คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (อักษรย่อ คปก.) คือ องค์กรอิสระตามเจตนารมณ์ มาตรา 81 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[1] ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยกฎหมายและการยุติธรรม ที่กำหนดให้ รัฐต้องจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย ที่ดำเนินการเป็นอิสระ ในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย

ในเวลาต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553[2] ขึ้น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 มีผลทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายขึ้นในประเทศไทย โดยองค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กฎหมายบัญญัติไว้

องค์กรปฏิรูปกฎหมาย จะมีรูปแบบเป็นคณะกรรมการ เรียกว่า "คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย" โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

  1. ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา)
  2. รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 1 คน (ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา)
  3. กรรมการปฏิรูปกฎหมาย 9 คน แยกเป็น
(1) กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา 4 คน
(2) กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา 5 คน

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นหน่วยงานด้านธุรการของคณะกรรมการ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของส่วนราชการ แต่อยู่ภายใต้กำกับและบังคับบัญชาของประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงาน เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานสำนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สิ้นสุดลงตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๑/๒๕๕๙ เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559[3]

อำนาจหน้าที่

แก้

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย ดังนี้

  1. สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยทางวิชาการ เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมาย
  2. ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
  3. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการการมีกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยพิจารณากฎหมายในภาพรวมเป็นเรื่องๆ
  4. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน
  5. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  6. ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินการในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจะกำหนด

ที่มาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

แก้

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะมีกระบวนการสรรหาจาก คณะกรรมการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการสรรหาจะมีองค์ประกอบเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ดังนี้

  1. กรรมการสรรหา ภาครัฐ ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
  2. กรรมการสรรหา ภาควิชาการ ได้แก่ ผู้แทนที่เป็นอาจารย์ประจำซึ่งสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ คัดเลือกกันเอง 2 คน และเอกชน คัดเลือกกันเอง 2 คน
  3. กรรมการสรรหา ภาคเอกชน ได้แก่ ผู้แทนองค์กรเอกชน ด้านแรงงาน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน

โดยเมื่อ คณะกรรมการสรรหา ได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานเป็นประจักษ์ อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกฎหมาย แล้วครบจำนวนและประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะมีการนำรายชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

รายนามคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

แก้

รายนามคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดแรก ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี และสามารถได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีก แต่ไม่เกิน 2 วาระติดกัน

  1. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
  2. นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
  3. นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
  4. นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
  5. นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
  6. ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทเต็มเวลา)
  7. ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
  8. นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
  9. ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
  10. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)
  11. รองศาสตราจารย์ วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ประเภทไม่เต็มเวลา)

คณะกรรมการชุดดังกล่าว หมดวาระลงในปี พ.ศ. 2558

อ้างอิง

แก้
  1. "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2020-03-24.
  2. พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553
  3. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗๑/๒๕๕๙ เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย