การอุทธรณ์โดยผล

การอุทธรณ์โดยผล[1] (อังกฤษ: Appeal to consequences, argumentum ad consequentiam, คำละตินแปลว่า การให้เหตุผลโดยผลที่จะเกิดขึ้น) เป็นการให้เหตุผลที่สรุปว่าสมมติฐาน (โดยทั่ว ๆ ไปเป็นความเชื่อ) เป็นจริงหรือไม่จริง อาศัยเพียงว่าประเด็นที่ตั้งขึ้นจะนำไปสู่ผลที่น่าพึงใจหรือไม่น่าพึงใจ การให้เหตุผลเช่นนี้อาศัย การอุทธรณ์โดยอารมณ์ (appeal to emotion) และเป็นเหตุผลวิบัติชนิดหนึ่ง เพราะว่า ความน่าพึงใจของผลไม่ได้ทำให้เหตุผลนั้นเป็นจริง นอกจากนั้นแล้ว เพราะมีการจำแนกว่า ผลนั้นน่าพึงใจหรือไม่น่าพึงใจ การให้เหตุผลเช่นนี้จะมีมุมมองที่เป็นอัตวิสัยโดยธรรมชาติ คือเป็นจริงสำหรับบางบุคคลเท่านั้น (เทียบกับเหตุผลที่ควรจะเป็นปรวิสัย คือเป็นความจริงกับทุก ๆ คน)

รูปแบบทั่วไป แก้ไข

การให้เหตุผลที่อาศัยการอุทธรณ์โดยผลโดยทั่วไปจะมีสองรูปแบบ[2]

รูปแบบเชิงบวก แก้ไข

ถ้า "ก" จริง, "ข" จะเกิดขึ้น
"ข" น่าพึงใจ
ดังนั้น "ก" ต้องเป็นจริง

ดังนั้น จึงมีลักษณะคล้ายกับเหตุผลวิบัติโดย wishful thinking (ความคิดประกอบด้วยความหวัง)

ตัวอย่าง แก้ไข

  • พายน่าจะเป็นจำนวนตรรกยะ เพราะว่าการเป็นจำนวนตรรกยะทำให้ค่านั้นมีความงาม
  • อสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะมีค่าเพิ่มขี้นเรื่อย ๆ (เพราะ) เจ้าของทรัพย์จะได้ความพอใจในกำไร
  • มนุษย์จะเดินทางได้เร็วกว่าแสง (เพราะ) การเดินทางเร็วกว่าแสงจะมีประโยชน์มากต่อการเที่ยวไปในอวกาศ
  • ชีวิตหลังการตายต้องมี (เพราะ) ข้าพเจ้าต้องการจะเป็นไปตลอดชั่วกาลนาน

รูปแบบเชิงลบ แก้ไข

ถ้า "ก" จริง, "ข" จะเกิดขึ้น
"ข" ไม่น่าพึงใจ
ดังนั้น "ก" ต้องไม่จริง

ตัวอย่าง แก้ไข

  • เจตจำนงเสรีต้องมี (เพราะ) ถ้าไม่มี เราทั้งหมดก็จะเป็นเพียงเครื่องกล
  • ทฤษฎีวิวัฒนาการต้องไม่เป็นจริง (เพราะ) ถ้าเป็นจริงแล้ว มนุษย์ก็จะไม่มีอะไรดีกว่าสัตว์เดียรัจฉาน และต้องมีบรรพบุรุษเป็นสัตว์เดียรัจฉาน
  • "ถ้าชายหกคนนี้ชนะคดีนี้ ก็จะหมายความว่าพวกตำรวจมีความผิดฐานเบิกความเท็จ ว่าพวกตำรวจมีความผิดโดยการซ้อมและการข่มขู่ ว่าคำสารภาพนั้นกุขึ้นและไม่ได้มีการรับเข้าในหลักฐานอย่างถูกต้องมีผลเป็นการพิพากษาลงโทษที่ผิดพลาด นี้เป็นภาพพจน์ที่น่ารังเกียจจนกระทั่งว่า ทุกคนที่เป็นคนมีเหตุมีผลในแผ่นดินจะต้องกล่าวว่า เป็นเรื่องไม่ถูกแน่ที่จะให้การกระทำเช่นนี้ดำเนินต่อไปอีก" เป็นคำตัดสินของศาลอังกฤษว่าผู้ต้องหามีความผิดในคดี Birmingham Six ซึ่งภายหลังต่อมาชายหกคนก็ได้รับการตัดสินว่าบริสุทธิ์ (และสิ่งไม่ดีที่ศาลพูดถึงนั้นพิสูจน์ว่าเป็นจริงทุกอย่าง) และรัฐบาลต้องเสียค่าเสียหายให้กับผู้ต้องหา
  • พระเจ้าต้องมีอยู่ (เพราะ) ถ้าไม่มี คนทั้งหลายจะไม่มีเหตุผลที่จะเป็นคนดีและชีวิตก็จะไม่มีความหมายอะไร
  • ศีลธรรมที่เป็นปรวิสัยต้องมี (เพราะ) ถ้าไม่มี ก็จะต้องพิจารณาว่า การกระทำที่โหดเหี้ยมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ในนิติศาสตร์ แก้ไข

ในนิติศาสตร์ การให้เหตุผลโดยความไม่สะดวกหรือที่เรียกว่า argumentum ab inconvenienti เป็นการอุทธรณ์โดยผลที่ไม่มีความวิบัติ (คือไม่มีเหตุผลวิบัติ) เพราะว่า การให้เหตุผลเช่นนี้ต้องการที่จะแสดงว่า การกระทำที่เสนอนั้นจะทำให้เกิดความยากลำบากเกินเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การให้เหตุผลเช่นนี้เพื่อค้านกฎหมายที่จะบังคับผู้ให้กู้เงินแบบมีการจำนองทรัพย์สิน ต้องตรวจสอบว่าผู้ที่ต้องการยืมเงินนั้นมีสิทธิ์ต่อทรัพย์สินนั้นจริง ๆ โดยสอบถามกับสำนักงานศาลทุก ๆ สำนักงานทั่วประเทศ

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้ไข

  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ appeal ว่า "การอุทธรณ์"
  2. "FallacyFiles.org - Appeal to Consequences".