กำสรวลสมุทร

(เปลี่ยนทางจาก กำสรวลศรีปราชญ์)

กำสรวลสมุทร มีชื่ออื่นอย่าง กำสรวลโคลงดั้น กำสรวลศรีปราชญ์ หรือ โคลงกำสรวล เป็นงานประพันธ์ประเภทนิราศสมัยอยุธยาตอนต้น พ. ณ ประมวญมารค ได้รวบรวมเป็นเล่ม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2502[1] กำสรวลสมุทรเป็นนิราศที่มีอิทธิพลต่อนิราศยุคหลัง ๆ เช่น นิราศนรินทร์ นิราศพระยาตรัง โดยเฉพาะสำนวนโวหารและความเปรียบ เนื้อความของกำสรวลสมุทร เริ่มด้วยร่ายดั้นบทหนึ่งและโคลงดั้นชมพระนครอยุธยาจากนั้นกล่าวแสดงอาลัยถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ นางผู้เป็นที่รัก แล้วจึงจบลงด้วยกล่าวถึงการเดินทางซึ่งมีผู้มาส่งมากมาย[2]

กำสรวลสมุทร
ชื่ออื่นกำสรวลโคลงดั้น, กำสรวลศรีปราชญ์, โคลงกำสรวล
กวีสมเด็จพระไชยราชาธิราช
ประเภทนิราศ
คำประพันธ์ร่ายแบบโบราณ 1 บท แล้วตามด้วยโครงดั้นราว 129 บท
ยุคสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถึงสมเด็จพระไชยราชาธิราช
ปีที่แต่งพ.ศ. 2025–2034 อาจแต่งเมื่อ พ.ศ. 2031
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

ต้นฉบับและผู้แต่ง แก้

ต้นฉบับเดิมเป็นตัวเขียนบนสมุดไทยที่คัดลอกกันต่อ ๆ กันมา เริ่มด้วยร่ายแบบโบราณ 1 บท แล้วตามด้วยโคลงดั้นราว 129 บท แต่การคัดลอกที่ทำกันต่อ ๆ กันมา ต้นฉบับที่หอสมุดแห่งชาติมีอยู่ 6 ฉบับ ทุกฉบับมีความแตกต่างกันทั้งอักษรและความ มีฉบับหนึ่งได้มีผู้เขียนบนโคลงบานแผนก จารึกหน้าโคลง ซึ่งแต่งเพิ่มโดยผู้คัดลอกโดยยุคต้นกรุงเทพ มีคำว่า กำสรวลศรีปราชญ์ จึงเป็นเหตุให้นักวิชาการในสมัยหลังเรียกชื่อวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" และเชื่อว่าศรีปราชญ์เป็นผู้ประพันธ์[3] พ. ณ ประมวญมารคเรียกชื่อวรรณดคีเล่มนี้ว่า กำสรวลสมุทร (ตามชื่อในจินดามณี) โดยตรวจสอบพบว่าผู้แต่งคือ พระบรมราชาที่ 3 พระโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ทรงประพันธ์ถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สตรีสูงศักดิ์แห่งอาณาจักรสุโขทัย ในคราวที่ต้องจากกัน เพราะท้าวศรีจุฬาลักษณ์ต้องตามเสด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไปพิษณุโลก เมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย ส่วนพระบรมราชาต้องทรงรั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่อาจติดตามขึ้นไปด้วย

กำสรวลสมุทรน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2077–2089) เนื่องจากเนื้อหาได้กล่าวถึงการล่องแม่น้ำเจ้าพระยาใช้เส้นทางอ้อมตามแม่น้ำเดิมที่เวลานี้เป็นคลองบางกอกน้อย ซึ่งจะขุดลัดในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช[4] พ. ณ ประมวญมารค สันนิษฐานว่าแต่งระหว่าง พ.ศ. 2025–2034 อาจแต่งเมื่อ พ.ศ. 2031 หากเปรียบเทียบเวลากับพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ พ.ศ. 2031 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จไปเอาเมืองทวาย ขณะที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคตที่พิษณุโลก และ พ.ศ. 2034 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จสวรรคต[5]

เนื้อหาโดยย่อและเส้นทางการเดินทาง แก้

 
โคลงบานแผนกกำสรวลสมุทร

เริ่มด้วยร่ายสดุดีกรุงศรีอยุธยา ต่อจากนั้นกล่าวถึงการที่ต้องจากนาง แสดงความห่วงใย รำพันเปรียบเทียบชื่อตำบลเข้ากับความอาลัยที่มีต่อนาง ตำบลที่ผ่าน เช่น บางกะจะ เกาะเรียน ด่านขนอน บางทรนาง บางขดาน ย่านขวาง ราชคราม ทุ่งพญาเมือง ละเท เชิงราก เข้ากรุงเทพ ผ่านบางเขน (คลองบางเขน) บางกรูด บางพลู ฉมังราย ผ่านโค้งเกือกม้าของแม่น้ำสายเดิม ได้พรรณนาถึงบางระมาด บางเชือกหนัง บางจาก บางนางนอง[6] ก่อนนั่งเรือเลี้ยวขวาไปทางคลองด่าน (ตรงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) ผ่านคุ้งบางกะเจ้าเอ่ยถึงบางผึ้ง ออกอ่าวไทย มุ่งเกาะสีชัง เกาะไผ่ จากนั้นตัดข้ามอ่าวไทย ไปบางค่อม บางนายหญี่ สวาโถกน ขทิงทอง บางสบู บางคล ขนบ

นอกจากนี้ได้นำบุคคลในวรรณคดีมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตของตน โดยกล่าวถึง พระรามกับนางสีดา พระสูตรธนู (สุธนู) กับนางจิราประภา และพระสมุทรโฆษกกับนางพิษทุมดีว่าต่างได้อยู่ร่วมกันอีก ภายหลังที่ต้องจากกันชั่วเวลาหนึ่ง การพรรณนาสถานที่สิ้นสุดลงโดยที่ไม่ถึงนครศรีธรรมราช

อ้างอิง แก้

  1. "ศรีปราชญ์ไม่มีจริง แต่เป็นนิทานคู่กับศรีธนญชัย". มติชน.
  2. "กำสรวลสมุทร". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  3. "กำสรวลสมุทร เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา" (PDF).
  4. "ตกลงว่า "มีจริง" หรือเพียง "จินตนาการ" !!! นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์...ชี้ชัด "ศรีปราชญ์" มหากวีเอกผู้โด่งดัง "ไม่มีตัวตนจริง" !!!". ทีนิวส์.
  5. "กำสรวลสมุทรเป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา หรือ กำสรวลศรีปราชญ์" (PDF). ศิลปวัฒนธรรม.
  6. "กว่า 500 ปีก่อน ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหนบ้าง ?". ศิลปวัฒนธรรม.