การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต

การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มูแล็งเดอลากาแล็ต (ฝรั่งเศส: Bal du moulin de la Galette หรือ Le moulin de la Galette) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ จิตรกรสมัยอิมเพรสชันนิสต์คนสำคัญชาวฝรั่งเศส ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ออร์แซในกรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส

การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต
ฝรั่งเศส: Bal du moulin de la Galette
ศิลปินปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์
ปีค.ศ. 1876
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
มิติ131 cm × 175 cm (52 นิ้ว × 69 นิ้ว)
สถานที่พิพิธภัณฑ์ออร์แซ, ปารีส

ประวัติ แก้

ภาพ “การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต” เป็นภาพเขียนชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของสมัยอิมเพรสชันนิสม์ที่เขียนในปี ค.ศ. 1876[1] เป็นภาพบรรยากาศบ่ายวันอาทิตย์ที่พบทั่วไปที่มูแล็งเดอลากาแล็ตในเขตมงมาทร์ในปารีส บ่ายวันอาทิตย์ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นแรงงานในปารีสนิยมแต่งตัวกันอย่างสวยงามเพื่อออกไปสังสรรค์ เต้นรำ กินของหวาน (galette) กันจนค่ำ[2]: 121–3 

งานชิ้นนี้ก็เช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นของเรอนัวร์ที่เป็นงานที่เป็นลักษณะของศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ที่เป็นภาพที่จับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่งของชีวิตจริง ลักษณะของภาพเป็นการแสดงความสมบูรณ์ของรูปทรง และความอ่อนหวานของฝีแปรง และการแสดงแสงระยับของยามบ่าย

ระหว่าง ค.ศ. 1879 ถึง ค.ศ. 1894 ภาพนี้เป็นสมบัติของจิตรกรฝรั่งเศส กุสตาฟว์ กายบ็อต (Gustave Caillebotte) เมื่อกายบ็อตเสียชีวิตภาพเขียนก็ตกไปเป็นสมบัติของสาธารณรัฐฝรั่งเศสจากการใช้เป็นค่าภาษีมรดก (Inheritance tax) ระหว่าง ค.ศ. 1896 ถึง ค.ศ. 1929 ภาพเขียนตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลักเซมเบิร์กในปารีส ตั้งแต่ ค.ศ. 1929 ภาพเขียนก็ถูกย้ายไปตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จนกระทั่งย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์ออร์แซในปี ค.ศ. 1986

ภาพขนาดย่อ แก้

เรอนัวร์เขียนภาพเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่า (78 × 114 เซนติเมตร) ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมส่วนบุคคล ภาพนี้เป็นของจอห์น เฮย์ วิทนีย์อยู่หลายปี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 ภรรยาหม้ายของวิทนีย์ก็ขายภาพเขียนในการประมูลที่ซัทเธอร์บีส์ในนครนิวยอร์กเป็นจำนวน 78 ล้านเหรียญสหรัฐแก่ไซโต เรียวเอ (ญี่ปุ่น: 齊藤 了英โรมาจิSaitō Ryōei) ประธานของบริษัทผลิตกระดาษของญี่ปุ่น

ในปีที่ขายภาพเขียนเป็นหนึ่งในสองภาพเขียนที่เป็นภาพเขียนที่มีราคาสูงที่สุดตั้งแต่มีประมูลภาพเขียนกันมา อีกภาพหนึ่งคือ "ภาพเหมือนของนายแพทย์กาเชต์" (Portrait of Dr. Gachet) ซึ่งก็ซื้อโดยไซโต เรียวเอ เช่นกัน ในปี ค.ศ. 1991 เรียวเอ สร้างความโกรธเคืองระดับโลกเมื่อกล่าวว่าจะเผาภาพเขียนทั้งสองภาพพร้อมกับการเผาศพตนเอง แต่หลังจากนั้น ไซโตและบริษัทก็ประสบกับปัญหาทางการเงินซึ่งทำให้ต้องใช้ภาพเขียนค้ำประกันกับธนาคาร ต่อมาธนาคารขายภาพเขียนให้แก่ผู้ซื้อผู้ไม่ประสงค์จะออกนามผ่านซัทเธอร์บีส์[3] แม้ว่าจะไม่ทราบอย่างแน่นอนว่าเจ้าของภาพเขียนในปัจจุบันคือใครแต่สันนิษฐานกันว่าอยู่ในมือของนักสะสมชาวสวิส

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม แก้

ภาพวาดนี้ได้รับการยกย่องโดยปรากฏเป็นภาพหน้าปกของอัลบั้ม A Night on the Town ในปี ค.ศ. 1976 ของนักร้อง-นักแต่งเพลงร็อด สจ๊วต โดยมีภาพของสจ๊วตสวมหมวกฟางปรากฏกลางภาพ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Ingo F. Walther, Masterpieces of Western Art: A History of Art in 900 Individual Studies from the Gothic to the Present Day, Part 1, Centralibros Hispania Edicion y Distribucion, S.A., 1999, ISBN 3822870315
  2. Rivière, Georges (1921). Renoir et Ses Amis. H. Floury.
  3. Kleiner, Carolyn. "Van Gogh's vanishing act." "Mysteries of History". US News & World Report. 24 July 2000. Web. Retrieved 26 March 2012.

บรรณานุกรม แก้

  • Jean Leymarie et Michel Melot (1971). Les Gravures Des Impressionistes, Manet, Pissarro, Renoir, Cézanne, Sisley. (ในภาษาฝรั่งเศส). Paris: Arts et Métiers Graphiques. OCLC 83526482.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้