเมอรัลดาพบและได้เป็นมิตรกับควอซีโมโด เพื่อตอบแทนที่นางช่วยเขาในเทศกาล เขาจึงช่วยนางหลบหนีทหาร ก่อนจากกัน นางมอบแผนที่ไปสู่รังลับของชาวยิบซีในกรุงปารีส เรียก วังปาฏิหาริย์ (Court of Miracles) เผื่อเขาต้องการชีวิตที่ดีกว่า ควอซีโมโดซึ้งน้ำใจนางและหลงรักนาง
คืนนั้น ผู้พิพากษาฟร็อลโลพบว่า แม้เขามีอุดมการณ์กวาดล้างคนนอกกฎหมาย แต่กลับหลงใหลในเอสเมอรัลดาอย่างบ้าคลั่ง เขาภาวนาและระบายความในใจของเขาต่อพระแม่มารีย์ โดยไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดของเขา แต่โทษว่านางเอสเมอรัลดาเป็นแม่มดและทำคุณไสยใส่เขา เขาเชื่อว่าครั้งนี้เป็นการที่พระเจ้าทดสอบเขา และเขาพ่ายแพ้การทดสอบ ถึงแม้เขาเชื่อว่า การสมสู่กับแม่มดจะทำให้ตกนรกหมกไหม้ชั่วกัลป์ก็ตาม เขาตัดสินใจตามจับนางเพื่อให้ได้นางมาครอง แม้จะต้องเผากรุงปารีสทิ้งทั้งกรุงก็ตาม และถ้านางปฏิเสธ ก็จะประหารชีวิตนางเสียให้สาสม รุ่งขึ้น ผู้พิพากษาฟร็อลโลพร้อมกองทหารออกตามล่าเอสเมอรัลดาไปทั้งกรุงปารีส เขาสอบสวนชาวเมืองหลายคน แต่เมื่อพบว่าชาวเมืองไม่ให้ความร่วมมือ จึงเชือดไก่ให้ลิงดู ผู้กองฟีบัสทนดูอยู่นาน ที่สุดก็ตัดสินใจไม่ฟังคำสั่งผู้พิพากษาฟร็อลโลอีกต่อไป ผู้พิพากษาฟร็อลโลจึงสั่งให้จับกุมเขา เอสเมอรัลดาช่วยเขาหลบหนีได้ แต่เขาถูกยิงบาดเจ็บ นางพาเขาไปซ่อนที่หอระฆังพร้อมขอให้ควอซีโมโดช่วยเหลือ ขณะที่ทั้งคู่จุมพิตกันดูดดื่ม โดยมีควอซีโมโดจ้องมองดูอยู่ด้วยความเจ็บปวดใจ ผู้พิพากษาฟร็อลโลมาถึงวัดนอทร์-ดาม เพราะทราบว่าควอซีโมโดพานางออกจากวัด เขาให้อภัยควอซีโมโด และกล่าวว่า จะช่วยถอนมนตราที่แม่มดเอสเมอรัลดาสาปส่งมาให้ควอซีโมโด เพราะเขาทราบสถานที่ของวังปาฏิหาริย์แล้ว และรุ่งสางจะนำกำลังหนึ่งพันนายเข้าโจมตี
ควอซีโมโดและผู้กองฟีบัสจึงรุดไปวังปาฏิหาริย์เพื่อเตือนชาวยิปซี โดยอาศัยแผนที่ที่เอสเมอรัลดาทิ้งไว้ให้ ผู้พิพากษาฟร็อลโลพร้อมกองทัพแอบติดตามทั้งคู่ไป และบุกเข้าถึงวังปาฏิหาริย์ทันเวลาก่อนชาวยิปซีหลบหนี เขาจับกุมชาวยิปซีทั้งปวง และสั่งให้ขังควอซีโมโดไว้ที่หอระฆัง รุ่งขึ้น เขาพิพากษาประหารชีวิตเอสเมอรัลดา โทษฐานเป็นแม่มดหมอผี และขณะที่กำลังจะจุดไฟเผานางกลางใจเมือง เขากระซิบนางว่า เป็นโอกาสสุดท้ายที่นางจะได้เลือกระหว่างมีชีวิตอยู่ต่อไปในฐานะคนรักของเขา หรือจะยอมเป็นของพระเพลิง นางถ่มน้ำลายใส่ใบหน้าเขา เขาจึงจุดไฟประหารชีวิตนาง ควอซีโมโดฝ่าออกมาจากหอระฆังได้ และโหนสายระฆังลงมาเบื้องล่าง ชิงตัวนักโทษเอสเมอรัลดาเข้าไปในพัทธสีมาวัด แล้วร้องตะโกนว่า "เขตศักดิ์สิทธิ์" พร้อม ๆ กับเสียงโห่ร้องยินดีของชาวเมือง ผู้พิพากษาฟร็อลโลจึงสั่งทหารยึดวัดเอาไว้
ควอซีโมโดราดทองแดงต้มสุกลงมาท่วมท้องถนนเบื้องล่างเพื่อกันไม่ให้ใครเข้าสู่วัดได้ แต่ผู้พิพากษาฟร็อลโลสามารถตะลุยเข้าไปในวัดได้ เจ้าอาวาสออกมาห้ามเขาอีกครั้ง เขาจึงฉุดเจ้าอาวาสลงไปกองกับพื้น แล้วขึ้นสู่หอระฆัง ขณะที่เขาพยายามจะแทงควอซีโมโดจากข้างหลัง ควอซีโมโดสู้กลับ และโยนเขาล้มลง เอสเมอรัลดาฟื้นขึ้นพอดี ผู้พิพากษาฟร็อลโลจึงคว้าดาบเพื่อจะเข้าประหารนางเอง ควอซีโมโดอุ้มนางวิ่งออกไปหลบโดยห้อยโหนอยู่ใต้ระเบียง แต่ผู้พิพากษาฟร็อลโลเห็นเข้า และไล่ฟัน ในระหว่างการต่อสู้นั้น ผู้พิพากษาฟร็อลโลเปิดเผยเรื่องการตายของมารดาควอซีโมโด แล้วกระชากครุยผู้พิพากษาของตนไปคลุมควอซีโมโดและฉุดให้เขาตกระเบียง แต่ควอซีโมโดคว้าปลายครุยเอาไว้ ทำให้ผู้พิพากษาฟร็อลโลตกลงไปห้อยอยู่กับเขาด้วย ผู้พิพากษาฟร็อลโลเอี้ยวตัวไปเกาะรางน้ำรูปปนาลีไว้ได้ ส่วนควอซีโมโดนั้นมีเอสเมอรัลดาคว้ามือไว้ข้างเดียว ผู้พิพากษาฟร็อลโลไต่ขึ้นไปยืนเหนือรางน้ำได้ เขาคว้าดาบขึ้น และร้องว่า "และข้าจะฟาดฟันปิศาจร้าย แล้วโยนร่างมันลงไปในนรกโลกันตร์" ("and he shall smite the wicked and plunge them into the fiery pit.") แต่เขาลืมว่า รางน้ำนั้นเขาใช้ดาบฟันไปก่อนหน้านี้ เมื่อรับน้ำหนักตัวเขาอีก มันจึงปริแตกออก ผู้พิพากษาฟร็อลโลเสียการทรงตัวและหล่นลงห้อยอยู่กับรางน้ำ ในวินาทีสุดท้ายของชีวิตเขา ศีรษะปนาลีที่ยอดรางน้ำนั้นเกิดมีชีวิตขึ้น แล้วพ่นไฟคำราม เขาตกใจเป็นอันมาก และร่วงจากหอระฆังลงสู่ทะเลทองแดงต้มที่ควอซีโมโดเทราดลงมาบนพื้นเบื้องล่างก่อนหน้านี้ถึงแก่ความตาย เอสเมอรัลดานั้นยึดควอซีโมโดไว้ไม่อยู่ เขาจึงลื่นหลุดจากมือนาง แล้วร่วงลงเช่นกัน แต่ผู้กองฟีบัสซึ่งเข้าถึงวิหารสำเร็จจับเขาไว้ได้กลางอากาศพอดี ทั้งควอซีโมโด, เอสเมอรัลดา และผู้กองฟีบัสได้พบกันอีกครั้ง ควอซีโมโดอวยพรให้เอสเมอรัลดาและผู้กองฟีบัสผูกสัมพันธ์รักกันอย่างเป็นสุข
เช้าวันใหม่ ชาวปารีสเฉลิมฉลองชัยชนะ ควอซีโมโดก้าวออกจากวัดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ เขาได้รับการเชิดชูและต้อนรับอย่างเป็นสุข
อ้างอิง
แก้- ↑ Stewart, Jocelyn (2010-10-12). "John Alvin, 60; created movie posters for such films as 'Blazing Saddles' and 'E.T.'". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2010-10-12.
- ↑ 2.0 2.1 "The Hunchback of Notre Dame". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2032-11-07 ~ 계속만.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "I've Got a Hunch That This Is a New Disney Masterpiece". The Daily Mail. London, England. 1996-08-12. p. 44.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการ
- The Hunchback of Notre Dame ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- The Hunchback of Notre Dame ที่บิกการ์ตูนเดตาเบส
- The Hunchback of Notre Dame ที่ออลมูวี
- The Hunchback of Notre Dame ที่รอตเทนโทเมโทส์
- The Hunchback of Notre Dame: Comically Framing Virtue and Vice, chapter four in Mouse Morality: The Rhetoric of Disney Animated Film