บางกะเจ้า

พื้นที่สีเขียวใกล้กรุงเทพมหานคร ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

บางกะเจ้า หรือที่เรียกกันว่า กระเพาะหมู เป็นเกาะเทียมที่เกิดจากคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีคลองลัดโพธิ์เชื่อมแม่น้ำทางทิศตะวันตก บางกะเจ้าตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกาะนี้ครอบคลุมพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร (6.2 ตารางไมล์) ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประชากรอาศัยไม่หนาแน่น[1] ในบางครั้งได้รับการขนานนามว่า "ปอดสีเขียว" ของกรุงเทพ[2] ปี พ.ศ. 2549 นิตยสาร ไทม์เอเชีย ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้าเป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย (best urban oasis)[3] ผู้คนที่มาบางกะเจ้ามักมาสัมผัสธรรมชาติและปั่นจักรยานชมวิว[4] และมีการเปิดตลาดบางน้ำผึ้งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และยังเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 200 กว่าไร่ และพิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย[5]

ภาพบางกะเจ้าจากดาวเทียมแลนด์แซต 8

บางกะเจ้าประกอบด้วย 6 ตำบล คือ ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางยอ ตำบลบางกะเจ้า และตำบลบางกอบัว

ที่มาของชื่อ แก้

คำว่า กะเจ้า มีความหมายว่า นกยาง หรือ นกกระยาง น่าจะมาจากเมื่อก่อนมีนกกระยางอาศัยอยู่บริเวณนี้จำนวนมาก บางกะเจ้ายังมีอากาศร่มเย็นเป็นธรรมชาติ เหมาะสำหรับตั้งบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย ฝั่งตรงข้ามของบางกะเจ้าคือช่องนนทรีและพระโขนง ในอดีตมีเหล่าขุนนางอาศัยอยู่จำนวนมาก หญิงสมัยก่อนนิยมไว้ผมสูงรัดเกล้า ได้มีการอพยพหนีมายังบางกะเจ้าด้วยเหตุผลไม่แน่ชัด ผ่านทางคลองสายหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียก ช่องนางหนี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ช่องนนทรี[6] ส่วนพื้นที่ริมคลองที่ได้อพยพมา เรียกชนกลุ่มนี้ว่า "บางบ้านเจ้า" หรือ "คลองรัดเกล้า" เมื่อเวลาเปลี่ยนไปเรียก "บางรัดเกล้า" หรือ "บางบ้านเจ้า" จึงเปลี่ยนเป็น "บางกะเจ้า"[7]

ส่วนอีกความหมายหนึ่ง มาจาก ปอกระเจา คือ ต้นกระเจา ที่ชาวบ้านใช้ปอกระเจาทำเชือก สันนิษฐานได้จากชื่อวัดบางกระสอบที่ตั้งอยู่ในบางกะเจ้า[8]

ประวัติ แก้

 
แผนที่โดย Meyers Konversationslexikon ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เห็นเมืองปากลัดตั้งอยู่หน้าคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งบางกะเจ้า
 
คลองลัดโพธิ์ที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคอคอด

ราวปี พ.ศ. 1400 มีการตั้งเมืองพระประแดงบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านให้กับอาณาจักรละโว้[9] มีการเอ่ยถึงบางผึ้งในกำสรวลสมุทรในบทที่ 71 ซึ่งเป็นวรรณคดีอยุธยายุคต้น โดยกล่าวถึงบริเวณวัดบางผึ้งเหนือ คลองลัดโพธิ์[10] พบหลักฐานว่ามีการสร้างวัดกองแก้ว โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2243 ปัจจุบันโบราณสถานภายในวัดที่คงอยู่เช่น พระอุโบสถหลังเก่า รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หลังคาไม่มีการลดหลั่น[11] ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรดให้พระยาราชสงคราม (ปาน) เป็นแม่กองขุดคลองลัดโพธิ์ เพื่อเป็นทางลัดออกไปทางปากอ่าวไทย ในพระราชวโรกาสที่ต้องการทรงเบ็ด (ตกปลา) อันเป็นกีฬาที่ทรงโปรดปราน[12] เดิมคลองนี้มีความยาว 25 เส้น (1,000 เมตร)

จนเมื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาตั้ง ณ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาปี พ.ศ. 2329 องเชียงสือซึ่งเป็นหลานของกษัตริย์ญวน ที่ได้หนีภัยการเมืองเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 เห็นว่าหมดภัยทางบ้านเกิดเมืองนอน แต่จะทูลลากลับก็เกรงพระทัย จึงหนีลงเรือหนีไปทางปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงทราบ ทรงยกกองเรือตามไปแต่ไม่ทันกัน ทรงกริ้วมาก ทรงเห็นว่า องเชียงสือรู้ความตื้นลึกหนาบางของไทยเป็นอย่างดี จึงโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ลงสำรวจพื้นที่สร้างเมืองใหม่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าบริเวณ "ลัดโพธิ์" มีชัยภูมิที่ดี จากนั้นได้สร้างป้อมค่ายหนึ่งป้อมชื่อ "ป้อมวิทยาคม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับสั่งให้สร้างเมืองบริเวณปากลัด แต่ยังไม่สำเร็จเพราะเกิดศึกกับพม่าก่อน[13] แต่มีการถมคลองลัดโพธิ์ให้แคบเพื่อป้องกันการโจมตีจากทะเล อีกทั้งอาจทำให้น้ำเค็มจากปากน้ำไหลมาถึงกรุงเทพได้เร็วขึ้น[14]

รัชกาลต่อมา พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ตั้งเมืองใหม่ชื่อ "เมืองนครเขื่อนขันธ์" โปรดให้เกณฑ์ชาวมอญจากเมืองปทุมธานี 300 คน ย้ายครัวมอญมาอยู่ที่เมืองนี้ ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนี้ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดฯ ให้ขุดคลองลัดใหม่คือคลองลัดหลวง[15] เริ่มอพยพเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2357 ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นชุมชนชาวมอญเก่า ยังคงรักษาประเพณีงานเทศกาลที่สำคัญไว้อยู่ เช่นประเพณีสงกรานต์ การเล่นสะบ้า การบวชพระของชาวรามัญ การแห่หงส์ธงตะขาบ เป็นต้น[16] การตั้งถิ่นฐานที่บางกะเจ้า คาดว่าเริ่มจากบริเวณตำบลทรงคนอง แล้วขยายตัวไปเรื่อย ๆ ตามถนนเพชรหึงษ์ อีกส่วนหนึ่งคาดว่าเริ่มบริเวณบางน้ำผึ้งในปัจจุบัน[17]

ภูมิประเทศและระบบนิเวศ แก้

 
ป่าชายเลนในบางกะเจ้า

โค้งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบางกะเจ้าซึ่งมีความยาวราว 20 กิโลเมตร ช่วยชะลอน้ำเค็มและเป็นที่พักตะกอนต่าง ๆ จากสภาพพื้นดิน ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้บริเวณบางกะเจ้ามีความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีน้ำขังในพื้นที่อยู่ประมาณ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเป็นแหล่งพักน้ำไม่ให้ไหลเข้ามาในเขตชุมชนของกรุงเทพ[18]

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่วมถึง ที่มีระดับความสูงพื้นเฉลี่ย 50-60 เซนติเมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพดินเป็นดินเหนียวตะกอนสะสม มีความเค็มเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลของน้ำทะเล[9] สภาพน้ำล้อมรอบบางกะเจ้า มีทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย เป็นระบบนิเวศที่มีความผสมผสาน ปากคลองได้รับอิทธิพลจากน้ำกร่อยช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลงเป็นถิ่นกระจายของป่าชายเลน ส่วนที่ราบต่ำริมน้ำหรือพื้นที่ตอนในที่มีน้ำแช่ขังในช่วงฤดูฝนและแห้งในช่วงฤดูแล้ง แต่เดิมเป็นป่าบึงน้ำจืด จนเปลี่ยนมาเป็นนสวนผลไม้ที่ขุดร่องไว้ช่วยระบายน้ำ และตามที่ดอนสูงกลางคุ้งเคยถูกปกคลุมด้วยป่าดิบลุ่มต่ำซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนและที่อยู่อาศัย[19]

บางกะเจ้ามีพืชพื้นเมือง 35 วงศ์ 72 สกุล 81 ชนิด[20] ปลูกผลไม้ท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักอย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าว ส้มเทพรส ละมุดสีดา รวมถึงลูกหม่อน ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น[21] และพบสิ่งมีชีวิต 637 ชนิด บางสายพันธุ์เป็นพันธุ์หายาก กุ้งเต้นสีชมพู สกุล Allochestes พบเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหิ่งห้อยในกลุ่มน้ำกร่อย กลุ่มน้ำจืด และกลุ่มบนบก บางชนิดหายากในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล[22] บริเวณสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ยังเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ ที่พบทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพตามฤดูกาล

จากข้อมูลปี พ.ศ. 2554 ระบุบางกะเจ้าช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ยปีละ 6,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตออกซิเจนได้ 6 ล้านตันต่อวัน[22]

ผังเมืองและการอนุรักษ์ แก้

 
สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2520 มีมติ [23]

1. เห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอให้ เนื้อที่ 9,000 ไร่เศษทั้ง 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยในเบื้องต้นให้สำนักผังเมืองจัดทำแผนแม่บทการใช้ที่ดินให้เป็น 2 โซนหลักคือ 1.1 .พื้นที่โซนสีเขียวทึบ (ชนบทและเกษตรกรรม) และ 1.2 พื้นที่โซนขาวทแยงเขียว (อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) ที่จะได้รับการปกป้องมากที่สุด

2. “จัดคืนที่ดินบางกระเจ้า” ซึ่งหมายถึงจำเป็นต้องยกเลิกแผนสร้างสะพานข้ามหรืออุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาจากท่าเรือ คลองเตยไปบรรจบถนนสุขสวัสดิ์ที่ต่อกับสายธนบุรี-ปากท่อผ่านพื้นที่บางกระเจ้า รวมทั้งแผนสร้างอาคารสงเคราะห์ในพื้นที่ทั้ง 9,000 ไร่ ตามข้อเสนอแนะของคณะวิจัยในนามของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อมิให้พื้นที่ทั้ง 9,000 ไร่ได้รับผลกระทบจนกลายเป็นย่านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย หรืออุตสาหกรรม ตามหลักการ และ

3. แต่งตั้งกรรมการบริหารและพัฒนาสิ่งแวดล้อมของที่ดินเป็นผู้ดูแล และดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย

หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนผังเมืองหลายครั้ง โดยทุกครั้งเป็นการเปิดให้มีการพัฒนาอาคารสิ่งก่อสร้างมากขึ้น อย่างฉบับปี 2548 พื้นที่ขาวทะแยงเขียวที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารก็ปรับเปลี่ยนให้สามารถสร้างบ้านเดี่ยวขนาดไม่เกิน 200 ตร.ม.ได้แต่ต้องไม่กินที่เกิน 5% ในแต่ละบริเวณที่กำหนดไว้ในผังเมือง พอฉบับปี 2556 ปรับให้สร้างได้ไม่เกิน 15% ในแต่ละบริเวณ ส่วนพื้นที่เขียวทึบนั้น ในปี 2548 ให้ก่อสร้างได้ 10% ในแต่ละบริเวณ แต่ไม่ให้นำที่ดินไปจัดสรร ต่อมาในปี 2556 ปรับใหม่ให้นำไปจัดสรรสร้างบ้านเดี่ยวได้[24] จากข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2556 เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาแล้ว ร้อยละ 41.79 พื้นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 39.11 พื้นที่อุตสาหกรรม ร้อยละ 2.68 และพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 58.21 ประกอบด้วยพื้นที่การเกษตร ร้อยละ 28.36 พื้นที่รกร้าง 20.10 พื้นที่เปิดโล่ง ร้อยละ 3.31 ป่าชายเลน ร้อยละ 2.61 พื้นที่นันทนาการ ร้อยละ 1.92 พื้นที่แหล่งน้ำ ร้อยละ 1.91[9]

ช่วงปี 2525 ถึง 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านบางกะเจ้าเป็นประจำ จึงทรงมีพระราชดำริว่า สมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามา ไล่อากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน[25] ดังนั้นรัฐบาลจึงประกาศให้พื้นที่แห่งนี้ อยู่ภายใต้โครงการ "สวนกลางมหานคร" กำหนดพื้นที่เวนคืนในพื้นที่บางกะเจ้า แต่ไม่เป็นผล จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการซื้อขายตามความสมัครใจแทน[26] ปี 2539 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้บางกะเจ้าถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครที่ได้รับการอนุรักษ์พื้นที่ไว้[27] ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดซื้อที่ดิน 564 แปลง เนื้อที่ 1,276 ไร่ ก่อสร้างสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ เนื้อที่ 148 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานชื่อสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ ว่า "ศรีนครเขื่อนขันธ์"[28] ปี 2562 มีการประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางกอบัว ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางยอ ตำบลบางกระสอบ และตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ห้ามก่อสร้างและดัดแปลงอาคารเป็น โรงงาน โรงแรม อาคารชุด ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา อาคารทุกประเภทในที่ดินอาคารทุกประเภทในที่ดินของรัฐที่ได้จัดซื้อตามโครงการสวนกลางมหานคร เว้นแต่ อาคารที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือการปรับปรุงหรือก่อสร้างทดแทนอาคารหน่วยงานของรัฐในพื้นที่เดิม และยังกำหนดทางด้านการปิดกั้นคูคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะ การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ การทำผนังคอนกรีตริมฝั่งคูคลอง[29]

อีกปัญหาหนึ่งของบางกะเจ้าคือ การกัดเซาะชายฝั่ง สาเหตุมาจากคลื่นจากการเดินเรือ และจอดเรือใหญ่ กรมเจ้าท่าคุมเรื่องการเดินเรือ จอดเรือ รวมถึงควบคุมความเร็วของเรือ และปลูกพืชกันการกัดเซาะด้วย ซึ่งพบว่าต้นไม้อย่างลำพู รากของลำพูจะช่วยดักตะกอนโคลนที่ฟุ้งกระจายให้ตกตะกอน และช่วยให้ดินเลนยึดรวมตัวกัน ทำให้ยากต่อการพังทลาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาถึง 8 เดือน ซึ่งจะต้องถูกแก้ไปพร้อมกันด้วยให้น้ำเค็มรุกเข้ามาเหลือ 3 เดือนตามธรรมชาติ โดยวิธีเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำจืด และทำให้การไหลเวียนของพื้นที่ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย กลับคืนมา โดยสามารถกักเก็บน้ำได้ที่สวนสาธารณะศรีนครเขื่อนขันธ์และฟื้นฟูคูคลอง 32 คลองที่ต่อเชื่อมคุ้งบางกะเจ้าทั้งหมด[30]

เขตการปกครองและประชากร แก้

องค์การบริหารส่วนตำบลในบางกะเจ้า ประกอบด้วย[9]

  1. องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง 2,343.75 ไร่
  2. องค์การบริหารส่วนตำบลบางกระสอบ 1,247 ไร่
  3. องค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง 1,938 ไร่
  4. องค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว 1,594.95 ไร่
  5. องค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า 1,809 ไร่
  6. องค์การบริหารส่วนตำบลบางยอ 3,318 ไร่

โครงสร้างอายุและเพศของกรมการปกครองปี 2557 มีประชากรทั้งสิ้น 39,036 คน เป็นชาย 18,745 คน และเป็นหญิง 20,291 คน ประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานช่วงวัย 30-39 ปี คิดเป็น 6,316 คน หรือร้อยละ 16.18[9]

จากข้อมูลปี 2557 ตำบลในบางกะเจ้าที่มีความหนาแน่นมากที่สุดคือ ตำบลบางกอบัว 2,908 คน/ตร.กม. รองมาคือ ตำบลทรงคนอง 2,135 คน/ตร.กม. ความหนาแน่นเฉลี่ยของทั้ง 6 ตำบลเท่ากับ 1,967.8 คน/ตร.กม. ซึ่งมีความหนาแน่นมากกว่าจังหวัดสมุทรปราการที่มีความหนาแน่นเป็นอันดับ 4 ของประเทศ คือ 711 คน/ตร.กม. และจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงจำนวนครัวเรือนระหว่าง พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ตำบลที่มีจำนวนครัวเรือนเพิ่มมากสุดคือ ตำบลทรงคนอง[9]

ชุมชนและอาชีพ แก้

 
ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง

ชุมชนบริเวณบางกะเจ้าเป็นสังคมแบบผสมของกลุ่มอาชีพเกษตรกร รับจ้าง ค้าขาย และ รับราชการ ครัวเรือน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52 อยู่ในบริเวณนี้มากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยที่ร้อยละ 84 เป็น เจ้าของบ้านเอง ร้อยละ 46 เป็นเจ้าของที่ดินด้วยและกรรมสิทธิ์ที่ดินมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 60 ได้กรรมสิทธิ์ โดยเป็นมรดกตกทอด อีกร้อยละ 20 ซื้อที่ดิน ร้อยละ 7 อาศัยที่ดินของญาติพี่น้อง และอื่น ๆ[31] ชาวบ้านอาศัยตามสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ชุมชนไม่หนาแน่น ลักษณะชุมชนเป็นแบบกระจายตามแนวคูคลอง ส่วนชุมชนริมถนนและริมน้ำเป็นแบบทางยาว สภาพความเป็นอยู่สงบไม่เร่งรีบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยมี ผู้นำสังคมคือกำนันและผู้ใหญ่บ้าน และการปกครองท้องถิ่น ในรูปแบบขององค์กรบริหารส่วนตำบล[18] จากข้อมูลแผนพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2557-2560 อาชีพที่มีผู้ประกอบอาชีพมากที่สุดในบางกะเจ้าคือ อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 49.01 รองลงมาได้แก่ อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 25.12[9]

ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน รายได้หลักในยุคแรกคือ ทำสวนส้ม และสวนผสม เพราะทางการงดเว้นการเก็บค่าอากรกับส้ม ส้มที่มีชื่อเสียงคือ "ส้มเทพรส" บางคนเรียกส้มพระประแดง ในยุคต่อมาปลูกมะพร้าวเพื่อทำน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากราคาดีกว่าผลไม้ทั่วไป แต่ต่อมามีผลผลิตน้อยและต้นทุนสูงจึงหันมาทำสวนผสมแบบเดิม โดยผลไม้ที่ปลูกคือ มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงน้ำดอกไม้ ส้ม มะปราง ละมุด มะนาว กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กระท้อน มะไฟ มะเฟือง ชมพู่มะเหมี่ยว พุทรา หมาก พืชสวนครัว เช่น ชะอม และเนื่องจากสภาพ 3 น้ำ ที่เรียกว่า "ลักจืด ลักเค็ม" ผลไม้ที่ปลูกที่นี่จึงหวานแหลมกว่าพื้นที่ทั่วไป[16]

การค้าในปัจจุบันเติบโตมากขึ้น มีตลาดน้ำบางน้ำผึ้งที่มีพ่อค้า แม่ค้านอกพื้นที่มาทำธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อชาวกรุงเทพที่เข้ามารวมถึงปั่นจักรยาน สิ่งที่ตามมาคือ จุดเช่าจักรยานบริเวณท่าเรือที่สำคัญ อีกจุดสำคัญคือ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ มีจุดเช่าจักรยานอยู่ด้านหน้า อีกบริการหนึ่งของชาวบ้าน คือ บ้านพักโฮมสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวอยู่อาศัยกับชาวบ้าน[9]

สถานที่ท่องเที่ยว แก้

 
วัดป่าเกด

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของบางกะเจ้าที่สำคัญคือ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ มีเนื้อที่ 148 ไร่ สร้างเสร็จในปี 2540 เป็นสวนสาธารณะและสถานที่ปั่นจักรยาน[32] และสวนอีกแห่งหนึ่งคือ สวนป่าลำพูและหิ่งห้อย บนพื้นที่ 41 ไร่ มีหิ่งห้อยซึ่งกินน้ำค้างที่ต้นลำพู พบหิ่งห้อย 5 ชนิด 4 สกุล[9]

สำหรับวัดในคุ้งบางกะเจ้า มีอยู่ 12 วัด ได้แก่ วัดบางน้ำผึ้งนอก วัดบางกระสอบ วัดป่าเกด วัดคันลัด วัดจากแดง วัดกองแก้ว วัดบางกะเจ้ากลาง วัดบางกะเจ้านอก วัดราษฎร์รังสรรค์ วัดบางน้ำผึ้งใน วัดบางกอบัว วัดบางขมิ้น วัดเหล่านี้ล้วนมีความเก่าแก่ วัดบางน้ำผึ้งนอกสร้างราว พ.ศ. 2450 วัดบางกระสอบสร้างราว พ.ศ. 2357 วัดป่าเกดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2510 ส่วนวัดกองแก้ว หรือชาวบ้านเรียก วัดแก้วฟ้า เก่าแก่สุด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2242[9] วัดส่วนใหญ่ยังเป็นวัดมอญ ลักษณะเด่นของวัดมอญก็คือ เจดีย์ทรงมอญ ข้อสังเกต คือ มีเสาหงส์ และธงตะขาบ[33]

สถานที่ท่องเที่ยวอื่น เช่น บ้านธูปหอม ตลาดบางน้ำผึ้ง พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย หมู่บ้านมอญทรงคนอง

การคมนาคม แก้

ถนนเพชรหึงษ์เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรเข้าออกพื้นที่บางกะเจ้า มีการค้าขายอยู่ริมทาง ยังมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกอยู่จำนวนมากทำให้การจราจรติดขัดในบางเวลา มีรถประจำทางสาย 1011 วิ่งเส้นทางถนนเพชรหึงษ์จากพระประแดง มายังบางกอบัว[34] ส่วนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ขนถ่ายสินค้าจากฝั่งเมืองข้ามมายังบางกะเจ้า[9] มีท่าเรือที่ข้ามฝั่งมายังบางกะเจ้าได้แก่ ท่าเรือวัดบางนานอก – ท่าเรือวัดบางน้ำผึ้งนอก, ท่าเรือวัดคลองเตยนอก – ท่าเรือบางกะเจ้า (กำนันขาว), ท่าเรือข้างธนาคารกรุงเทพ สำนักงานพระราม 3 – ท่าเรือวัดบางกระเจ้านอก และท่าเรือสาธุประดิษฐ์ – ท่าเรือวัดโปรดเกศเชษฐาราม[35] เมื่อข้ามฝั่งมาเดินทางเชื่อมต่อโดยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เว้นแต่ท่าคลองลัดโพธิ์ที่ข้ามมาจากท่าเรือใต้สะพานภูมิพล เมื่อข้ามฝั่งมามีรถประจำทางสาย 1011 ด้วย[36]

อ้างอิง แก้

  1. Stamboulis, Dave. "10Best Itinerary: Discover Bang Krachao, the Lungs of Bangkok". 10Best. สืบค้นเมื่อ 2016-04-30.
  2. Easey, Reuben (4 March 2017). "The battle to save Bangkok's 'Green Lung'". The Nation. Agence France-Presse. สืบค้นเมื่อ 5 March 2017.
  3. Marshall, Andrew (15 May 2006). "Best of Asia: Best Urban Oasis". Time. สืบค้นเมื่อ 5 March 2017.
  4. Bouchet, Ceil Miller (2013-06-14). "Escaping to 'Bangkok's Green Lung'". The New York Times. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2016-04-30.
  5. "ปั่นสูดโอโซนที่ 'บางกะเจ้า' ผืนป่าสีเขียวใกล้กรุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-05. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  6. ดาหลาย, อนิตา (2015-01-27). "สวนกระแสชาวสวน ณ บางกะเจ้า". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  7. "ข้อมูลตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-08. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  8. สุจิตต์ไขปริศนา ทำไมต้อง "บางกระเจ้า"? มาจาก "นกกระยาง" หรือ "ปอกระเจา"?. 6 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2562. {{cite AV media}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 ฐานข้อมูลชุมชนคุ้มบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พ.ศ. 2558. สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  10. มานิต วัลลิโภดม, "ตามเรือใบขทิงทอง" กำสรวลสมุทรศรีปราชญ์ นิราศนรินทร์ (กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา , 2502), 521–522.
  11. ประวัติวัดกองแก้ว
  12. "ข้อมูล : หมู่บ้านบ้านคลองลัดโพธิ์ หมู่ที่ 10". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-12. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  13. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรงุรตันโกสินทร์ รัชกาลที่ 1, ชำระโดย นฤมล ธีรวัฒน์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2539) , 93.
  14. "คลองขุดในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-22. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  15. "ภูมิรัฐศาสตร์และการปกครอง จังหวัดสมุทรปราการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-15. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  16. 16.0 16.1 "ข้อมูลชุมชนคุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-04-17. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  17. กรมศิลปากร. กรุงเทพฯ 2489-2539. กรุงเทพฯ : มูลนิธิซิเมนต์ไทย, 2539.
  18. 18.0 18.1 "กรณีศึกษาพื้นที่ร่องสวนผลไม้ ตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-04-17. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  19. "ห้องเรียนธรรมชาติ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (บางกะเจ้า)". สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.[ลิงก์เสีย]
  20. "พิทักษ์"บางกะเจ้า"สู่ป่ากลางเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชีย". ไทยโพสต์. 2018-06-03. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  21. ภู่เกิด, จุฬาลักษณ์ (2018-03-03). "คุ้งบางกะเจ้า "ปอดแห่งกรุงเทพฯ" ภาระอันหนักอึ้ง กับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  22. 22.0 22.1 "สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ - pttep". 2018-03-03. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.[ลิงก์เสีย]
  23. https://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=59599&key_word=%BA%D2%A7%A1%C3%D0%E0%A8%E9%D2&owner_dep=&meet_date_dd=&meet_date_mm=&meet_date_yyyy=&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=. {{cite news}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)[ลิงก์เสีย] วันที่มีมติ 14/09/2520 เรื่อง การใช้ที่ดินบริเวณบางกระเจ้า
  24. หาพันธ์นา, ศิริลักษณ์ (24 ต.ค. 2558). "ปอดคนกรุง?"บางกระเจ้า" เมื่อป่าอนุรักษ์กีดกันชาวบ้านกับ"เส้นทางจักรยาน"ต้านรุกซื้อที่". ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  25. "ผนึกพลัง 34 องค์กร ร่วมภารกิจคืน "บางกะเจ้า"สู่พื้นที่สีเขียวคนเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนสู่ความยั่งยืน". กรุงเทพธุรกิจ. 26 กรกฎาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  26. ตันติวิทยาพิทักษ์, วันชัย (2 มิถุนายน 2014). "บ้านจัดสรรบางกระเจ้า". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  27. "ชุมชนตำบลบางน้ำผึ้ง". สืบค้นเมื่อ 2018-10-10.[ลิงก์เสีย]
  28. "ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ โครงการสวนกลางมหานคร". สืบค้นเมื่อ 2018-09-25.
  29. "ประกาศให้ 'บางกะเจ้า' และตำบลอื่นใน อ.พระประแดง เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม". เวิร์กพอยต์นิวส์. 5 มีนาคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-16. สืบค้นเมื่อ 2019-03-07.
  30. Thongthab, Saranya (29 กรกฎาคม 2561). "ฟื้นคุ้งบางกะเจ้าก่อนสาบสูญ". เดอะแบงคอกไซต์. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  31. กนกพร แก้วกังวาน. (2543). แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  32. "เที่ยวสุขใจ รับอากาศดี๊ดี ที่ สมุทรปราการ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-01. สืบค้นเมื่อ 2018-09-28.
  33. "พาเที่ยววัด สัมผัสบ้านมอญ ย้อนดูวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวคุ้งบางกะเจ้า". สนุก.คอม. 24 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 2018-10-10.
  34. ตารางค่าโดยสาร รถโดยสารประจำทาง เก็บถาวร 2020-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานขนส่งจังหวัดสมุทรปราการ
  35. ไตรยศักดา, วรรษมน (14 สิงหาคม 2561). "เที่ยว 5 ชุมชน 'Hidden Gems' เรียนรู้วิถีชีวิตใกล้ตัวง่ายขึ้น แบบไม่ต้องแคร์วันหยุดยาว". เดอะสแตนดาร์ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-25. สืบค้นเมื่อ 2018-10-10. {{cite news}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  36. "รายงานท่าเทียบเรือโดยสารในแม่น้าเจ้าพระยา" (PDF). กรมเจ้าท่า. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-20. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°40′51″N 100°33′59″E / 13.6807°N 100.5663°E / 13.6807; 100.5663