เซ็มเบกวาง

(เปลี่ยนทางจาก ข้าวเกรียบกวาง)

เซ็มเบกวาง, ข้าวเกรียบกวาง หรือ ชิกะเซ็มเบ (ญี่ปุ่น: 鹿せんべいโรมาจิShika-senbei) เป็นอาหารสัตว์ในรูปลักษณ์ของข้าวเกรียบเซ็มเบที่จำหน่ายตามร้านค้าในสวนสาธารณะนาระในเมืองนาระเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้สำหรับป้อนเป็นอาหารให้กวางนาระ (กวางซีกา) ที่อาศัยอยู่โดยรอบสวนสาธารณะนาระ

เซ็มเบกวางและกวาง

ภาพรวม

แก้
 
ลูกค้าร้านน้ำชาให้อาหารกวาง (ยามาโตะ เมโชะ ซูเอะ, ค.ศ. 1791)
 
เซ็มเบกวางผูกด้วยแถบกระดาษสีขาวไขว้เป็นรูปกากบาทพร้อมตรารับรอง

เซ็มเบกวางมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน กล่าวกันว่ามีจำหน่ายตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1670 ในช่วงต้นยุคเอโดะ[1][2] ในหนังสือภาพยามาโตะ เมโชะ ซูเอะ (大和名所図会; แปลว่า "รวมภาพสถานที่ที่มีชื่อเสียงของยามาโตะ") ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1791 ในภาพร้านน้ำชาที่คาซูงะ (春日) แสดงภาพที่ลูกค้าร้านน้ำชากำลังให้อาหารกวาง (ซึ่งมีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบเซ็มเบ)[3]

ชื่อ "ชิกะเซ็มเบ" (เซ็มเบกวาง) ในปัจจุบันเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของมูลนิธิอนุรักษ์กวางนาระ (奈良の鹿愛護会)[4][5] โดยมูลนิธิจำหน่ายเฉพาะเซ็มเบกวางที่มีตรารับรองเท่านั้น การผลิตและจำหน่ายเซ็มเบกวางดำเนินการโดยบริษัทที่แยกต่างหาก การติดตรารับรองให้กับเซ็มเบกวางเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1913 ในสมัยของมูลนิธิอนุรักษ์กวางชินโรกุ[a] (神鹿保護会) ซึ่งเป็นมูลนิธิรุ่นแรกของมูลนิธิอนุรักษ์กวางนาระ เพื่อหารายได้ให้กับมูลนิธิ ในเวลานั้นจังหวัดนาระออกคำสั่งห้ามจำหน่ายเซ็มเบกวางที่ไม่มีตรารับรอง[6] เซ็มเบกวางอย่างเป็นทางการเป็นเซ็มเบหลายแผ่นที่มัดรวมกันด้วยแถบกระดาษที่มีตรารับรองเป็นสัญลักษณ์รูปกวาง แต่ก็มีบางแห่งที่จำหน่ายเซ็มเบกวางอย่างไม่เป็นทางการที่มัดรวมด้วยกระดาษธรรมดา แถบกระดาษที่มีตรารับรองทำจากเยื่อกระดาษ 100% พิมพ์ด้วยหมึกถั่วเหลือง และติดด้วยกาวที่กินได้[7] ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับกวางหากถูกกินเข้าไปด้วย การขายตรารับรองสร้างรายได้ประมาณ 30 ล้านเยนต่อปีซึ่งนำไปใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิอนุรักษ์กวางนาระ และยังใช้ในการจัดการอุปกรณ์ช่วยเหลือกวางที่ได้รับบาดเจ็บและช่วยในการทำคลอดให้กวาง[8]

เซ็มเบกวางมีราคา 100 เยนจนถึงปี ค.ศ. 1991 มีราคา 150 เยนจนถึงปี ค.ศ. 2019 และมีราคา 200 เยนตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 เป็นต้นไป แม้ว่าราคาของเซ็มเบกวางไม่เพิ่มขึ้นหลังการขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนเมษายน ค.ศ. 2014 แต่ผู้ผลิตเซ็มเบกวางบางรายก็ทำให้เซ็มเบกวางมีขนาดเล็กลงหรือบางลงก่อนมีการขึ้นภาษี[5]

คำภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเซ็มเบกวางมีการสะกดที่แตกต่างกันไปขึ้นกับร้านค้า เช่นเรียกว่า "Deer Snack" (แปลว่า "ขนมกวาง")

ส่วนผสมและรสชาติ

แก้

ส่วนผสมที่ใช้ทำเซ็มเบกวางมีเพียงรำข้าวและแป้งสาลี โดยใช้รำข้าวใหม่ที่ไม่มีน้ำมันเพื่อป้องกันไม่ให้ไหม้[9] ส่วนผสมเหล่านี้ทำให้เซ็มเบกวางไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หากรับประทานเข้าไป แต่เนื่องจากเป็นอาหารสำหรับกวาง จึงไม่มีการแต่งรสและไม่ใส่วัตถุกันเสียหรือวัตถุเจือปนอาหารอื่น ๆ และยังก็ไม่มีการกำหนดอายุการเก็บรักษา ดังนั้นจึงปลอดภัยมากกว่าหากมนุษย์ไม่กินเซ็มเบกวางเข้าไป อย่างไรก็ตาม รสชาติของเซ็มเบกวางเมื่อมนุษย์กินเข้าไปนั้น กล่าวกันว่าเซ็มเบที่เพิ่งอบใหม่จากโรงงานนั้นมีกลิ่นหอมและมีรสหวานอร่อย แต่ไม่มีรสชาติอื่นนอกเหนือจากนั้นและกลืนได้ยาก[9][10] และยังกล่าวกันว่ามีเศษรำข้าวตกค้างในช่องปากทำให้เกิดรสชาติไม่ดีติดอยู่ในปากและคอ[2]

กวางในสวนสาธารณะนาระเป็นสัตว์ป่าและไม่ได้เพาะพันธุ์ให้เหมาะกับการกินเซ็มเบกวาง อาหารหลักของกวางเหล่านี้คือหญ้าและพืชอื่น ๆ[10][11] สัตวแพทย์ของมูลนิธิอนุรักษ์กวางนาระระบุว่ากวางกินหญ้าประมาณ 5 กิโลกรัมต่อวัน และแม้ว่าเซ็มเบกวางจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เซ็มเบกวางที่มีน้ำหนักเพียงชิ้นละ 3-4 กรัมก็เหมือนเป็นเพียง "ของว่าง" ของพวกมันเท่านั้น แม้กินไปหลายสิบชิ้นก็ตาม[8]

ความเชื่อที่ว่า "กวางไม่โจมตีร้านเซ็มเบกวาง"

แก้
 
กวางนาระไม่กินเซ็มเบกวางที่วางอยู่ที่ร้านจริงหรือ?

มูลนิธิอนุรักษ์กวางนาระแสดงความเห็นโต้แย้งข่าวลือที่ว่า "กวางนาระไม่โจมตีร้านเซ็มเบกวาง"[8] ตามคำให้การของมูลนิธิอนุรักษ์กวางนาระและพนักงานขายเซ็มเบกวาง ในความเป็นจริงแล้ว ในวันที่มีนักท่องเที่ยวน้อย กวางจะหาโอกาสที่จะขโมยเซ็มเบกวางจากร้าน โดยเฉพาะพนักงานขายที่ไม่มีประสบการณ์จะตกเป็นเป้าหมายได้ง่าย ในทางกลับกันในวันที่นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แม้จะให้เซ็มเบกวางในช่วงบ่ายแต่กวางก็ไม่กิน พนักงานขายจะ "สอน" กวางไม่ให้กินเซ็มเบกวางจากร้านโดยตรงด้วยการปรบมือและการ "บอกด้วยปากให้ฟัง" กล่าวกันว่ามีพนักงานขายบางคนแจกเซ็มเบกวางที่แตกหักและไม่สามารถขายได้ให้กับกวาง ไม่ว่าในกรณีใด กวางซึ่งเป็นสัตว์ป่าสามารถโจมตีร้านขายเซ็มเบกวางได้ และความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนเป็นภาวะพึ่งพากันนั้นเป็นผลมาจากความพยายามของพนักงานขายในการทำความเข้าใจกับกวางว่าจะสามารถรับเซ็มเบกวางอย่างสันติได้อย่างไร

กิจกรรม

แก้

การแข่งขันขว้างเซ็มเบกวางจัดขึ้นทุกปีที่ภูเขาวากากูซะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเขาวากากูซะแห่งนาระ (奈良若草山観光振興会) การแข่งขันนี้จัดขึ้นในชื่อ "การแข่งขันฉลองการเปิดฤดูกาลปีนเขา" (山開き記念大会) หรือ "การแข่งขันช่วงหยุดฤดูใบไม้ผลิ" (春休み大会) ในช่วงวันเปิดฤดูกาลปีนเขาที่ภูเขาวากากูซะ (วันวสันตวิษุวัต) และยังมีการจัดการแข่งขันครั้งอื่น ๆ ในชื่อ "การแข่งขันช่วงสัปดาห์ทอง" (ゴールデンウィーク大会) และ "การแข่งขันช่วงหยุดฤดูร้อน" (夏休み大会) ค่าเข้าร่วมการแข่งขันคนละ 300 เยน การแข่งขันจะใช้เซ็มเบกวางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตรในการแข่งขัน สถานที่จัดการแข่งขันไม่มีการกั้นบริเวณไว้ และกลิ่นของเซ็มเบกวางก็ดึงดูดกวางมากกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้จึงมีกติกาอย่าง "ถ้ากวางกินเซ็มเบกวางที่ถูกขว้าง ให้บันทึกระยะทางถึงขาหน้าข้างขวาของกวางตัวที่กินเซ็มเบกวางชิ้นนั้น" และ "ปล่อยให้เซ็มเบกวางที่วัดระยะทางแล้วไว้ที่เดิมเพื่อให้กวางได้กิน"[12]

ระยะทางที่เซ็มเบร่อนไปได้นั้นไม่เพียงขึ้นกับวิธีขว้างเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับทิศทางลมและความเร็วลมในวันนั้น ๆ ด้วย ผู้เข้าร่วมแข่งขันที่ขว้างเซ็มเบกวางได้ระยะเกินเส้น 20 เมตรจะได้รับของขวัญที่ระลึก มีการช่วงชิงตำแหน่งอันดับสูงสุดในช่วงระยะประมาณ 40 เมตรขึ้นไป โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลรูปเขากวาง ในการแข่งขันแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 ถึง 700 คน และบางคนเคยชนะเลิศถึง 5 ครั้ง[13]

เว็บไซต์ทางการของการแข่งขันขว้างเซ็มเบกวางระบุว่าสถิติการขว้างเซ็มเบกวางระยะไกลที่สุดตลอดกาลคือ 74.55 เมตรจากการแข่งขันพิเศษในช่วงหยุดฤดูร้อนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2024)[14]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. กวางในบริเวณสวนสาธารณะนาระได้รับการคุ้มครองเสมือนเป็นกวางศักดิ์สิทธิ์หรือชินโรกุ (神鹿) ซึ่งเป็นผู้ส่งสารของศาลเจ้าคาซูงะ

อ้างอิง

แก้
  1. 企画展示「奈良のシカ」(地域システム科学講座)[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 もがみ (2005-11-18). "鹿せんべいって人も食べられる?". エキサイト. สืบค้นเมื่อ 2015-07-02.
  3. 大日本名所図会刊行会 (1919), 大日本名所図会. 第1輯 第3編, 大日本名所図会刊行会, p. 42
  4. 登録番号第2386385号。
  5. 5.0 5.1 浜田知宏 (2014-04-12). "奈良の鹿せんべい小さく薄く 消費増税でシカたなく?". 朝日新聞. สืบค้นเมื่อ 2014-05-14.
  6. 奈良県史編集委員会編集『奈良県史 第二巻 動物・植物』名著出版、1990年平成2年)、18ページ。
  7. "奈良に住んでいるのですから~・・・おさえておきたい鹿さんのこと | 奈良ですョ! 鹿さん特集| まいぷれ[奈良]". まいぷれ「奈良」 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-04-24.
  8. 8.0 8.1 8.2 桑島浩任 (2015-06-28). "ならズーム「奈良のシカはせんべい販売所襲わない」デマの陰に"見えない努力"". 産経新聞 奈良県版. 産業経済新聞社. 26面.桑島浩任 (2015-06-28). "奈良のシカはせんべい販売所襲わない」はデマ…日々展開される人とシカの"見えない戦い"". The Sankei Shimbun & SANKEI DIGITAL. สืบค้นเมื่อ 2016-03-12.
  9. 9.0 9.1 永野春樹 (2010), 奈良の鹿「鹿の国」の初めての本, あおによし文庫 (初版第1刷 ed.), 京阪奈情報教育出版株式会社, ISBN 978-4-87806-502-6
  10. 10.0 10.1 """神の使い"「奈良のシカ」捕殺に賛否…増えすぎて獣害、人との共生の境界は". 産経新聞. 2017-11-15. สืบค้นเมื่อ 2018-04-04.
  11. 一般財団法人奈良の鹿愛護会. "「奈良のシカ」について". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-15. สืบค้นเมื่อ 2018-04-04.
  12. 鹿せんべいとばし大会・ルール(2024年7月15日閲覧)
  13. 清水宗和:鹿せんべい しかと投げよ◇四半世紀紀続く「とばし大会」ほのぼのルール、勝負白熱日本経済新聞』朝刊2018年(平成30年)3月14日(文化面)
  14. 鹿せんべいとばし大会・歴代の記録(2024年7月15日閲覧)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้